xs
xsm
sm
md
lg

ลั่นยุบพรรคต้องยุบสภา "หมัก"เดินหน้าแก้รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"หมัก"ยันเดินหน้าแก้รธน. เมินเสียงวิจารณ์รายวัน อ้างซ้ำซาก รธน.50 ทำการเมืองอ่อนแอ เชื่อถ้าไม่มีนายกฯ ชื่อ"ทักษิณ"รธน.40 ไม่ถูกฉีก เย้ย ปชป.ผู้บริหารต้องสวมบท"ยาจก" แต่นายกฯรวย หัวดี กลับถูกกระชากลงจากเก้าอี้ ยอมรับคิดแก้ รธน. เพราะถ้ามีการยุบพรรคก็ต้องยุบสภา เลือกตั้งใหม่จึงต้องรีบแก้ "จาตุรนต์" ย้ำหากแก้รธน.ต้องมีส.ส.ร. 3 ด้านปชป.อัด"หมัก" พูดผ่านทีวีสะท้อนไม่ใช่ผู้นำตัวจริง เตือนแก้เพื่อตัวเองเหมือนเอาน้ำมันราดกองไฟ ขณะที่พันธมิตรฯ แจงเปิดเวที 25 เม.ย.ยังไม่ใช่ชุมนุมใหญ่ แต่พร้อมตลอดเวลาถ้ารัฐบาลสร้างเงื่อนไข

เมื่อเช้าวานนี้ (20 เม.ย.) นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวในรายการ "สนทนาประสาสมัคร" ถึงสารคดีเรื่อง"รัฐธรรมนูญกินไม่ได้ ทาไม่ได้ แต่เป็นหัวใจของการปกครอง เพราะมีคนมาผูกจึงต้องมีการแก้" ว่า มีคอลัมนิสต์ บางคนตั้งใจเขียนตำหนิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในทำนองว่า รัฐบาลไม่ทำอะไรจะตั้งหน้าตั้งตาแก้แต่รัฐธรรมนูญ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น สมาชิกสภาเป็นคนดำเนินการ ไม่ใช่ฝ่ายบริหาร เพราะฝ่ายบริหารเอื้อด้วยการนัดหัวหน้าพรรคอีก 5 พรรคร่วมรัฐบาลมาคุยให้มีความลงตัวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สาเหตุของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการปฏิวัติเมื่อ 19 ก.ย.49 ที่ฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แล้วร่างขึ้นใหม่ แต่นักวิชาการ คนเขียนคอลัมน์หนังสือพิมพ์ กลับไม่ว่าอะไร

"ตอนนั้นไปมุดหัวอยู่ที่ไหน ไม่มาทักมาท้วงมาแสดงความคิดเห็นเลย ปล่อยให้เขาทำตามใจชอบ แต่พอจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มาอ้างว่าลงพระปรมาภิไธย แล้วคนที่พูดไม่คิดหรือว่าที่ฉีกไปนั่นก็ลงพระปรมาภิไธยเหมือนกัน ทำไมฉีกได้"

นายสมัคร กล่าวว่า มีคนบอกว่ารัฐธรรมนูญ2540 ทำให้รัฐบาลแข็งแรงเกินไป ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาต้องล้มลุกคลุกคลานมาเกือบ 70 ปี สุดท้ายก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประโยชน์ทำให้รัฐบาลแข็งแรง เพราะถ้ารัฐบาลไม่แข็งแรง บ้านเมืองก็จะแย่

พร้อมกันนี้ นายสมัคร ยังได้ยกตัวอย่างจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีรัฐบาลที่แข็งแรง ทำให้ผู้นำครองอำนาจหลายปี เช่น นายมหาธี ได้เป็นนายกฯ 22 ปี นายฮุนเซน ที่เป็นนายกฯ 23 ปี นายลีกวนยู อดีตนายกฯ สิงคโปร์ 31 ปี นายซูฮาโต อดีตนายกฯ อินโดนีเซีย 32 ปี

