xs
xsm
sm
md
lg

3 แพทย์รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ยกย่องพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

3 แพทย์ ผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ซาบซึ้ง ประทับใจในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยกย่องพระราชกรณีกิจพระมหากษัตริย์ของไทย ที่ทำเพื่อประชาชน พร้อมเตรียมรับพระราชทานรางวัล พรุ่งนี้ ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม

เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (29 ม.ค.) ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทร์ คณบดีแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล พร้อมคณะผู้บริหารให้การต้อนรับผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ประจำปี 2550 ในสาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.ดร.อักเซล อูลล์ริช ผู้พัฒนาเทคนิคการรักษาโรคมะเร็งแบบใหม่ และในสาขาสาธารณสุข ได้แก่ ศ.นพ.เบซิล สจ๊วต เฮทเซล ผู้ผลักดันโครงการแก้ไขปัญหาขาดสารไอโอดีนระดับโลก และ นพ.ซานดุ๊ก รูอิท ผู้พัฒนาวิธีการผ่าตัดต้อกระจกแบบไม่ต้องเย็บ และผลิตเลนส์ตาเทียม ที่มีราคาถูกกว่าการนำเข้าถึง 50 เท่า ช่วยให้ผู้ป่วยจำนวนมากเข้าถึงการรักษา โดยทั้ง 3 ท่าน ได้แสดงปาฐกถาพิเศษในผลงานที่ได้รับรางวัล พร้อมเตรียมรับพระราชทานรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ในวันที่ 30 ม.ค.นี้

ทั้งนี้ ผู้ได้รับรางวัลทั้ง 3 ได้วางพวงมาลาถวายบังคมพระราชนุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และวางพวงมาลัยถวายบังคมพระราชานุสารีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจสมเด็จพระบรมราชชนก ที่ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 ซึ่งมีการจัดแสดงสิ่งของส่วนพระองค์และของที่ระลึกที่หาชมได้ยาก

นพ.ซานดุ๊ก รูอิท กล่าวว่า ในการเข้ารับพระราชทานรางวัลจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในครั้งนี้รู้สึกภาคภูมิใจและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างมาก ซึ่งตนได้ศึกษาพระราชประวัติของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในด้านการแพทย์ โดยได้ยึดเป็นแบบอย่างในการทำงานเพื่อประชาชน

“ผู้เป็นแพทย์ย่อมรู้สึกสงสารคนไข้ และอยากให้คนไข้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือมีความสุขมากที่สุด เช่นเดียวกับพระบรมราชชนกที่ทรงเสียสละพระองค์ ทิ้งชีวิตความเป็นอยู่สุขสบาย เลิศหรู อุทิศพระวรกายทรงงานหนักช่วยเหลือประชาชน คนไข้ที่ยากไร้ ซึ่งการเข้ารับพระราชทานรางวัลในครั้งนี้ รู้สึกเป็นเกียรติและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างมาก” นพ.ซานดุ๊ก กล่าว

ด้าน ศ.ดร.อักเซล อูลล์ริช ผู้อำนวยการสถาบันชีวเคมีมักซ์ลังค์ สหพันธรัฐเยอรมนี ผู้ได้รับรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลในสาขาการแพทย์ กล่าวว่า รู้สึกประทับใจในพระมหากษัตริย์ของไทยที่ทำเพื่อประชาชน และดีใจที่ได้รับรางวัลนี้ ในอนาคตเชื่อว่า จะได้มีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกับแพทย์ในประเทศไทยมากขึ้น โดยแพทย์ในประเทศไทย ถือว่ามีความรู้ความสามารถที่จะร่วมงานวิจัยกับโครงการต่างๆ ในต่างประเทศได้อีกมาก

ศ.ดร.อักเซล กล่าวต่อว่า สำหรับแรงบันดาลใจที่คิดค้นงานวิจัยดังกล่าวขึ้น เป็นเพราะความอยากรู้อยากเห็น สำหรับการเข้าถึงยาราคาแพงนั้น การวิจัยยาแต่ละชนิดต้องใช้เวลานาน และใช้งบประมาณมหาศาล แต่เมื่อบริษัทยาต่างๆ ให้ความสนใจและทุ่มเทในการวิจัยมากขึ้น เชื่อว่าราคายาจะมีราคาถูกลง และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น

