xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550

เผยแพร่:   โดย: พล.อ.สายหยุด เกิดผล

ผมได้รับเชิญจากคุณณรงค์ โชควัฒนา รองประธานคนที่ 1 รักษาการประธานคณะกรรมาธิการมีส่วนร่วมของประชาชน ร่วมกับท่านผู้มีเกียรติ ดร.วุฒิสาย ตันไชย, ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ และคุณณรงค์ หลังจากที่ ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน ได้เปิดการเสวนาและแสดงสุนทรพจน์พิเศษ และนาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษแล้ว ที่มหาวิทยาลัยหอการค้า เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา 13.30-17.00 น. เนื่องจากผมต้องเดินทางไปต่างประเทศในคืนนั้น จึงขอพูดเป็นคนแรก และด้วยเวลาอันจำกัดจึงไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้มากตามที่ตั้งใจไว้ จึงขอนำเสนอท่านด้วยบทความนี้

บทเรียนที่ 1 ผมขอย้อนกลับไปพูดถึงเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เมื่อ 19 มิถุนายน 2549 ด้วยการรัฐประหารนั้น จุดประสงค์ที่สำคัญที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนนั้นก็คือ 1. เพื่อลงโทษและยึดทรัพย์นักการเมืองชั้นสูง ที่สงสัยว่ากระทำความผิด มีการคอร์รัปชัน และ 2. เพื่อต้องการรัฐบาลที่ดีกว่าที่เป็นมาแล้ว ด้วยการดำเนินการตามขบวนการของระบอบประชาธิปไตย คือการเลือกตั้ง สำหรับข้อ 1 นั้น ยังคงอยู่ในขบวนการยุติธรรมอยู่ ยังไม่เห็นผล คือ ผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม ถ้าดูตัวอย่างจากการรัฐประหารเมื่อปี 2535 ที่เรียกว่า รสช.นั้น แม้ว่าจะใช้ระบบยึดทรัพย์ผู้ที่สงสัยไว้ก่อน แล้วให้มาพิสูจน์คืนภายหลัง เมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้ว รัฐบาลใหม่ก็สามารถออกกฎหมายคืนทรัพย์เหล่านั้นให้แก่ผู้ที่ถูกสงสัยได้ ครั้งนี้สมัย คมช.ก็เชื่อว่าคงจะยึดไม่ได้เช่นเดียวกัน ส่วนข้อที่ 2 นั้น ผลก็ปรากฏออกมาแล้วว่าคงได้รัฐบาลตัวแทนของรัฐบาลเก่านั้นเอง ประชาชนจึงไม่มั่นใจว่าจะสามารถบริหารประเทศ แก้ปัญหาต่างๆ ที่ยุ่งยากที่เป็นอยู่ขณะนี้ได้

สรุปแล้วการแก้ปัญหาโดยการรัฐประหารเพื่อจุดประสงค์ 2 ข้อนั้น นับว่าล้มเหลว พร้อมกับทำให้การเมืองมายุ่งกับการทหาร และการทหารไปยุ่งกับการเมืองมากขึ้น เป็นผลทำให้ทั้งการเมืองและการทหารอ่อนแอลง เพราะพรรคการเมืองใช้หลักอุปถัมภ์ ส่วนทหารนั้นใช้หลักคุณธรรม