นายสมัคร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 40 ได้ใช้ในปี 44-48 เพราะรัฐธรรมนูญดีเกินไป ที่ทำให้รัฐบาลแข็งแรง จะอภิปรายนายกรัฐมนตรี ต้องใช้เสียง 1 ใน 4 แต่บังเอิญเลือกตั้ง 500 ที่นั่ง รัฐบาลได้ 377 ที่นั่ง ฝ่ายค้านได้ 123 ที่นั่ง ขาดไป 2 ที่นั่ง ก็อภิปรายรัฐมนตรีไม่ได้

" ถ้าหากว่าวันนั้นฝ่ายค้านได้ 130 ก็ไม่มีเรื่องหรอก เขาก็มีรูหายใจ เขาอภิปรายรัฐมนตรีได้ แต่ถ้าฝ่ายค้านได้ 201 ฝ่ายรัฐบาลได้ 299 ก็ยิ่งสนุกใหญ่ ก็ไม่มีปฏิวัติ เพราะจะผลัดกันรุกผลัดกันรับ 299 กับ 201 อย่างนี้ ถ้าจะด่านายกฯวันไหนก็ยื่นเลยครับ เอานายกฯ มาขึงพืดกลางสภา ด่าทอกัน ทำได้"

**หยามปชป.บริหารแบบยาจก
นายสมัคร กล่าวด้วยว่า ถ้าไม่มีนายกฯ ที่ชื่อทักษิณ มาตั้งพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญปี 40 ก็จะยังคงใช้อยู่ ประชาธิปัตย์ได้เสียงข้างมากก็บริหารไป ก็บริหารแบบประชาธิปัตย์ ใครจะขึ้นมาใหม่ก็เป็นอย่างนั้น

"ยาจกทั้งนั้นนี่ครับ ขึ้นมานักการเมืองต้องเป็นยาจกทั้งนั้น มีอันจะกิน ก็ไม่ มีอันจะกิน ต้องเป็นบางคนอยู่ในพรรค แต่ไม่ได้เป็นหัวหน้านะครับ หัวหน้าต้องยาจก อย่างนี้ครับ นี่หัวหน้าเศรษฐีก็มีเหตุสิครับ หัวหน้าเศรษฐีก็อาจจะคิดแบบเศรษฐี อาจจะทำอะไรต่างๆ" นายสมัครกล่าว

นายสมัคร กล่าวถึงสาเหตุที่รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ล่มสลายเพราะ มีการดึงกระชากกันลง นั่นเพราะในรายการนายกฯ ทักษิณพบประชาชน ที่มานั่งคุยวันเสาร์ ไม่ได้คุยแบบตน คุยแต่เรื่องโน้นเรื่องนี้ จะทำโน่นทำนี่ เขาเย้ว ๆ เขาด่าทอว่ากล่าว พ.ต.ท.ทักษิณก็บอกว่าดี เป็นประชาธิปไตย แต่ตนบอกว่าไม่ดี

"พั๊วะเดียวเท่านั้นเดินทางอยู่ พั๊วะเดียวไปเลย มามีเหตุ แต่อย่างนี้เวลานี้ใครจะทำอะไร อย่างไร ผมก็พูดผมก็ตอบโต้ ประชาธิปไตยนี่ครับ ด่าอยู่ข้างเดียวได้อย่างไร คนบางคนคนนี้ก็ห้าม อย่าไปพูดหนังสือพิมพ์ แล้วหนังสือพิมพ์เขียนทุกวัน ด่าทุกวันว่าทุกวัน ทุกวันนี้ก็ยังเขียนอยู่ ยังกระทบกระแทกแดกดันอยู่ แล้วทำอย่างไรครับ ผมก็บอกว่า ผมก็พยายามอยากจะเป็นคนดีกับเขา เป็นคนดีต้องไม่ตอแยหนังสือพิมพ์ ปล่อยหนังสือพิมพ์ด่าข้างเดียวโขกข้างเดียว แล้วเป็นอย่างไร นายกฯทักษิณเป็นอย่างไร พั๊วเดียวเด็ดทิ้งเลย นั่นเพราะไม่ชี้แจงไม่โต้แย้ง ไม่หักล้าง ไม่ทำตามกฎหมายบางสิ่งบางอย่าง "

