xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันหลักของชาติ ภายใต้ระบอบมิจฉาทิฐิ

เผยแพร่:   โดย: ป.เพชรอริยะ

กระแสของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ตนและพวกพ้องฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายนี้จะหยิบยกเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 40 มาใช้ใหม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเผด็จการระบบกึ่งประธานาธิบดี (แยกอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร กับฝ่ายนิติบัญญัติออกจากกันเด็ดขาด ซึ่ง ส. ส. เป็นรัฐมนตรีไม่ได้) นี่คือใบสั่งของใคร หรือของนายใหญ่ แต่เรารู้ทัน แนวคิดนี้กำลังคิดบอนไซ โค่น ทำลายรากฐาน รากแก้วสถาบันหลักของชาติ

อีกฝ่ายหนึ่ง คือขบวนการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าดูผ่านเหมือนว่าจะดี แต่ก็ยังตกอยู่ในวังวนของลัทธิรัฐธรรมนูญเช่นเดิม

ก็อยากให้ทั้งสองฝ่ายพิจารณา วิจัย วิเคราะห์ อย่างรอบด้าน จนเกิดสติปัญญาเป็นสัมมาทิฐิ ร่วมมือร่วมใจผลักดันให้มีการสถาปนาหลักการปกครองโดยพระประมุขแห่งรัฐเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยมาคิดปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในหมวดและมาตราต่างๆ ให้สอดคล้องกับการปกครอง นี่คือการรักชาติอย่างถูกต้อง และสมควรที่จะได้รับการยกย่อง

รัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ รวมทั้งฉบับปัจจุบันไม่มีหลักการปกครอง ไม่มีแก่นสาร ไม่มีรากฐาน มีแต่ด้านวิธีการปกครองเพียงด้านเดียวได้แก่ หมวดและมาตราต่างๆ ส่วนการเลือกตั้ง ก็เป็นเพียงวิธีการอย่างหนึ่ง เป็นวิธีการขึ้นสู่อำนาจเท่านั้น วิธีการ มีลักษณะเป็นกลางๆ คือสามารถนำไปใช้ในระบอบอะไรก็ได้ เช่น ธรรมาธิปไตย ประชาธิปไตย เผด็จการคอมมิวนิสต์ เผด็จการในรูปแบบต่างๆ แต่เมืองไทยโคตรหลง (หลงยิ่งกว่าหลง, มิจฉาทิฐิยิ่งกว่ามิจฉาทิฐิ) กลับเข้าใจว่าการมีรัฐธรรมนูญก็ดี มีการเลือกตั้งก็ดี นี่คือระบอบประชาธิปไตย ไม่น่าเชื่อว่ามันหลงทางกันหมด

ขณะเดียวกันประเทศไทยใช้รูปการปกครอง (Form of Government) คือระบบรัฐสภา (Parliamentary System) จึงได้ชื่อว่าระบอบมิจฉาทิฐิระบบรัฐสภา หรือระบอบเผด็จการระบบรัฐสภา นั่นเอง

การที่ประเทศไทยไม่เคยมีหลักการปกครอง แต่กลับเอาวิธีการปกครอง (หมวดและมาตราต่างๆ) โดยผู้ปกครองเข้าใจว่า นี่คือหลักการปกครอง นี่คือความเข้าใจเป็นมิจฉาทิฐิอย่างใหญ่หลวง มันจึงล้มเหลว อย่างซ้ำซาก มันไม่มีความเป็นธรรมต่อปวงชนในประเทศ ทั้งสถาบันหลักของชาติ (ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์) สถาบันการเมืองการปกครองทุกระดับ องค์การ องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตกอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมิจฉาทิฐิ ซึ่งเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตาฝ่ายลบ อันเป็นสัมพันธภาพระหว่างปัจจัยเหตุกับผล แต่เป็นไปในลักษณะฝ่ายลบ หรือเป็นมิจฉาทิฐิ ดังนี้

