อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน
ถ้าไม่เจอ “โรคเลื่อน” หรือ “ยื้อเวลา” วันที่ 18 มี.ค.นี้ “กกต.” น่าจะได้ฤกษ์ชี้ขาด “ยุบ-ไม่ยุบ” พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย หลังให้เวลา คกก.ตรวจสอบกฎหมาย และ คกก.ตรวจสอบข้อเท็จจริงนานถึง 2 เดือน กระทั่งวันนี้ (17 มี.ค.) ผลสรุปของ คกก.สอบ ได้ถึงมือ กกต.เรียบร้อยแล้ว โดยมีข่าวหลุดออกมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วว่า คกก.สอบ มีมติเอกฉันท์ “ไม่ยุบ” ทั้ง 2 พรรค เพราะเชื่อว่าพรรคไม่รู้เห็นการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของ กก.บห.พรรคที่โดนใบแดง เหตุผลหนึ่งที่ถูกยกมาอ้าง ก็คือ “พรรคได้กำชับและทำหนังสือเตือนผู้สมัครทุกคนตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้ว ไม่ให้ทำผิดกฎหมาย”...ถ้าเหตุผลเพียงแค่นี้ ทำให้แต่ละพรรครอดพ้นจากการถูกยุบพรรคได้ คงไม่มีพรรคไหนถูกยุบแน่ รวมทั้งพรรคพลังประชาชนของ “ทั่นยุทธตู้เย็น” ด้วย
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องเตรียมชี้ขาดว่าจะ “ยุบ-ไม่ยุบ” พรรคชาติไทย(ชท.) และพรรคมัชฌิมาธิปไตย (มฌ.) เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ กกต.ได้มีมติ (7 ม.ค.) ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ว่าที่ ส.ส.ชัยนาท เขต 1 พรรคชาติไทย 2 คน คือ นายมณเฑียร สงฆ์ประชา และ น.ส.นันทนา สงฆ์ประชา หลังพบหัวคะแนนของบุคคลทั้งสองเก็บบัตรประชาชนชาวบ้าน และเตรียมจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่หน้าหน่วยเลือกตั้งกลางในการเลือกตั้งล่วงหน้า วันต่อมา (8 ม.ค.) กกต.ได้มีมติให้ใบแดง นายสุนทร วิลาวัลย์ ว่าที่ ส.ส.ปราจีนบุรี เขต 1 พรรคมัชฌิมาธิปไตย เนื่องจากมีพฤติการณ์แจกทรัพย์สิน
การโดนใบแดงของว่าที่ ส.ส.ทั้ง 3 ไม่เพียงส่งผลให้เจ้าตัวถูกตัดสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 1 ปี(เพราะ กกต.ให้ใบแดงก่อนประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ต่างกับกรณีนายยงยุทธ ติยะไพรัช ที่ กกต.ประกาศรับรองไปก่อน และมีมติให้ใบแดงภายหลัง ดังนั้น หากสุดท้าย ศาลฎีกาฯ ยืนตาม กกต.ที่ให้ใบแดง นายยงยุทธต้องถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี) แต่ยังถูก กกต.แจ้งความดำเนินคดีอาญา เพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ด้วย
ไม่เท่านั้น เมื่อ นายมณเฑียร สงฆ์ประชา มีตำแหน่งเป็นถึงกรรมการบริหารพรรคชาติไทย โดยเป็นรองเลขาธิการพรรค แล้วโดนใบแดง ขณะที่ นายสุนทร วิลาวัลย์ ก็เป็นกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตยเช่นกัน โดยเป็นรองหัวหน้าพรรค กกต.จึงต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาว่า เมื่อกรรมการบริหารพรรคกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือโดนใบแดงแล้ว กกต.ต้องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคนั้นหรือไม่?