**"หมัก"ชี้หากยุบพรรคต้องยุบสภา
นายสมัคร กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญ 50 ว่า เกิดขึ้นจากความเกลียดชังอดีตนายกฯ เป็นการส่วนตัว ตอนออกกฎหมายลูกจึงวางกับดักเรื่องยุบพรรคไว้ บอกเลยต้องทำอย่างนั้น ทำตรงนี้ ไอ้นอมินีระวังให้ดี

อย่างไรก็ตาม การแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ช่วยเรื่องยุบพรรคเลย เพราะต้องไปตีความอีกว่าใช้ย้อนหลังได้หรือไม่ แต่ตอนนี้ต้องถือว่าไม่ได้ และที่ตนพูดว่า 3 เดือน จะไปแล้วค่อยแก้รัฐธรรมนูญนั้น ก็ถ้าไม่มีเรื่องยุบพรรคออกมาก็ไม่มีใครต้องยึดมาแก้

"ผมพูดไม่เห็นเสียหายตรงไหน ผมพูดความตรงไปตรงมา ก็มีเหตุไหมที่ทำให้ต้องคิด เพราะอะไร มีเหตุว่าจะต้องยุบพรรค เมื่อยุบพรรคแล้วเขาก็คิดกัน เขาไม่ได้คิดถึงตัวเองหรอกครับ เขาคิดถึงยุบพรรคแล้วก็ต้องยุบสภา อยู่ไม่ได้หรอกครับ ก็ต้องเลือกตั้งใหม่ เพราะฉะนั้นตรงนี้เรามี 316 บวกกับวุฒิสมาชิกที่เขาเห็นดีเห็นงามด้วย ก็แก้รัฐธรรมนูญนี้ได้แน่ ก็จะต้องแก้เสีย แก้เรื่องอะไรครับ ผมไม่ชอบไปพูด 237 ที่พูดกันนั้น เพื่อตัวเอง ใจผมจะบอกว่า 237 ต้องแก้เพื่อคนวันข้างหน้าจะไม่ถูกยุบพรรคสุ่มสี่สุ่มห้า ทำผิดเป็นส่วนบุคคล ก็วรรคสองไม่มีสิครับ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใส่ลงมา ใส่ลงมาเพื่ออะไร เพื่อต้องการจะฆ่าพรรคการเมืองที่จะเกิดขึ้นมาใหม่เอาให้ตาย เอาให้ตายต้องอย่างไรก็ต้องเล่นงานคนที่เป็นกรรมการ"

นายสมัคร กล่าวว่า เรื่องนี้ตนหวังพึ่งศาลฎีกา เพราะจะสอบในรายละเอียดทั้งหมด ดังนั้นโชคดีที่ได้ขึ้นศาลฎีกา เพราะนำสืบได้หมด ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง 6 เดือนใครทำอะไร ใครย้ายใครไปดักหน้าอย่างไร แล้วจะต้องต้อนคนนี้ให้เข้ากรงได้อย่างไร เขียนรัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้

"ก็อยู่ดีๆ คน 10 คน ซื้อตั๋วนั่งเครื่องบินเข้ามา มาขอรับเงินเขา 20,000 ใครทำใครจัดละครับ ก็ล่อหลอกกันมาทั้งนั้น เอาคน 10 คนเข้ามา คนหนึ่งเป็นคนจัด 9 คนเป็นคนถูกหลอกเข้ามา จะให้การยังไม่ฟัง ดีมากที่ขึ้นศาลฎีกา ผมก็หวังพึ่ง เขาจะตรวจสอบกันเพราะฉะนั้นไม่ต้องไปคิดว่าแก้รัฐธรรมนูญ ความหวังของผมอยู่ที่ศาลฎีกา" นายสมัคร กล่าว

นายสมัคร กล่าวว่า ถ้าศาลฎีกาพิจารณาเห็นอย่างนั้น คณะกรรมการชุดนี้ก็จะบริหารงานต่อไป แต่ถ้าท่านเห็นเหมือนกับข้างล่าง ก็ยกไป นั่นคือที่ว่า ทำไมถึงต้องแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นมีเวลาตรงนี้แก้เสียให้เสร็จ ยุบพรรค 3 พรรคไปก็เลือกตั้งกันใหม่ ก็ใครคนที่มาจะได้ไม่ต้องมาเจอรัฐธรรมนูญที่ใช้ไม่ได้อย่างนี้