บทเรียนที่ 2 การเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปหรือฉบับประชาชน ซึ่งประชาชนเป็นคนเขียน โดยรัฐสภามอบอำนาจให้ โดยไม่ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญเก่า แล้วรัฐสภาผสมโหวตรับรัฐธรรมนูญที่ประชาชนร่างให้ จึงได้รับการสรรเสริญทั่วโลกว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ทำได้อย่างไร โดยไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นด้วย จึงน่าจะรักษารัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ไว้ เป็นแต่การแก้ไขเพิ่มเติม ก็จะทำให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่ถาวร มีแต่การแก้ไขเพิ่มเติมให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง ประธานร่างรัฐธรรมนูญ น.ต.ประสงค์ ได้พลาดโอกาสอันสำคัญนี้ไปอย่างน่าเสียดาย การกระทำด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญเก่า แล้วร่างขึ้นใหม่ภายใต้อำนาจของคณะรัฐประหาร เป็นการกระทำที่ซ้ำซากมานับเป็นครั้งที่ 15 แล้ว ซึ่งก็จะคงอยู่ได้ไม่นาน ชะตากรรมก็คงจะเป็นเช่นฉบับที่แล้วๆ มา สิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากรัฐธรรมนูญฉบับ 50 ก็คือ การตรวจสอบที่เข้มแข็ง ไม่ใช่ทำให้รัฐบาลอ่อนแอลง การตรวจสอบที่ได้ผลจากบทเรียนที่แล้วมา คือการตรวจสอบจากภาคเอกชนที่เรียกว่า การเมืองภาคพลเมือง ซึ่งจะได้เสนอแนะต่อไป

บทเรียนที่ 3
การจัดการเลือกตั้ง เมื่อ 23 ธันวาคม 2550 โดย กกต.

แม้ว่าองค์กรเอกชน เช่น พีเน็ต องค์กรกลาง โดยผมและคณะกรรมการจะได้ไปแสดงความยินดี และเสนอตัวเองที่จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบการเลือกตั้ง ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง ตามตัวอย่างมาตรฐานของสหประชาชาติ ที่เข้าไปจัดการเลือกตั้งในประเทศต่างๆ ที่จะให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม (Free & Fair) นั้น จะต้องประกอบด้วย 1. กกต.ที่เป็นกลาง 2. องค์กรเอกชนที่เป็นอิสระเข้าร่วมตรวจสอบ และ 3. ตัวแทนพรรคการเมืองไปสังเกตการณ์ เพราะถือว่า กกต.เป็นของประชาชน ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งในฐานะตัวแทนของประชาชน ต้องเป็นกลางระหว่างพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลกับพรรคการเมืองฝ่ายค้าน กกต.ต้องไม่ใช่เครื่องมือของรัฐบาล แต่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล (ที่มาจากพรรคการเมือง) ด้วย

แต่ปรากฏว่า กกต.กลับจัดการเลือกตั้งเอียงไปในทางเดิมที่กระทรวงมหาดไทยเคยกระทำมาแล้ว และไม่ได้ผล เช่น การนับคะแนนหลายประเทศ รวมทั้งสหประชาชาติให้นำมานับที่ศูนย์นับคะแนน เพื่อป้องกันการซื้อเสียงและอิทธิพลอื่นๆ แต่ กกต.ให้กลับมานับที่หน่วยตามเดิม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทราบกันอยู่ทั่วไปว่าเป็นหัวคะแนนให้แก่พรรคการเมือง ไม่ควรให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ในสมัยก่อนทางพรรคการเมืองถึงกับขอร้องให้ทางราชการเรียกประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่จังหวัด (ไม่ให้อยู่ในพื้นที่) หรือนำไปทัศนาจรที่อื่น กกต.ชุดนี้กลับแต่งตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ร่วมกับตำรวจแต่งเครื่องแบบซึ่งมาตรฐานสากล จึงให้ตำรวจและเจ้าหน้าที่ปกครองที่มารักษาความสงบเรียบร้อยไปประจำอยู่ในจุดที่ห่างจากหน่วยเลือกตั้งตามกฎหมายกำหนด จะเข้ามาในหน่วยเลือกตั้งเมื่อได้รับการขอร้องจากประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้ภายในบริเวณหน่วยเลือกตั้งปลอดอำนาจข่มขู่ใดๆ ทั้งสิ้น ให้ประชาชนผู้เข้าไปออกเสียงมีเสรีเต็มที่