สภาพการณ์ที่แท้จริงของประเทศไทย มันเป็นมิจฉาทิฐิ ดังกล่าวนี้ คุณธรรมอันยิ่งใหญ่จากสถาบันพระศาสนา, คุณธรรมอันยิ่งใหญ่จากสถาบันพระมหากษัตริย์ 3,000 กว่าโครงการ พลังคุณธรรมของคนดีในแผ่นดิน เมื่ออยู่ใต้ระบอบเผด็จการฯ ก็ไม่สามารถต้านทานเหตุความเลวร้ายจากระบอบมิจฉาทิฐินี้ได้ บุคคลสำคัญย่อมประจักษ์แก่ใจดี “ยิ่งทำประโยชน์ให้กับชาติและประชาชนมากมายเพียงใด แต่ผลที่ได้กลับเหลวต่อหน้าต่อตา” อุปมาดุจดัง “ปลาย่อมได้รับพิษร้ายจากน้ำเน่าฉันใด ปวงชนไทยทุกระดับชั้น ก็ย่อมจะได้รับพิษร้ายจากระบอบมิจฉาทิฐิ ฉันนั้น” พวกเราช่วยกันคิดแก้ไข ป้องกันไว้ก่อน ก่อนที่เลือดจะนองแผ่นดิน ในคราวหน้า

แนวทางที่จะเป็นสัมมาทิฐิในการสร้างระบอบการเมืองโดยธรรมและเป็นไปอย่างถูกต้องเพื่อปวงชนทั้งแผ่นดิน จะยังให้ประชาชนมีความสำนึกต่อประเทศชาติ ยังความเข้มแข็งและมีความมั่นคงอย่างยั่งยืนนั้น คือการจัดความสัมพันธ์ในการสร้างระบอบให้ครบองค์ประกอบทั้งส่วนที่เป็นหลักการปกครอง (Principle of Government) และส่วนที่เป็นวิธีการปกครอง (Methods of Government)

ในอีกนัยหนึ่ง หลักการปกครองแผ่โอบอุ้มครอบคลุมวิธีการปกครอง ส่วนวิธีการปกครองต้องขึ้นตรงต่อหลักการปกครองเสมอไป นี่สัมพันธภาพที่เป็นสัมมาทิฐิ ย่อมเป็นปัจจัยให้ระบอบการเมืองเกิดดุลยภาพ ย่อมเป็นเหตุปัจจัยส่วนย่อยต่างๆ ภายในชาติดำรงอยู่ดุลยภาพตามไปด้วยอย่างเป็นไปเอง แน่นอนย่อมเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและประชาชนร่วมกัน

การทำให้ประชาชนฉลาดรู้เท่าทันทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ และรวมทั้งสัมพันธภาพระหว่างประชาชนกับผู้ปกครอง และระหว่างประชาชนกับประชนด้วยกันเอง ภายใต้หลักการปกครองโดยธรรมเดียวกัน หรือมีจุดหมายเดียวกัน และมีมาตรฐานเดียวกัน ย่อมเป็นปัจจัยให้ประเทศชาติและประชาชนเข้มแข็ง

หากประเทศมีหลักการปกครองโดยธรรม เป็นธรรมต่อปวงชนทั้งแผ่นดิน ฉันใด วิธีการปกครองก็ย่อมจะมีความยุติธรรมต่อประชาชน ฉันนั้น

ระบอบ หรือหลักการปกครองที่เป็นธรรมนั้นเป็นอย่างไร? ก็ขอเสนอในเบื้องต้นโดยย่อที่สุด ดังนี้ (ซึ่งใครๆ ก็สามารถเสนอได้ รับรองได้ ถ้าเห็นว่าหลักการนั้นเป็นธรรม)

1. หลักธรรมาธิปไตย (ถือธรรมเป็นใหญ่ทั้ง 9 ข้อนี้ ด้วยสัจจะ ปัญญา เมตตา สันติ ขันติ)

2. หลักพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ (ถือพระมหากษัตริย์เป็นใหญ่)

3. หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน (ถือประชาชนเป็นใหญ่)

4. หลักบุคคลมีเสรีภาพบริบูรณ์ (ทางความคิดและทางการเมือง ไม่เลือกชนชั้นวรรณะ)

5. หลักความเสมอภาค (ประชาชนมีความเสมอภาคทางการเมือง, ทางโอกาส ไม่เลือกชนชั้นวรรณะ)

6. หลักภราดรภาพ (ไม่แบ่งศาสนา, ชนชั้นวรรณะ)

7. หลักเอกภาพ (สัมพันธภาพระหว่างเอกภาพ กับความแตกต่างหลากหลาย)