ต่อมา 29 ม.ค.นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง เผยว่า คณะกรรมการดำเนินกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติที่มี นายบุญทัน ดอกไธสง เป็นประธาน ได้เสนอความเห็นด้านกฎหมายให้ กกต.ทราบแล้ว โดยชี้ผลให้ยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย อย่างไรก็ตาม นางสดศรี บอกว่า ข้อสรุปของคณะกรรมการจะไม่มีผลผูกพันให้ กกต.ต้องตัดสินตามคณะกรรมการ นางสดศรี ยังบอกด้วยว่า ในส่วนของพรรคชาติไทยที่นายมณเฑียร สงฆ์ประชา กรรมการบริหารพรรคโดนใบแดงเช่นเดียวกับนายสุนทร วิลาวัลย์ ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย คงไม่ต้องให้คณะกรรมการด้านกิจการพรรคการเมือง พิจารณาเพื่อเสนอความเห็นต่อ กกต.อีก เนื่องจากความผิดของนายมณเฑียรและนายสุนทร เป็นลักษณะเดียวกัน จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาซ้ำอีก เพราะ กกต.จะตัดสินตามมาตรฐานเดียวกัน
วันต่อมา (30 ม.ค.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านกิจการการเลือกตั้ง เผยหลังประชุม กกต.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาความเห็นของคณะกรรมการด้านกิจการพรรคการเมือง ที่ระบุว่า การที่กรรมการบริหารพรรคถูกสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือโดนใบแดง เข้าข่าย พ.ร.บ.เลือกตั้ง มาตรา 103 ดังนั้น กกต.ควรเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ที่ประชุม กกต.จึงได้มีมติตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสืบสวนสอบสวนเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ และเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่า พรรคเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ เพราะในชั้นการให้ใบแดง กกต.มีเพียงหลักฐานว่า หัวคะแนนไปกระทำการ และมีความเชื่อมโยงถึงผู้สมัครเท่านั้น
สำหรับคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนกรณียุบพรรคมีนายบุญทัน ดอกไธสง เป็นประธาน ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย พล.ต.อ.มีชัย นุกูลกิจ, นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์, นายธนิศร์ ศรีประเทศ
ด้าน นายบุญทัน ดอกไธสง ประธานคณะกรรมการสอบกรณียุบพรรค เผย (31 ม.ค.) ว่า การสอบสวนต้องยึดทั้งหลักกฎหมายและหลักรัฐศาสตร์อย่างรอบคอบ และไม่หนักใจกับการสอบ ที่ผลอาจจะก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง เพราะเมื่อรับปากว่า จะมาทำงานใหญ่แล้ว ก็ต้องรับผิดชอบและสอบข้อเท็จจริงด้วยเหตุผล ยืนอยู่ตรงกลาง และให้ความเป็นธรรม
ขณะที่ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย ได้ทำหนังสือถึง กกต.ขอให้พิจารณาเรื่องยุบพรรคโดยยึดหลักรัฐศาสตร์มากกว่านิติศาสตร์ ซึ่ง นายสุเมธ อุปนิสากร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม พูดถึงเรื่องดังกล่าวว่า พร้อมรับฟัง แต่ตามหลักการแล้ว กกต.ต้องพิจารณาโดยยึดกฎหมายเป็นหลัก ขณะที่นางสดศรี สัตยธรรม 1 ใน กกต.บอกว่า หากเป็นหลักรัฐศาสตร์เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง กกต.คงไม่ต้องนำมาวินิจฉัย แต่ถ้าเป็นหลักรัฐศาสตร์เพื่อประเทศชาติ ก็อาจต้องนำมาวินิจฉัย