ไม่มีองค์กรอิสระเข้าไปตรวจสอบ ไม่มีตัวแทนนักการเมืองเข้าไปสังเกตการณ์อย่างเป็นทางการ คงมีแต่การไปอย่างไม่เป็นทางการ และองค์กรเอกชนที่ กกต.จ้างไปทำการตรวจสอบ ซึ่งจะไม่ได้ผลตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ทราบว่าทุกครั้ง กกต.จะใช้เงินจ้างประชาชนไปตรวจสอบเป็นเงินเกือบ 100 ล้าน บางคนก็ไม่เต็มใจจะไป บางคนถูกจับตัวไปเมื่อเช้านี้เอง เพราะคนที่กำหนดไว้เกิดไปไม่ได้

ทั้งนี้เข้าใจว่า กกต.ทั้ง 5 ท่าน เป็นคนดีและตั้งใจจะทำให้ดี แต่เจ้าหน้าที่ประจำของ กกต.ยังเป็นคนเดิม ทั้งที่ส่วนกลาง และประธาน กกต.ระดับจังหวัดก็ยังเป็นคนเดิม คงจะเสนอแนะท่านให้ทำอย่างเดิม ให้ตรงกับระเบียบข้อบังคับเดิมของ กกต.เป็นสำคัญ ทั้งๆ ที่ท่านมีอำนาจแก้ไขได้ ส่วนจะได้ผลอย่างไรนั้น ไม่คำนึงถึง ผลที่ออกมาจึงปรากฏว่า ผู้ที่มีอำนาจเงินและอิทธิพลในท้องถิ่น จะได้รับเลือกมาเช่นเคย จากประสบการณ์ของพีเน็ต ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ถ้าจังหวัดใด เขตใด มีองค์กรเอกชนตรวจสอบที่เข้มแข็งแล้ว เงินและอิทธิพลจะไม่สามารถล้มล้างความนิยมของประชาชนด้วยความจริงใจได้เสมอไป เพราะผู้สมัครกลัวการตรวจสอบของประชาชนและสื่อมากกว่ากลัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่องค์กรตรวจสอบต้องเป็นองค์กรใหญ่ที่มีอุดมการณ์และเสียสละ มีประสบการณ์อย่างแท้จริง

ผมเสียใจที่ความหวังดีของพีเน็ต กลับไม่ได้รับความร่วมมือ กลับนำเรื่องเล็กที่ล่วงมาแล้วหลายปี โดยอาสาสมัครของพีเน็ตที่จังหวัดลำปาง ได้ส่งใบเสร็จทานอาหารกลางวันไม่กี่บาท และมีรายการเบียร์ ดูเหมือนจะหนึ่งขวดปรากฏอยู่ โดยที่ทางเจ้าหน้าที่ตรวจเงินที่เป็นอิสระในท้องถิ่นได้ตรวจสอบมาแล้ว เข้าใจว่าคงไม่ทันเห็นรายการนี้ เมื่อส่งมาให้พีเน็ตส่วนกลางว่าตรวจสอบมาเรียบร้อยแล้ว ก็ได้นำส่ง กกต.ไป กกต.ก็รับไว้โดยไม่มีการทักท้วงใดๆ ก็ถือว่าเป็นการส่งหลักฐานเรียบร้อยและปิดบัญชีไปแล้ว กกต.ได้นำมาเป็นข้ออ้าง กล่าวหาพีเน็ตเป็นเรื่องใหญ่ ทางพีเน็ตจึงขอให้ กกต.ตั้งกรรมการร่วมกันตรวจสอบให้หมดทุกหน่วย รวมทั้ง กกต.ด้วยในทางปฏิบัติ ผมเชื่อเหลือเกินว่า ในส่วนกลางเมื่อทานอาหารกลางวันกัน คงมีการสั่งเหล้า สั่งเบียร์แน่ แต่จะมีหลักฐานหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

