xs
xsm
sm
md
lg

อะไรคือมูลเหตุวิวัฒนาการของชาติโดยธรรม (5)

เผยแพร่:   โดย: ป.เพชรอริยะ

ในความเป็นรัฐสมัยใหม่อย่างแท้จริง สำหรับประเทศไทยแล้ว พระมหากษัตริย์ทรงมีภารกิจอันสำคัญยิ่งยวดที่จะทรงลืมไม่ได้ คือการสถาปนาหลักการปกครองโดยธรรม หรือระบอบการเมืองโดยธรรม อันเป็นสาระสำคัญยิ่งที่จะมอบให้ชาติ และเป็นศูนย์กลางสัมพันธ์ภาพระหว่างประชาชน

หลักการปกครองคือรากฐานแห่งความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงแห่งชาติเป็นกฎหมายสูงสุด (Supreme Law) ส่วนกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลัก (Principle Law) ไม่ใช่กฎหมายสูงสุดที่เข้าใจกันมาผิดๆ กฎหมายรัฐธรรมนูญไทย 18 ฉบับแล้วล้วนเป็นภัยต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และประชาชนทั้งสิ้น แล้วจะเป็นกฎหมายสูงสุดได้อย่างไร ขอให้คิดกันด้วยเหตุผล

ในอดีตประเทศที่พระมหากษัตริย์ทรงนำการแก้ปัญหาวิกฤตของชาติ ด้วยการเป็นผู้นำสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตย อันเป็นพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ โดยพระมหากษัตริย์ทรงมอบอำนาจซึ่งเป็นของพระองค์อยู่เดิมให้แก่ประชาชน

ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจสำเร็จ การสร้างประชาธิปไตยก็สำเร็จ แต่ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจไม่สำเร็จไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม การสร้างประชาธิปไตยย่อมล้มเหลว เพราะไม่มีวิธีการอื่นๆ ที่จะสร้างประชาธิปไตยให้สำเร็จได้ จะเห็นได้ชัดว่าการเมืองไทยจึงล้มเหลวมาตลอด และสภาพการณ์ปัจจุบัน มีความเห็นว่าการแก้ปัญหาเหตุวิกฤตชาติให้ตกไปนั้นมีทางเดียว คือองค์พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาการปกครองแบบธรรมาธิปไตยขึ้นเท่านั้น

ในอดีตวิธีการสร้างประชาธิปไตยในประเทศเอกราช ในเอเชียนั้นแตกต่างจากประเทศยุโรป ซึ่งมีคณะพรรค, ประชาชนลุกขึ้นช่วงชิงอำนาจจากพระมหากษัตริย์มาเป็นของตน แต่ในประเทศเอเชียที่เป็นเอกราช การสร้างประชาธิปไตยเป็นพระราชกรณียกิจ ตัวอย่างได้แก่ พระจักรพรรดิมัตสุฮิโตแห่งญี่ปุ่น ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมอบอำนาจให้ประชาชนสำเร็จ การสร้างประชาธิปไตยในญี่ปุ่นจึงสำเร็จ เป็นประเทศพัฒนาแล้ว และกลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยของโลก

พระเจ้ากว่างสูแห่งประเทศจีน ขึ้นครองราชย์ ปี พ.ศ. 2418 ทรงวางแผนสร้างประชาธิปไตย แต่ถูกพระนางสูสีไทเฮา พระมารดาจับไปขังและตรอมใจตายในที่กักขัง ต่อมาแม้ว่าพรรคก๊กมินตั๋งจะได้อำนาจ ในท้ายที่สุดก็มิอาจสร้างประชาธิปไตยได้สำเร็จ ได้แต่สร้างการปกครองระบอบเผด็จการระบบประธานาธิบดีขึ้น จนกระทั่งถูกพรรคคอมมิวนิสต์ยึดอำนาจเปลี่ยนประเทศจีนเป็นคอมมิวนิสต์มาจนบัดนี้