ทั้งนี้ คณะกรรมการสอบกรณียุบพรรคชาติไทย-มัชฌิมาธิปไตย ได้เชิญหัวหน้าพรรคชาติไทยและหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตยเข้าชี้แจงว่ามีส่วนรู้เห็นการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคที่โดนใบแดงหรือไม่ ซึ่งทั้ง 2 พรรค ต่างยืนยันว่า พรรคไม่มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคของตนแต่อย่างใด
โดย นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ได้เข้าชี้แจงเมื่อวันที่ 12 ก.พ. โดยยืนยันว่า การที่ กกต.ให้ใบแดง นายมณเฑียร สงฆ์ประชา รองเลขาธิการพรรค ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคชาติไทย แต่อย่างใด เพราะก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง พรรคได้กำชับอย่างหนักแน่นและออกหนังสือเตือนให้ผู้สมัครทุกคนอย่าทำผิดกฎหมาย ขณะที่ นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ชี้แจงคณะกรรมการ ว่า ทางพรรคมีเวลาน้อยมากในการช่วยผู้สมัครรณรงค์หาเสียงในพื้นที่ต่างจังหวัด เนื่องจากมีเรื่องภายในพรรคอยู่เสมอๆ ดังนั้น การรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของ นายสุนทร วิลาวัลย์ รองหัวหน้าพรรค จึงเป็นไปไม่ได้ นางอนงค์วรรณ ยังยกเหตุผลด้วยว่า ในพรรคแบ่งเป็นหลายสาย และแต่ละสายจะดูแลผู้สมัครของตนเองเท่านั้น
ล่าสุด (11 มี.ค.) คณะกรรมการสอบกรณียุบพรรคชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตย ที่มี นายบุญทัน ดอกไธสง เป็นประธาน ได้ประชุมลงมติแล้ว แต่ไม่ยอมเผยผลประชุมว่า ลงมติยุบหรือไม่ยุบ 2 พรรคดังกล่าว โดยบอกเพียงว่า ที่ประชุมมีมติไปในทางเดียวกันเอกฉันท์ 4 เสียง โดยคณะกรรมการได้พิจารณาทั้งสำนวนที่ กกต.มีมติให้ใบแดง นายมณเฑียร สงฆ์ประชา และนายสุนทร วิลาวัลย์ รวมทั้งพิจารณาสำนวนที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นด้วยกับมติของ กกต.ที่ให้ใบแดงว่าที่ ส.ส.ดังกล่าว และพิจารณาสำนวนทั้งหมดประกอบข้อกฎหมาย 3 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 237, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 94 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูยว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.มาตรา 103
ทั้งนี้ มีรายงานว่า คณะกรรมการดังกล่าวเห็นว่าการกระทำของนายมณเฑียรและนายสุนทรที่โดนใบแดง เป็นการกระทำส่วนตัว พรรคไม่มีส่วนรู้เห็น คณะกรรมการทั้ง 4 คนที่ตรวจสอบเรื่องนี้ จึงมีมติเอกฉันท์ให้ยกคำร้องเรื่องยุบพรรคทั้ง 2 พรรคดังกล่าว
ขณะที่ กกต.เตรียมประชุมพิจารณาผลสรุปของคณะกรรมการดังกล่าวในวันที่ 18 มี.ค.นี้ โดยคาดว่า กกต.น่าจะลงมติเรื่องนี้ได้ในวันเดียวกัน ด้านนางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าว (11 มี.ค.) ว่า ได้รับทราบการลงมติของคณะกรรมการฯ ทางวาจาแล้ว แต่ไม่ขอเปิดเผยมติ และว่า ผลสรุปของคณะกรรมการจะไม่ผูกพันกับความเห็นของ กกต. โดย กกต.จะพิจารณาอย่างรอบด้าน พิจารณาทั้งผลสรุปของคณะกรรมการ ประกอบกับข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงก่อนลงมติ