บทเรียนที่ 4 ความสำคัญของการให้การศึกษากับผู้มีสิทธิออกเสียง (Voter Education) ข้อบกพร่องที่สำคัญของประเทศที่เพิ่งมีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อเป็นประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่ “การอบรมเรื่องประชาธิปไตย” เช่น ทางรัฐบาลมักจะอ้างว่าประชาชนยังไม่รู้จัก “ประชาธิปไตย” ดีพอ จึงต้องใช้เวลาอบรมอีกนาน ซึ่งเสียงบประมาณไปมากแล้ว และดูเหมือนจะยังเรียกร้องให้มีการอบรมเรื่อง “การพัฒนาประชาธิปไตย” อยู่อีก ผู้อบรมก็คงเป็นคนเดิม เรื่องที่อบรมก็คงอย่างเดิม คือเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยร่วมกับ กกต.งบประมาณก็คงจะหมดไปอย่างที่ทราบแล้ว ผลที่ได้รับก็คงเห็นอยู่ว่ายังไม่ได้ผลเพียงพอ เรื่องที่ประชาชนขาด ไม่ใช่เรื่องประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่องการให้การศึกษาแก่ผู้มีสิทธิออกเสียงครับ! ซึ่งผมจะได้กล่าวต่อไป โปรดอย่าใช้เงินงบประมาณไปในการ “อบรมประชาธิปไตย” แล้วไปจัดตั้งเป็นองค์กรเอกชนของ กกต.ขึ้นแข่งกับองค์กรเอกชนแท้ๆ เลย ไม่ได้ผลหรอบครับ ทางรัฐบาลและ กกต.ได้เคยทำมาแล้ว เมื่อไม่มีเงินให้องค์กรเหล่านั้น ก็ได้สลายหัวตาม กกต.ไปด้วย

แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป!

จากประสบการณ์ของเราเอง และของต่างประเทศที่สามารถปฏิรูปการเมืองได้นั้น เพราะองค์กรเอกชนของเขาเข้มแข็งครับ! ตัวอย่างเร็วๆ นี้ก็คือ ประเทศเกาหลี เขาสามารถกวาดนักการเมืองน้ำเน่า (นักการพนัน ค้าของเถื่อน ได้เงินมาจากการทุจริตอื่นๆ) เขากวาดตกเวทีไปเกือบหมด จึงสามารถให้โอกาสนักการเมืองรุ่นใหม่ไฟแรงมาแทนได้ การเมืองของเขาจึงเริ่มใสสะอาด การคอร์รัปชันลดน้อยลง เศรษฐกิจและสังคมจึงมั่นคง นำประเทศรุดหน้าไปได้

ของเราเองจากการไปร่วมสัมมนา ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน หรือการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และ ฯลฯ ในที่สุดการสัมมนานั้นก็มาลงที่องค์กรเอกชนต้องเข้มแข็ง ที่เอารัฐมนตรีเข้าคุกได้ก็เพราะองค์กรเอกชน ที่ฟ้องการเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ ก็เพราะองค์กรเอกชน

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ทำไมจึงไม่ช่วยกันทำองค์กรเอกชนให้เข้มแข็งละครับ!

ผมได้ลองทำมาแล้วครับ ภายใต้กรอบของกฎหมายที่มีอยู่ คือ กฎหมายที่ว่าด้วยการตั้งสมาคม มูลนิธิ ฯลฯ รักษาการโดยกระทรวงวัฒนธรรม โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นนายทะเบียน ถ้าจัดตั้งตามกฎหมายนี้ จะต้องยืนยันด้วยว่าจะไม่เกี่ยวข้องทางการเมือง และก็ไม่มีคำจำกัดความว่า การเมืองคืออะไร การเมืองแบ่งเป็น 2 ภาค คือ ภาคของนักการเมือง พรรคการเมือง (แบ่งเป็นฝักฝ่ายเพื่อเข้าไปมีอำนาจปกครองบ้านเมือง) กับภาคของพลเมือง (แบบไม่เป็นฝักฝ่ายทำหน้าที่ตรวจสอบนักการเมืองภาคนักการเมือง) ถึงเวลาแล้วครับ ที่จะต้องมีกฎหมายที่ให้คำจำกัดความนี้ไว้ให้ชัดเจน จะได้เข้าใจว่าที่ไม่ให้ยุ่งกับการเมืองนั้นหมายถึง การเมืองภาคนักการเมือง พรรคการเมืองครับ สำหรับการเมืองภาคพลเมือง การเมืองแบบเป็นกลาง ทำการตรวจสอบนักการเมืองนั้น ประชาชนทุกคนร่วมกันทำหน้าที่ และต้องเข้าไปเกี่ยวข้องได้