จากนั้น นายสมัคร ก็ได้กล่าวตำหนิในเรื่องของการปรับเปลี่ยนเขตการเลือกตั้ง และการลดจำนวน ส.ส. - ส.ว. จนทำให้เกิดความวุ่นวาย

นายสมัคร กล่าวว่านายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.ท่องเที่ยวฯ เขาอ่านรัฐธรรมนูญแล้วบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมือนกับรถยนต์ที่ยางบวม แต่ว่าออกวิ่งได้แต่ไปไม่ไกล ต้องเปลี่ยนยาง สองเกจ์หน้าปัดมัวอ่านไม่เห็นเลยว่าอะไรเป็นอะไร จะวิ่งเร็วเท่าไร ถัดไปบอกว่ามันเขย่ง คลัตซีเขย่ง ก็ส.ว.ข้างนี้ 76 เลือกตั้ง ข้างนี้แต่งตั้ง 74 ถัดไปคือข้อเสียคือไม่มีฟิวส์บ๊อกซ์ คือสายไฟทั้งหมด ซึ่งถ้าผิดปกติเกิดสปาร์คฟิวส์ตัวนี้ก็จะรู้ว่าตัวไหนเสียก็จะตามไปไล่ ถ้ารถยนต์มีฟิวส์บ๊อกซ์ขาดรถไม่วิ่ง

"ยางบวม วิ่งไปได้สัก 50 กิโลเมตร ต้องเปลี่ยน ถ้าไม่เปลี่ยนก็แตก แปลว่าต้องเปลี่ยน ต้องแก้ไข แช็ตซีเขย่ง วิ่งกระโดกกระเดกๆ ข้างหนึ่ง 74 ข้างหนึ่ง 76 นี่ชัดเจนต้องแก้ไข หน้าปัดมัวหลายมาตราเขียนไว้ ตีความอย่างโน้นตีความอย่างนี้ หน้าปัดไม่ชัดเจน เสร็จเรียบร้อยแล้วไม่มีฟิวส์บ๊อกซ์ แปลว่า มีฟิวส์บ๊อกซ์ตรงนี้ขาดตรงนี้ต้องตัด ตรงนี้ต้องเสริม ต้องตัดตรงนี้ ยกตัวอย่างเหมือนกับคนที่จะไปทำซื้อเสียง ไปซื้อเสียงเข้ามา ถ้าไปซื้อเสียงเข้ามาก็พิสูจน์ว่าพรรครู้ไหม พรรคลงมติบอกมอบเงินไปให้กี่สิบล้าน ให้ไปซื้อเสียง อย่างนี้ยุบมันทั้งพรรค แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่า ไปทำส่วนตัว อย่างนี้ก็เฉพาะส่วนบุคคลไป" นายสมัครกล่าว

**ยอมรับหัวเดียวกระเทียมลีบ
นายสมัคร กล่าวย้ำว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่มีวรรคสอง แต่รัฐธรรมนูญปี 2550 มี เพื่อจะบอกว่าต้องการจะจับจ้องพรรคการเมืองนี้ เสร็จเรียบร้อยแล้วก็คอยจ้อง ถ้าต้อนเอากรรมการเข้าไปได้คนหนึ่งก็เสร็จ ซึ่งคนที่ถูกต้อนนี้อยู่ จ.เชียงราย เขาจะได้ขึ้นให้การศาลฎีกา จะได้รู้เลยว่าอะไรเป็นอะไรอย่างไร

"ผมบอกว่า ผมไม่อยากแก้ 309 ทางโน้นเขาอยากแก้ ก็เพราะผมไม่ได้ไปประชุมกับเขา ผมทำงานอยู่ทำเนียบฯ ประชุมถึง 18.40 น. เขาประชุมกันตั้งแต่บ่าย แล้วเขาก็มีมติแก้ 309 ผมก็พูดแบบของผม ผมตัดสินใจเร็ว ผมก็บอกผมไม่เห็นด้วยกับการแก้ 309 แล้วอย่างไร เมื่อเสียงข้างมาก 232 แล้วผมเสียงเดียว พูดจาดูแคลนผมอีก ก็ไม่ได้ประชุมร่วมกัน รัฐมนตรีฯ นพดลฯ (นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ) เขากลับจากต่างประเทศ เขาบอกเขาก็ไม่เห็นด้วย คือคิดธรรมดา แต่เขาคิดกันว่าจะได้ประโยชน์ในการต่อสู้คดี เขาคิดไป แต่พอพูดปั๊บโดนด่าทันที เห็นไหม 237 โดนด่าทันที"