ก่อนรู้ผลการชี้ชะตาจาก กกต.ว่าจะยุบพรรคชาติไทย-มัชฌิมาธิปไตย หรือไม่? ลองมาฟังความรู้สึกของคนต้นเรื่องในฐานะกรรมการบริหารพรรคของทั้ง 2 พรรค ที่ถูก กกต.ให้ใบแดง กระทั่งนำมาสู่การพิจารณาว่าพรรคมีส่วนรู้เห็นหรือไม่กับการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
นายสุนทร วิลาวัลย์ อดีตว่าที่ ส.ส.ปราจีนบุรี เขต 1 พรรคมัชฌิมาธิปไตย และรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตยที่โดนใบแดง ยังคงยืนยันว่า ตนไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่น่าโดนลงโทษถึงขนาดนี้ ทีผู้สมัครพรรคอื่นน่าจะทำผิดมากกว่า น่าจะโดนใบแดงมากกว่า แต่กลับได้แค่ใบเหลือง อย่างไรก็ตาม นายสุนทร เชื่อว่า หากพรรคมัชฌิมาธิปไตยถูกยุบ คงต้องมีอีกหลายพรรคถูกยุบเช่นกัน
“ถ้ายุบเรา ก็คงต้องยุบหลายพรรคมั้ง เพราะเราไม่ผิดอะไร มันยุบเพราะเหตุอะไร ผมเองไม่ได้ทำผิดอะไรมากมายเลย ผมว่าผมไม่ได้ผิดด้วยซ้ำ ใบแดงผมก็ว่าผมไม่น่าโดน คนอื่นดูแล้วมันน่าจะผิดกว่าผมเยอะแยะ (ถาม-กกต.เขาว่าเราแจกเงินใช่มั้ย?) แจกเงินอะไร ผมไม่ได้ไปแจก คนที่เขาไปแจก เขาบอกเขาไม่รู้เรื่อง ไม่เกี่ยวเลย คนอื่นเขาจับกันได้ เห็นข่าวลง จับๆ ไม่โดนใบแดง โดนใบเหลือง ผมก็ยังงง เราก็ไม่รู้ว่า เขาเอาอะไรมาพิจารณา ไม่อยากไปต่อล้อต่อเถียง ผมไม่น่าจะโดนลงโทษมากขนาดนี้เลยนะ ความรู้สึกผม ผมก็ไม่อยากจะไป เห็นคนอื่นเอาคนมาเรียกร้อง เราทำได้ แต่ไม่อยากทำ (ถาม-เรารู้สึกว่า เราพลาดตรงไหนมั้ย?) ผมว่าผมทำดีที่สุดแล้วนะ ไม่น่าพลาด เพียงแต่เขามีความเข้าใจมีความรู้สึกว่า ผมน่าจะผิดอย่างนั้นน่าจะผิดอย่างนี้ ผมเล่นการเมืองมาหลายสิบปีนะ ผมก็ว่าผมระวังตัวที่สุด”
ขณะที่ นายมณเฑียร สงฆ์ประชา อดีตว่าที่ ส.ส.ชัยนาท เขต 1 พรรคชาติไทย และรองเลขาธิการพรรคชาติไทย ที่โดนใบแดง ก็ไม่ขอให้ความเห็นว่า มติ กกต.ในวันที่ 18 มี.ค.นี้จะพลิกหรือตรงข้ามกับผลสอบของคณะกรรมการที่มีมติไม่ยุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตยหรือไม่ โดยบอก เรื่องนั้นขอให้ถามทางพรรคจะดีกว่า เพราะตนก็ได้ชี้แจงทางพรรคไปเรียบร้อยแล้ว
นายมณเฑียร ยังยืนยันด้วยว่า ตนไม่ได้ซื้อเสียง ไม่เคยรู้จักกับคนที่อ้างว่าเป็นหัวคะแนนตนด้วยซ้ำ ซึ่งตนได้ฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการสร้างเรื่องให้ตนเสียหายแล้ว 4-5 คน นายมณเฑียร ยังบอกด้วยว่า ตระกูลตนเล่นการเมืองมาหลายสิบปี และเติบโตจากการเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ชาวบ้านทราบดี แต่ต้องมาโดนใบแดงแบบนี้ เหมือนโดนประหารชีวิต