“ในอนาคตการพัฒนาเทคนิครักษาโรคมะเร็ง ยารักษาต่างๆ มีแนวโน้มพัฒนาเพิ่มมากขึ้น และมีจำนวนผู้ศึกษาวิจัยเพิ่มมาขึ้นตามไปด้วย ซึ่งส่งผลดีทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงยาได้มากขึ้นโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีฐานะยากจน เพราะจะมียาหลากหลายชนิดวางจำหน่ายตามท้องตลาด เมื่อมีคู่แข่งมาก ราคาก็จะถูกลงมากขึ้น” ศ.ดร.อักเซล กล่าว

ด้าน ศ.นพ.เบซิล สจ๊วต เฮทเซล ประธานเกียรติคุณสภาการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนนานาชาติ ประเทศออสเตรเลีย ผู้ได้รับรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลในสาขาสาธารณสุข กล่าวถึงผลงานการขจัดความพิการทางสมองจากการขาดไอโอดีนให้หมดสิ้นในประชาคมโลก ว่า เป็นเพราะความต้องการให้คนไข้หายจากการป่วย และกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ที่ผลักดันให้ต้องรณรงค์ให้คนกินไอโอดีนโดยผสมสารไอโอดีนลงในเกลือ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโรคที่ต้องใช้การรณรงค์รูปแบบเดียวกันนี้ เช่น ขาดวิตามินเอ มีผลกระทบต่อดวงตา และผิวหนัง หรือโลหิตจาง ที่ต้องเสริมธาตุเหล็ก และวิตามินอื่นๆ ลงในอาหารเช่นเดียวกัน

“แม้การแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขของประชาชน จะไม่หวือหวามากนัก ไม่เหมือนกับโรคร้ายแรงอย่างมะเร็ง หรือโรคติดต่ออื่นๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่แพทย์ควรจะทำเพราะมีประโยชน์อย่างมาก เช่น งานวิจัยในเรื่องโรคมาลาเรีย ที่ไม่ค่อยมีบริษัทยาทำการศึกษา ซึ่งประเทศไทย มีบุคลากรและศักยภาพมากเพียงพอ ซึ่งนักวิจัยควรให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคติดต่ออย่างมาลาเรีย” ศ.นพ.เบซิล กล่าว

สำหรับผู้เข้ารับรางวัลทั้ง 3 ราย โดย ศ.ดร.อักเซล อูลล์ริช นั้น เป็นผู้นำด้านการศึกษากลไกหลักของการเกิดเซลล์มะเร็ง และที่สำคัญ เป็นผู้บุกเบิกการพัฒนาวิธีการรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า ซึ่งถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการรักษาโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพสูงและมีความปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากยารักษานี้ไม่ส่งผลร้ายต่อเซลล์ปกติ ทำให้ผลข้างเคียงในการรักษาโรคมะเร็งลดลง

ขณะที่ ศ.นพ.เบซิล สจ๊วต เฮทเซล เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงผลของการขาดสารไอโอดีนที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะต่อการพัฒนาของสมอง รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการรณรงค์แก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนระดับโลกและ นพ.ซานดุ๊ก รูอิท เป็นผู้พัฒนาวิธีการผ่าตัด ต้อกระจกแบบที่ไม่ต้องเย็บ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยต้อกระจกในพื้นที่ห่างไกลได้จำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการผลิตเลนส์ตาเทียม ที่มีคุณภาพสูงขึ้น โดยนำไปใช้ในประเทศกำลังพัฒนา เริ่มที่ประเทศเนปาล โดยเลนส์ที่ผลิตขึ้นมีราคาถูกกว่าเลนส์ตาเทียมที่นำเข้าถึง 50 เท่า ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากสามารถเข้าถึงการรักษาโดยวิธีการดังกล่าว

สำหรับพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในวันที่ 30 ม.ค.2551 เวลา 16.30 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรางวัล และในเวลา 19.00 น.จะพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัล ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม

อนึ่ง รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ถือเป็นรางวัลระดับโลกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์ แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 ม.ค.2535 ในการดำเนินงานของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมป์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน โดยมอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลจะได้รับเหรียญรางวัลประกาศนียบัตร และเงินมูลค่า 50,000 เหรียญสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น