พระมหากษัตริย์ไทย ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจสร้างประชาธิปไตยมาพร้อมๆ กับพระจักรพรรดิญี่ปุ่น โดยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินการเปลี่ยนแปลงสร้างประชาธิปไตยเป็นลำดับมา ได้สืบทอดโดยสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และกำลังใกล้จะสำเร็จในรัชสมัยสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงกำหนดจะมอบอำนาจให้แก่ประชาชนในเดือนเมษายน พ.ศ. 2475 แต่ถูกยึดอำนาจ ช่วงชิงอำนาจไปสร้างระบอบปริมิตาญาสิทธิราชย์ ขึ้นในแผ่นดิน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 สร้างระบอบมิจฉาทิฐิฝังหัวคนไทย นับแต่ชนชั้นสูง-นักการเมือง ให้ตกเป็นทาสทางความคิดจนยากที่จะแก้ไข คือ “ให้เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญ ระบบรัฐสภา การเลือกตั้ง คือระบอบประชาธิปไตย” เรื่อยมาจนบัดนี้ เป็นจริงโดย สมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงกล่าวไว้ว่า “การปกครองมิจฉาทิฐิจะเสี่ยงภัยและเสียเวลา” อย่างไม่จบสิ้น

เมื่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ด้วยเกิดอุปสรรคดังกล่าวแล้ว การสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทยจึงได้ล้มเหลวตลอดมากว่า 75 ปีแล้ว ประเทศไทยตกอยู่ในลัทธิความเชื่อแบบเผด็จการรัฐประหาร และเผด็จการระบบรัฐสภา โดยมีรัฐธรรมนูญ (หมวดและมาตราต่างๆ) เป็นศูนย์กลางแห่งมิจฉาทิฐิ บิดเบือน ครอบงำประเทศไทยมาตลอด ทั้งนักวิชาการ พรรคการเมือง นักการเมือง นักการทหาร เพี้ยนกันไปหมด อำนาจอธิปไตยของปวงชนกลายเป็นอำนาจอธิปไตยเป็นของนายทุนบางกลุ่มเพียงหยิบมือเดียว อำนาจอธิปไตยมิได้ตกเป็นของปวงชนในเชิงรูปธรรมหรือในทางปฏิบัติ

ในสภาพการณ์ปัจจุบันการสร้างประชาธิปไตยตามลัทธิแนวคิดตะวันตก ย่อมไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศชาติและสังคมโลกที่เปลี่ยนไปอย่างสลับซับซ้อน และเมื่อมองไปข้างหน้าระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก ไม่เหมาะอย่างยิ่งกับลักษณะพิเศษของสังคมไทยในยุคกาลปัจจุบันและอนาคต กาลที่ผ่านมากว่า 75 ปีพิสูจน์ชัดอยู่แล้ว

จึงมีวิธีการเดียวที่จะแก้ปัญหาเหตุวิกฤตของชาติอันเป็นเหตุแห่งวิกฤตทั้งปวง เพื่อความมั่นคงแห่งชาติอย่างยั่งยืน ก็คือการที่องค์พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาหลักการปกครองธรรมาธิปไตย โดยมีธรรมและแก่นแท้ของชาติเป็นหลักการปกครอง ทั้งนี้โดยมีพระอริยเจ้าทั้งหลายสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นระบอบการเมืองที่ก้าวหน้ากว่าระบอบอื่นใดในโลก ทั้งสอดคล้องกับวิถีชีวิตของปวงชนไทย ดังคำกล่าวที่ว่า “ทศพิธราชธรรมของพระมหากษัตริย์ สู่การสร้างสรรค์รัฐธรรมาธิปไตยของปวงชน” แม้หลายฝ่ายบอกว่าเป็นไปไม่ได้ มันสายไปเสียแล้ว

ผู้รู้ทั้งหลายพิสูจน์แล้วว่าเป็นไปได้ และเป็นไปอย่างถูกต้องโดยธรรม อันจะยังประโยชน์อันยิ่งแก่ปวงชนไทยทุกคน และเราก็จะพยายามๆ และจะพยายามต่อไป เราถือว่าไม่มีอะไรที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่าการผลักดันความถูกต้อง อันเป็นแก่นแท้ของชาติให้เกิดขึ้นได้สำเร็จ

การนำกฎเกณฑ์แห่งธรรมมาเป็นหลักการพิจารณา จะเห็นชัดว่าการจัดความสัมพันธ์ของรัฐธรรมนูญไทยทั้งอดีตและปัจจุบันทั้ง 18 ฉบับ ไม่เคยมีหลักการปกครอง มีแต่หมวด กับ มาตราต่างๆ จึงเป็นรัฐธรรมนูญมิจฉาทิฐิ สืบทอดความเป็นมิจฉาทิฐิมาอย่างยาวนานโดยมิได้ฉุกคิด