เพราะความไม่กระจ่างในเรื่องคำจำกัดความคำว่า การเมืองนี้ เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้การเมืองภาคพลเมืองไม่เข้มแข็ง ผมเคยใฝ่ฝันและได้ลงมือทำมาแล้วแต่ไม่สำเร็จ แนวทางในการทำให้องค์กรพีเน็ตเข้มแข็งนั้นผมได้ให้คุณณรงค์ โชควัฒนา ไว้แล้ว ที่ผมฝันไว้ก็คือ จะขอร้องท่านผู้อาวุโสที่เป็นกลางทางการเมืองเป็นที่ประจักษ์ในหน่วยเลือกตั้งของท่าน จะขออาศัยชื่อท่านให้เป็นตัวแทนของเครือข่ายพีเน็ต ประจำหน่วยเลือกตั้งที่ท่านอยู่ เป็นที่เปิดเผย ผู้ที่จะกระทำความผิดก็จะละอายไม่กล้าทำ เวลาที่จะมีการเลือกตั้งก็จะมีอาสาสมัครไปประจำหน่วยเลือกตั้งนั้นๆ ทั่วประเทศ มี 84,000 หน่วย ก็จะมีพีเน็ตอาวุโสอยู่ประจำ 84,000 คน มีอาสาสมัครอีกหน่วยละ 1 คน ก็จะมีอาสาสมัครประจำอีก 84,000 คน ถ้า 2 คน ก็จะเป็น 168,000 คน รวมทั้งพีเน็ตอาวุโสอีก 84,000 คน ก็จะเป็นจำนวนถึง 252,000 คน นับว่าจำนวนไม่น้อย สามารถทำวารสารส่งไปให้ทราบข่าวคราวการเลือกตั้ง มีรายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ของเราเอง จะทำให้อาสาสมัครของเรารู้เรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นไปของบ้านเมือง และการเลือกตั้งเป็นอย่างดี ต้องการให้รู้ดีและรู้รวดเร็วกว่าทางการ อาสาสมัครก็จะเป็นที่พึ่งแก่ผู้มีสิทธิออกเสียที่หน่วยของตนได้ ต่อไปเพื่อให้เครือข่ายของเราเหนียวแน่น ก็อาจจะขอให้ทางธุรกิจจากผู้สนับสนุนที่อยู่ทางกรุงเทพฯ ให้อาสาสมัครของเรามีรายได้จากการเป็นตัวแทนหาประกัน ตัวแทนขายปุ๋ย หรือขายสินค้าอื่นๆ ที่ต้องการให้ถึงมือราษฎรโดยตรง จะทำให้ซื้อได้ในราคายุติธรรมกว่าการซื้อผ่านคนกลางหลายชั้น

นี่เป็นความฝันของผม และไม่ได้ฝันเฉยๆ ได้เริ่มลงมือทำแล้ว ตัวโครงการผมมอบให้กับคุณณรงค์ โชควัฒนา ไปแล้ว ก็อยากจะขอร้องให้คุณณรงค์ ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงคนหนึ่ง อยากขอให้ท่านเป็นเจ้าของโครงการนี้เสียเอง เพราะท่านเป็นผู้ที่สนใจต่อบ้านเมือง บ้านเมืองเราขาดองค์กรเอกชน ทำหน้าที่ตรวจสอบ (การเมืองภาคพลเมือง) ที่เข้มแข็งครับ!