นายสมัคร กล่าวว่า แต่ตนต้องพูดอย่างนี้เพื่อจะบอกว่าไม่ต้องการ ม.237 ม. 309 อดีตนายกฯ ทักษิณ จะสู้คดีก็สู้กันไป ในส่วนของคดีความ ซึ่งตนก็มี ตนก็สู้ของตนไป และข้อสำคัญที่สุดคือพรรคทั้ง 3 พรรคต้องโดนยุบ เพราะถ้าแก้สำเร็จเรียบร้อยก็ไม่ได้

"โดนตีความทันทีครับ ย้อนหน้าย้อนหลังไม่ได้ โดนตีความทันที เพราะฉะนั้นไม่ได้หวังเรื่องนี้เลย แต่ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ที่ทำไมถึงคิดแก้รัฐธรรมนูญ เพราะรู้ว่ามันไปไม่ไกล มันไปไม่รอด เมื่อรู้อย่างนั้นแล้วเรามี 316 ต้องแก้เสีย เพื่อวันข้างหน้า เพื่อใครจะมาก็แล้วแต่ในวันข้างหน้า เขาจะได้ใช้รัฐธรรมนูญที่ดีพอสมควร"
นายสมัคร ยังกล่าวถึงการลงประชามติแก้ หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ ว่า ตอนจะมาล่อหลอกให้ลงประชามติ ก็พูดกันลงประชามติ 14 ล้าน แล้วที่เขาไม่เห็นด้วย 10 ล้าน ทำไมไม่พูดถึง วันนี้จึงประหลาดพูดซีกเดียว มีหลายอันหลายๆ ข่าวในหนังสือพิมพ์พูดซีกเดียวครับ

**"จาตุรนต์"แนะต้องมี ส.ส.ร.3
ในวันเดียวกันนี้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เปิดแถลงข่าวที่โรงแรม เรดิสัน พระราม 9 โดยระบุว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ และจำเป็นต้องแก้โดยเร็ว เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลผลิตจากการรัฐประหาร มีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แม้จะยอมให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ และยังให้ผู้ที่มาจากการแต่งตั้งที่อยู่ในองค์กรต่างๆ รวมทั้งวุฒิสภา มีอำนาจเหนือผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะนำไปสู่การมีรัฐบาล และระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ ไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้

"ใครก็ตามที่จะมาเป็นรัฐบาลต้องดูทิศทางลม ทำงานให้เป็นไปตามความพอใจของผู้ที่มาจากการแต่งตั้ง มากกว่าประชาชน รัฐธรรมนูญแบบนี้จะทำให้ประเทศก้าวไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งนำไปสู่วิกฤตการณ์ใหญ่ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะมีมากขึ้นเป็นลำดับ ถ้าหากไม่รีบแก้ ต้องรอให้ประเทศผ่านความเสียหายไปมากๆ ก่อน และก็เกิดวิกฤตขึ้น วิกฤตนั้นอาจจะไปสู่ทางสองแพร่ง คือ มีการแก้รัฐธรรมนูญ และฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งแนวโน้มว่าหากรัฐบาลอ่อนแอ พรรคการเมืองอ่อนแอ จะนำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญอีกรอบ"