ปวงชนไทยทุกคนสามารถเสนอ หลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 อันมาจากรากฐานของการวิปัสสนามาอย่างดีแล้ว และได้จัดความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันใน 3 ลักษณะคือ

1. ความสัมพันธ์แห่งชีวิตระหว่างสภาวะนิพพาน กับ ขันธ์ 5

2. ความสัมพันธ์ของกฎธรรมชาติระหว่างสภาวะอสังขตธรรม กับ สภาวะสังขตธรรม เมื่อทั้ง 2 เป็นหนึ่งเดียวกัน จึงได้นำมาประยุกต์เป็นหลักการปกครองธรรมาธิปไตย ในข้อที่ 3

3. ความสัมพันธ์ระหว่างหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 กับ รัฐธรรมนูญ (หมวดและมาตราต่างๆ)

หลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 ได้แก่ (1) หลักธรรมาธิปไตย (2) หลักพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ (3) หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน (4) หลักเสรีภาพบริบูรณ์ (5) หลักความเสมอภาค (6) หลักภราดรภาพ (7) หลักดุลยภาพ (8) หลักเอกภาพ (9) หลักนิติธรรม

มีความเห็นในดำเนินการโดยย่อ ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9

ขั้นตอนที่ 2 รัฐบาลปรับปรุงกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในหมวดและมาตราต่างๆ ให้สอดคล้อง หรือไม่ให้ขัดกับหลักการปกครองทั้ง 9 หมายความว่า หมวดและมาตราต่างๆ จะต้องขึ้นต่อหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 เสมอไป

การจัดความสัมพันธ์อย่างถูกต้องโดยธรรม ประเทศไทยก็จะได้รัฐธรรมนูญสัมมาทิฐิที่สะท้อนหลักการปกครองธรรมาธิปไตย ก็จะกลายเป็นรัฐธรรมนูญธรรมาธิปไตย ซึ่งสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกับกฎธรรมชาติ กล่าวคือ หลักธรรมาธิปไตย 9 เป็นด้านหลักการปกครองและเป็นด้านเอกภาพที่ไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสัมพันธภาพระหว่างปวงชนไทย ส่วนด้านหมวด และมาตราต่างๆ เป็นด้านวิธีการปกครอง อันมีความแตกต่างหลากหลายที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมของสังคมที่จะเปลี่ยนแปลงไป และเมื่อทำสำเร็จในขั้นตอนนี้แล้ว ให้ดำเนินการในขั้นตอนที่ 3

ขั้นตอนที่ 3 ปรับปรุงกฎหมาย พระราชบัญญัติต่างๆ ให้สอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่าไม่ยากเลย ทำสำเร็จจะสามารถขจัดปมเงื่อนเหตุแห่งความเลวร้ายต่างๆ ในแผ่นดินให้สิ้นไป ทั้งเป็นการเชิดชูเสริมสร้างพระบรมเดชานุภาพแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย บนรากฐานแห่งอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้แข็งแกร่งมั่นคงยั่งยืนโดยธรรม

รวมทั้งได้บรรลุพระราชภารกิจพระมหากษัตริย์บรมราชจักรีวงศ์
รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และบรรลุพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ว่า “...ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป...” และเพื่อบรรลุพระปฐมบรมราชโองการของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เป็นโดยสมบูรณ์

การที่องค์พระมหากษัตริย์ ทรงสถาปนาระบอบการปกครองธรรมาธิปไตย นอกจากเป็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ มั่นคงยั่งยืนแก่พระราชอาณาจักรไทยแล้ว ยังจะก่อให้เกิดจุดเริ่มต้นแห่งอารยธรรมใหม่ของโลก เป็นแบบอย่างของการอยู่ร่วมกันโดยไม่เบียดเบียน ได้กระจายแผ่กว้างออกไปสู่มวลมนุษยชาติเพื่อสันติภาพโลกถาวรต่อไป

มีคำถามว่าถ้า... พระมหากษัตริย์ทรงลืมภารกิจอันยิ่งยวด หรือถูกขัดขวางไม่ให้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันยิ่งยวด ในการสถาปนาหลักการปกครองโดยธรรม เราจะทำกันอย่างไรดี
กำลังโหลดความคิดเห็น