ไม่ใช่ว่า ถ้าจะช่วยบ้านเมืองต้องไปสมัครเป็น ส.ส. ส.ว.อย่างเดียว ที่เราขาดคือ ส.ส. ส.ว.ที่มีคุณภาพ จะเกิดขึ้นได้ก็โดยการมีองค์กรเอกชนที่เข้มแข็งไปตรวจสอบ ทั้งก่อนเลือกตั้ง ระหว่างเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้งแล้วเท่านั้น

การมาเป็น ส.ส. ส.ว.ไม่ใช่อาชีพ

ไหนๆ ก็พูดถึง ส.ส. ส.ว.แล้ว ผมอยากทำความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกันว่า ส.ส.หรือ ส.ว.ก็เป็นผู้อาสาสมัครเข้ามาทำงานทางการเมืองภาคนักการเมือง (เข้ามามีอำนาจ) เช่นเดียวกับผู้ที่อาสาสมัครมาทำงานทางด้านการเมืองของพลเมือง (ตรวจสอบ) จะต้องเป็นผู้ที่มีความสำเร็จในอาชีพแล้วจึงอาสาสมัครเข้ามา “การเมือง”ไม่ใช่อาชีพครับ ถ้าเป็นอาชีพจะต้องเป็นงานที่ต้องลงทุนและต้องได้กำไร ในแบบฟอร์มของทางราชการขอให้ยกเลิกช่อง “อาชีพนักการเมือง” ได้แล้ว เมื่อเป็นงานอาสาสมัคร เงินเดือนที่ได้รับน่าจะเรียกว่า “เงินเกียรติยศ” ส.ส. ส.ว.จะมาอ้างว่าเงินเดือนไม่พอ ขอเพิ่มเงินเดือนอีกเท่าไรก็ไม่พอครับ เพราะท่านอ้างว่าต้องบริจาคโน่น นี่มากมาย ไม่ถูกต้องครับ ถ้าท่านเดือดร้อนก็ไม่ควรอาสาสมัครมาทำงานด้านการเมือง ควรไปทำธุรกิจของท่านให้สำเร็จก่อน จึงมาเสียสละช่วยเหลือบ้านเมือง เช่นเดียวกับอาสาสมัครที่ทำงานการเมืองภาคพลเมือง ไม่ใช่จะมาหาเงินจากการมาเป็นนักการเมือง ทั้งที่เป็น ส.ส. ส.ว.หรือไม่ได้เป็นก็ตาม ก็จะมาในตำแหน่งที่ปรึกษาหรืออื่นๆ เพื่อมาหาเงิน ขอเสียทีเถอะ ถ้าท่านรักชาติบ้านเมืองจริง

ประชาธิปไตยจะถึงมือประชาชนต้องช่วยกันผลักดัน

ขณะนี้ประชาธิปไตยของไทยเรากำลังตกอยู่ในมือพ่อค้า “เป็นธนาธิปไตย” ไม่ใช่ประชาธิปไตย หลังจากการเมืองภาคพลเมือง ได้ช่วยกันผลักดันจากประชาธิปไตยที่อยู่ในมือทหารและข้าราชการมาเป็นเวลานานหลาย 10 ปี หลังจากพระมหากษัตริย์ (นักรบ) ได้สละพระราชอำนาจนั้นเพื่อมุ่งหมายจะให้อำนาจอธิปไตยนี้ตกไปอยู่ในมือของประชาชน ไม่ใช่ตกไปอยู่ในมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นั่นเป็นพระปณิธานของพระมหากษัตริย์ แต่ตามธรรมชาติอำนาจอธิปไตยจะถึงมือประชาชนได้ ก็จะผ่านขบวนการที่ตกอยู่ในมือของข้าราชการก่อน แล้วก็จะมาตกอยู่ในมือพ่อค้า หลังจากนั้นจึงจะถึงมือ “ประชาชน”