“เหมือนโดนประหารชีวิต คือ เราทำการเมืองมาตลอด เสร็จแล้ว ผมที่มีเรื่องตรงนั้น ผมไม่รู้เรื่องเลย ไปยังไปไม่ถูกเลย พอแบ่งเขตแล้ว ผมมาอยู่ทางนี้ แต่ที่เขากล่าวหา อยู่ทาง อ.เมืองโน่น พวกเราไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะบ้านเราอยู่ทางเขต 2 แล้วคนที่เขากล่าวหาอะไรต่ออะไร เราไม่รู้จักน่ะ (ถาม-แต่เขาว่า เป็นหัวคะแนนเรา?) จะทำไงได้ (ถาม-แล้วเราได้คุยกับคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวคะแนนเรามั้ย?) ผมฟ้องมันสิ ฟ้องเลยศาล ตั้งทนายฟ้องเขา ทำให้เราเสียหาย มันเป็นขบวนการ เขาสร้างเป็นเรื่อง เขาสร้างขึ้นมา คือเรื่องจริงเราไม่กลัวหรอก มันเรื่องสร้าง แล้วเราไม่ได้แก้ตัวนี่ คือผมไม่ได้โทษ กกต.5 คน อย่างนั้นน่ะไม่รู้หรอก ไม่ใช่เทวดา นั่งอยู่แล้วจะรู้หมดทุกจุด ขนาดผมนี่วิ่งจับคู่แข่งกับผมที่ซื้อเสียง ผมยังจับไม่ได้เลย ที่ซื้อจริง ไม่ใช่ว่า เขามาจับผมนะ ผมเนี่ยวิ่งจับเขา พอผมสู้ทีไร มีแต่พวกหิ้วกระเป๋ามาทุกที หมดกันเป็น 100 ล้าน ซื้อกันอย่างกับขนม ผมเจอแต่ละเรื่อง แต่เราเล่นการเมือง จบคือจบ เราไม่เคยไปร้องใคร เพราะเราก็ทำงานอยู่ในพื้นที่มานาน ผมนี่เป็นนักการเมืองตั้งแต่ ส.จ.(สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด) เป็นประธานสภา(องค์การบริหารส่วนจังหวัด) มาแทนพ่อ เราไม่ใช่อยู่ๆ หิ้วกระเป๋ามา มัน 20-30 ปีแล้ว เรามาตั้งแต่ท้องถิ่นขึ้นมา ชาวบ้านรู้”
แม้อดีตว่าที่ ส.ส.ทั้งสอง 2 คน 2 พรรคจะยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ตนไม่ได้ซื้อเสียง แต่เมื่อ กกต.ตรวจสอบแล้ว และมีมติให้ใบแดง จึงเป็นอันยุติแล้ว สิ่งที่ต้องลุ้นตอนนี้ก็คือ กกต.จะมีมติยืนตามคณะกรรมการสอบฯ ที่ให้ยกคำร้อง-ไม่ต้องยุบพรรคชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตย เพราะพรรคไม่มีส่วนรู้เห็นการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งของอดีตผู้สมัครที่เป็นกรรมการบริหารพรรคดังกล่าว หรือจะเห็นแย้งแล้วให้มีการสอบเพิ่ม หรือจะเห็นตรงข้าม แล้วมีมติให้ยุบพรรคใดพรรคหนึ่งหรือยุบทั้งสองพรรค
ดูท่าว่า หวยคงออกทางแรกมากกว่า คือยืนตามคณะกรรมการสอบฯ ไม่ยุบทั้งสองพรรค และถ้าไม่ยุบพรรคทั้งสองจริง ด้วยเหตุผลเพียงเพราะว่า ทางพรรคไม่มีส่วนรู้เห็นการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งดังกล่าว เพราะ“ทางพรรคได้มีการกำกับอย่างหนักแน่นและออกหนังสือเตือนให้ผู้สมัครทุกคนอย่าทำผิดกฎหมายเลือกตั้งแล้ว” ก็ย่อมคาดหมายได้ว่า กรณีนายยงยุทธ ติยะไพรัช ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 1 พรรคพลังประชาชน ที่ กกต.มีมติเสนอศาลฎีกาฯ ให้ใบแดง เนื่องจากนายยงยุทธทำผิดกฎหมายเลือกตั้งด้วยการซื้อเสียงผ่านกำนันขณะเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ก็คงจะหลุดพ้นจากการถูกยุบพรรคเช่นกันใช่หรือไม่? เพราะแกนนำพรรคพลังประชาชนก็สามารถอ้างได้เช่นกันว่า ทางพรรคกำชับแล้ว-มีหนังสือเตือนให้ผู้สมัครทุกคนอย่าทำผิดกฎหมายเลือกตั้งแล้ว!?!
...ถ้าเหตุผลเพียงแค่นี้ก็ฟังได้ แล้วเราจะมีกฎหมายเอาผิดกรรมการบริหารพรรคเพื่อนำไปสู่การยุบพรรคทำไม ในเมื่อมีแล้ว “ไม่ได้ใช้” หรือ “ใช่ไม่ได้” เพราะตามไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมกลเกมของนักการเมืองแบบนี้!?!