8. หลักดุลยภาพ (สัมพันธภาพระหว่างหลักการปกครอง กับ วิธีการปกครอง (หมวดและมาตราต่างๆ) สัมพันธภาพในมิติอื่นๆ นับแต่ กฎธรรมชาติ, คำสอนของพระพุทธเจ้า, ขันธ์ 5, ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ระบอบการเมือง กระทรวง กรม จังหวัด อำเภอ องค์กร องค์การต่างๆ เกิดดุลอย่างเป็นไปเอง

9. หลักนิติธรรม

อีกนัยหนึ่งหลักการปกครองทั้ง 9 นี้ แท้จริงก็คือหลักนิติธรรมโดยธรรม และสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกับลักษณะพิเศษของประเทศไทยซึ่งเหนือกว่าปรัชญาตะวันตก หลักการปกครองต้องเป็นหลักทั่วไปโดยมีรากฐานของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ครอบคลุมเหตุปัจจัยอื่นทั้งหมด ไม่เปลี่ยนแปลง มีความมั่นคงถาวรสูงสุด เป็นอำนาจธรรมที่ใหญ่กว่าอำนาจอื่นใดทั้งหมด

ส่วนวิธีการปกครองสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปส่วนรูปแบบการปกครองยังคงเป็นระบบรัฐสภาเหมือนเดิม

หลักการนี้ เมื่อได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นหลักการปกครอง ก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาเหตุวิกฤตชาติได้สำเร็จ และสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาอื่นๆ ให้ลุล่วงไปเป็นลำดับ เมื่อประชาชนได้รับทราบและจำหลักการทั้ง 9 ได้ จะทำให้ระบอบการเมืองสว่าง โปร่งใส ประชาชนเข้าใจได้ง่าย และประชาชนจะรู้ และฉลาดในความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งบุคคลต่อบุคคล และระหว่างบุคคลกับสังคมและการเมือง

นับแต่ พระปฐมบรมราโชวาท เมื่อเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ซึ่งได้พิสูจน์ประจักษ์เป็นจริง โดยพระราชจริยวัตร และพระราชกรณียกิจตลอดเวลากว่าครึ่งศตวรรษ พระมหากษัตริย์ของประเทศไทยนั้นยิ่งใหญ่ด้วยพระบรมเดชานุภาพ พวกเราพสกนิกรทั้งหลายควรจะได้เจริญรอยตาม

ผู้เขียนได้อัญเชิญ ก.ส. 9 ส.ค.ส. 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยไว้เมื่อปลายปีพุทธศักราช 2538 เป็นเวลาประมาณ 13 ปีล่วงแล้ว เห็นว่ายังทันสมัยตลอดไป จนกว่าประเทศไทยจะได้รับการแก้ไขปัญหาพื้นฐานชองชาติ อันเป็นเหตุแห่งวิกฤตทั้งปวงของแผ่นดินผ่านพ้นไปได้ ความว่า

“ตลอดปีเก่า โลกประสบปัญหานานาประการ คนต้องใช้มือเกาหัว สุนัขใช้เท้าเกา ลิงใช้ทั้งมือทั้งเท้า คนสมัยใหม่ใช้เครื่องสมองกล คนโบราณใช้เท้ามากรอง บางคนดีดลูกคิด (ทรงชี้สถานการณ์และเหตุปัจจัย) พูดอย่างนี้อาจสีซอให้ควายฟัง ขอให้ตีความให้แตก (ทรงให้ประชาชนคิดใช้สติปัญญาพิจารณา) เพื่อปัดเป่าอุปสรรค (ทรงให้ดำเนินแก้ไขเหตุของปัญหา) ถ้าดีดสีตีเป่าให้กลมกล่อม (ทรงให้รู้รักสามัคคี) ก็มีหวัง ผ่านพ้นปัญหาทั้งหลาย ขอจงมีความสุขความเจริญ ส.ค.ส. ปี 2539” (ทรงให้มีความสำเร็จสุขสมบูรณ์ถ้วนหน้า) “ทรงชี้สถานการณ์และเหตุปัจจัย (กฎอิทัปปัจจยตา) ทรงให้ประชาชนคิดใช้ปัญญาพิจารณา ทรงให้ดำเนินแก้ไขเหตุของปัญหา ทรงให้รู้รักสามัคคี ทรงให้มีความสำเร็จสุขโดยถ้วนหน้า”

.
กำลังโหลดความคิดเห็น