ดังนั้น ประชาชนที่ทำงานการเมืองภาคพลเมือง จะต้องรวมตัวกันให้เข้มแข็ง จึงจะสามารถผลักดันประชาธิปไตยไปสู่มือประชาชนได้ เพราะอำนาจเงินของพ่อค้ามีอิทธิพลมาก น่ากลัวกว่าอำนาจของอมาตยาธิปไตย ถ้าสามารถสร้างองค์กรเอกชนภาคพลเมืองของพลเมืองเข้มแข็งตามที่กล่าวมาแล้ว จึงจะสามารถผลักดันได้สำเร็จ

สภาองค์กรการเมืองภาคพลเมืองไม่ใช่สภาประชาชน

ผมทราบว่าในการสัมมนาวันนั้น จะมีผู้เสนอให้ตั้งสภาประชาชน หรือสมัครประชาชนขึ้น ผมไม่เห็นด้วย เพราะชื่อนี้คอมมิวนิสต์ได้ใช้มาแล้ว เป็นสภาประชาชนของคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่สภาประชาชนของประชาธิปไตย ถ้าจะตั้งขอให้ตั้ง “สภาองค์กรการเมืองภาคพลเมือง” ขึ้น เพื่อประสานงานการเมืองภาคพลเมืองที่ทำอยู่ ทั้งในด้านปราบคอร์รัปชัน การรักษาสิ่งแวดล้อม และการรักษาสิทธิมนุษยชน และ ฯลฯ ถ้าทำได้ก็จะยิ่งทำให้องค์กรการเมืองภาคพลเมืองแข็งขึ้น โดยมีสมาชิกที่ทำงานด้านการเมืองภาคพลเมืองเป็นสมาชิก มีคณะกรรมาธิการคณะต่างๆ ในการติดตามงานด้านปราบปรามคอร์รัปชัน สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และอื่นๆ นอกจากการตรวจสอบการเลือกตั้งและติดตามการทำงานของนักการเมือง ว่าใครทำงานด้านไหน มาประชุมกี่ครั้ง มีการอภิปรายและมีผลงานอะไรบ้าง จะได้ชี้แจงให้สาธารณชนทราบ และนำไปให้การศึกษาแก่ผุ้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งคราวต่อไป

การให้การศึกษาแก่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ด้วยการเปิดสอนคณะการเมืองภาคพลเมือง

จุดอ่อนของประชาธิปไตยที่อาศัยการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการก้าวสู่อำนาจในประเทศที่กำลังพัฒนาประชาธิปไตยนั้น ก็คือ “การให้การศึกษาแก่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง” (Voter Education) ไม่ใช่นักการเมืองมาซื้อเสียง ขู่เข็ญ บังคับ หรือด้วยอุบายต่างๆ การให้การศึกษาผู้มีสิทธิออกเสียงนี้ ควรจะทำให้องค์กรเอกชนที่เป็นกลางทางการเมือง และก็จะต้องทำอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ กกต.และกระทรวงมหาดไทยทำ จะไม่ได้ผลเพราะ กกต.และกระทรวงมหาดไทยอยู่ใต้อำนาจนักการเมืองที่มาเป็นรัฐบาล วิธีที่ดีที่สุดในสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมที่เชื่อถือ “สถาบันการศึกษา ครู อาจารย์ ดังนั้น จึงขอให้มหาวิทยาลัยราชภัฏขึ้นไปทั่วประเทศ เปิดคณะสอนการเมืองภาคพลเมือง เป็นอีกคณะหนึ่งแยกจากคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งสอนเฉพาะการเมืองภาคนักการเมือง

ทั้งหมดนี้ ผมขอฝากไว้กับคุณณรงค์ โชควัฒนา ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจ และเป็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน และเข้าใจต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นที่ถูกต้องคืออย่างไร คงไม่ใช่แบบที่ กกต.ทำอยู่ คือจ้างประชาชนมาตรวจสอบ ไม่ได้ผลหรอกครับ เสียงบประมาณเปล่าๆ ครั้งละ 90-100 ล้าน ไม่ใช่น้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น