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนมีข้อเสนอดังนี้
1. ควรแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทุกประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตย 2. ส่งเสริมประชาชนให้มีส่วนร่วมเต็มที่ เริ่มจากพรรคการเมืองที่ต้องการแก้ และไปหารือกับองค์กรประชาธิปไตย 3. ควรมีการชี้แจงเหตุผลของการแก้อย่างจริงจัง เป็นระบบ โดยพรรคการเมือง พรรคร่วมรัฐบาล และรัฐบาล 4.เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม และทำให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปโดยเร็ว ควรมีการตั้ง ส.ส.ร. ที่มีลักษณะคล้ายกับปี 2540 โดยรัฐสภากำหนดหลักเกณฑ์การสรรหาที่มา 5. กำหนดให้ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นหลักในการที่ ส.ส.ร. จะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2540 เท่าที่จำเป็น 6. ทั้งหมดควรแล้วเสร็จภายใน 180 วัน 7. รัฐสภายังมีอำนาจในการรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอเข้าสภา

นายจาตุรนต์ กล่าวด้วยว่า การมี ส.ส.ร. จะทำให้สามารถระดมคนมาช่วยคิดได้มากขึ้น และไปชี้แจงกับประชาชน ทำให้มีส่วนร่วมได้มากขึ้น และประชาชนคุ้นเคยกับการมีส.ส.ร. ส่วนเหตุผลทางเทคนิคที่มีการตั้งกรรมาธิการ และให้รัฐสภาแก้เอง ในวาระที่ 1, 2 และ 3 อาจจะทำให้แก้ไม่ได้เลย หรืออาจจะใช้เวลาหลายปี เพราะจะมีแปรญัติของ ส.ส.ร้อย ๆ คน และหลายมาตรา ถ้าหากการชี้แจงไม่ดี หรือตั้งใจขัดขวางการแก้โดยใช้ช่องทางของสภา อาจจะทำให้ 1 สัปดาห์ อาจแก้ได้เพียงมาตราเดียว แบบนี้อีกกี่ปีก็แก้ไม่เสร็จ ที่ตนเสนอแบบนี้เพราะ อยากแก้ให้สำเร็จ

"การที่จะให้กรรมาธิการ และที่ประชุมรัฐสภาแก้ ผมเชื่อว่าแก้ไม่ได้ และถ้าแก้ไม่ได้ วิกฤตต่างๆ จะตามมา ความเสียหายเกิดขึ้นต่อประเทศอย่างมาก" นายจาตุรนต์กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า กระบวนการที่จะทำให้มี ส.ส.ร. จะต้องแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ก่อน แล้วกำหนดที่มา ระบุลงไปใน มาตรา 291 ว่า จะนำรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นหลัก และให้ไปแก้ ในส่วนที่เป็นปัญหาสำคัญ เช่น องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ถูกแทรกแซง ก็ไปแก้ไขตรงนั้น เชื่อว่าน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 4 เดือน และใช้เวลาช่วงนั้นประมาณ 120 วัน ชี้แจงประชาชน ก่อนนำกลับเข้าสู่สภา เพื่อลงมติ อาจจะมีการให้ความเห็นเพื่อปรับปรุง ฉะนั้นทั้งหมดทำได้ 180 วัน มั่นใจว่าทำแบบนี้เร็วกว่าตั้งกรรมาธิการแน่นอน

เมื่อถามว่า ควรจะมีประชามติหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า น่าสนใจ การให้ลงประชามติ น่าเป็นทางออกที่ดี เป็นประโยชน์ในการสร้างความยอมรับ

**มีส.ส.ร.หรือไม่อยู่ที่พรรคร่วม
นายชูศักดิ์ ศิรินิล
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวถึงข้อเสนอของนายจาตุรนต์ ที่เสนอให้ตั้งส.ส.ร.3 ว่า เป็นความเห็นที่น่าจะฟังได้ แต่ผลสรุปจะเป็นแบบใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทุกพรรค ว่าจะใช้วิธีใด และควรรอข้อสรุปที่ นายสมัคร จะไปพบหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ เพื่อหาข้อสรุปในการการแก้รัฐธรรมนูญก่อน

เมื่อถามว่า ตอนนี้พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค เช่น พรรคชาติไทย และเพื่อแผ่นดิน ไม่เห็นด้วยที่จะให้แก้ไข มาตรา 237 และ มาตรา309 นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ขอย้ำว่า ตอนนี้จะแก้ไขทั้งฉบับเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย ส่วนพรรคใดจะมีความเห็นแบบใดนั้น ก็ขอให้รอผลการหารือของหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคก่อนดีกว่า

**เตือนหมักระวังประชาชนขับไล่
นายสาธิต ปิตุเตชะ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ของพรรคพลังประชาชน เป็นการสร้างภาพว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เกิดจากการรัฐประหาร และมีปัญหาในการใช้งาน จึงต้องเปลี่ยนแปลงให้เหมาะกับการใช้งานในหลายประเด็น แต่จุดประสงค์หลักที่แท้จริงมีแค่ 2 มาตรา เท่านั้น คือ มาตรา 237 และ 309

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้รัฐธรรมนูญปี 50 จะมาจากการรัฐประหาร แต่ก็มีความเป็นประชาธิปไตยที่สุด เพราะมาจากส.ส.ร.ที่ลงไปสำรวจความคิดเห็นของประชาชน และมีการลงประชามติจากประชาชนถึง 26 ล้านคน และที่สำคัญรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่งใช้งานมาได้ 4 เดือน และยังไม่มีปัญหาหรืออุปสรรค แต่ปัญหาอุปสรรค อยู่ที่คนทำผิดกฎหมาย และกำลังจะถูกยุบพรรคจึงมาอ้างเหตุเพื่อต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายสาธิต กล่าวว่า พรรคพลังประชาชนขอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยที่มีเสียงทักท้วงจากทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ หรือพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่ง ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน ก็ออกมาพูดชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ แต่การแก้ไขนั้นควรให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเอกชน นักวิชาการ ข้าราชการ หรือ ส.ส.ร.เดิม ต้องมีส่วนร่วม

"ผมอยากฝากบอกนายกรัฐมนตรี และพรรคพลังประชาชนว่า อย่าคิดว่าชนะเลือกตั้งแล้วจะทำอะไรได้ การใช้อำนาจต้องใช้อยู่บนความถูกต้อง เป็นธรรม อย่าใช้อำนาจแก้ปัญหาเพื่อพวกพ้องตนเอง การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ทำได้ไม่ยากเหตุอยู่ที่ไหนแก้ที่นั่น และถ้ารัฐจะจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนที่สุดในตอนนี้ คือต้องไปแก้ปัญหาเรื่องข้าวแพงและโจรชุกชุม เพราะหากรัฐบาลดื้อดึง แก้รัฐธรรมนูญเพื่อตนเองต่อไป ก็ต้องระมัดระวัง เพราะตอนจบอาจถูกประชาชนขับไล่ก็ได้"

**หากจะแก้ไขต้องมี ส.ส.ร.
นายสาธิต ยังกล่าวถึงข้อเสนอของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ที่ให้แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีคณะ ส.ส.ร.มาแก้รัฐธรรมนูญว่า เป็นข้อเสนอที่ตรงกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะถ้าเห็นว่า รัฐธรรมนูญมีปัญหา ก็ควรเริ่มต้นจากการมี ส.ส.ร.และต้องมาจากทุกภาคส่วนของสังคม เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว

นายสาธิต กล่าวด้วยว่า ความจริงแล้วตนไม่ได้คาดหวังว่าพรรคพลังประชาชน จะรับฟังเสียงข้างน้อย เพราะที่ผ่านมาจะมองฝ่ายค้านเป็นศัตรูเสมอ แต่อย่างน้อยที่สุด วันนี้คนใกล้ตัวเช่น นายจาตุรนต์ ซึ่งเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในพรรคพลังประชาชน หรือพรรคเพื่อแผ่นดิน ก็มีแนวคิดที่ตรงกัน ได้ออกมาเสนอให้มีการตั้งส.ส.ร. ที่มาจากกลุ่มคนหลายฝ่าย ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ และเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ

**อัด"หมัก"ไม่ใช่ผู้นำตัวจริง
นายเทพไท เสนพงศ์
ส.ส.นครศรีธรรมราช ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชาชน เป็นความพยายามที่รีบเร่ง รวบรัด ไม่ฟังเสียงคัดค้านจากสังคม ตรงนี้จะก่อให้เกิดปัญหาวิกฤติครั้งใหญ่ ทั้งๆที่รู้อยู่ว่า สังคมยังมีความแตกแยก เสมือนเอาน้ำมันไปราดกองไฟ พรรคพลังประชาชนหวังผลอะไร หากเหตุการณ์บานปลายลุกลามรุนแรงใครจะรับผิดชอบ

"นายกรัฐมนตรี ยอมรับในรายการแล้วว่า ตัวเองมีเพียงเสียงเดียว สู้เสียงข้างมากในพรรคไม่ได้ สะท้อนว่าขาดภาวะผู้นำ ไม่ใช่หัวหน้าพรรคตัวจริง ที่จะโน้มน้าวชี้นำสมาชิกพรรคได้ การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถ้าพรรคพลังประชาชนชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์มีอยู่ 2 ส่วน คือ 1. แก้มาตรา 237 เพื่อนายสมัคร สุนทรเวช โดยตรงซึ่งเขาเองก็ยอมรับ และ 2. แก้มาตรา 309 เพื่อพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ทั้งยังมีข้อปลีกย่อยในเรื่องของวาระ ป.ป.ช. , กกต. ทั้งหมดเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณ แต่สิ่งที่ นายสมัครกังวลคือ เรื่องของคุณสมบัตินายกฯ ที่หากศาลจำคุกต้องพ้นจากคุณสมบัติการเป็นนายกฯ ถึงกับแสดงความรู้สึกออกมาผ่านรายการ "

นายเทพไท กล่าวอีกว่า การที่นายสมัคร อ้างประชามติ 58 ต่อ 42 ถามต่อว่า ทำไมไม่ฟังเสียงข้างน้อย 42 เปอร์เซ็นต์ การอ้างผลเลือกตั้ง 233 เสียง ในการแก้รัฐธรรมนูญได้เห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะ 233 เสียงเขาเลือกมาให้เป็นรัฐบาล บริหารประเทศ ไม่ใช่เลือกมาเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นที่พรรคการเมืองต่างๆ ชูขึ้นมาหาเสียงไม่มีประเด็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเลย

**เตือนรัฐบาลดันทุรังจะซ้ำรอยเดิม
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า หากรัฐบาลไม่ทบทวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิดตนเอง ทุกอย่างอาจสายเกินแก้ หรือรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคพลังประชาชน อาจไม่มีโอกาสได้แก้ตัว เพราะการเมืองไทยจะเดินวนย้อนกลับไป ณ จุดเดิมเดียวกับเมื่อครั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ขายหุ้นชินฯ 73,300 ล้านบาทโดยไม่เสียภาษี และการชิงยุบสภาหนีการตรวจสอบ ในตอนนั้น พรรคไทยรักไทย มีเสียงข้างมากในสภาเบ็ดเสร็จกว่า 377 เสียง ก็ไม่สามารถอุ้มรัฐบาลและ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้พ้นจากข้อกล่าวหาได้

พรรคพลังประชาชน ต้องกล้าสรุปบทเรียนว่า เงินอาจซื้ออำนาจได้ แต่ซื้อความชอบธรรมไม่ได้ ซึ่งผลโพลล์ก็สะท้อนชัดว่า ประชาชนไม่อยากเห็นความแตกแยก จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบมัดมือชกหรือแก้เพื่อตนเอง

นายสุริยะใส ยังกล่าวถึงการจัดกิจกรรมของพันธมิตรฯ ในวันที่ 25 เม.ย.นี้ว่า รูปแบบคล้ายกับกิจกรรมในวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา เป็นการสัมนาประชาชน ยังไม่ใช่การชุมนุมใหญ่อย่างที่เป็นข่าว ส่วนรายละเอียดของงานนั้นคาดว่าอีก 1-2 วัน คงเปิดเผยได้

ส่วนแนวโน้มและความเป็นไปได้ในการชุมนุมใหญ่ หรือเดินขบวนนั้น ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชาชน ถ้ายังเดินหน้ารื้อรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิดตนเอง และตัดตอนองค์กรตรวจสอบ ถึงตอนนั้น พันธมิตรฯก็คงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเคลื่อนไหว ซึ่งอาจยกระดับจากเวทีสัมนา เป็นการชุมนุมใหญ่แทน
กำลังโหลดความคิดเห็น