xs
xsm
sm
md
lg

ทรงยกย่อง 3 นายแพทย์เจ้าฟ้ามหิดล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน -พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล แก่ผู้ทำประโยชน์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทรงยกย่องเป็นแบบอย่างอันงดงามของบุคคลผู้ทำความดี เพื่อความดี เพราะผลงานอันยิ่งใหญ่ที่ทุกคนได้อุตสาหะ ศึกษาวิจัยและนำไปปฎิบัติจนประจักษ์ผลนั้น ได้ยังประโยชน์อันไพศาล ให้แก่ชนทุกชั้นทั่วทุกส่วนของโลกด้านผู้รับพระราชทานรางวัลเผยภูมิใจที่ได้รางวัล เทิดพระเกียรติพระบรมราชชนกทรงเป็นแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์

เมื่อเวลา 17.38 น. วานนี้ (30 ม.ค.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มายังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2550 ครั้งที่ 16 โดยมีผู้เข้ารับพระราชทานรางวัล จำนวน 3 คน จากผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้งสิ้น 69 ราย จาก 35 ประเทศ

โดยผู้เข้ารับพระราชทานรางวัล สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.ดร.อักเซล อูลล์ริช(Professor Dr.Axel Ullrich) ผู้อำนวยการสถาบันชีวเคมีมักซ์พลั้งค์(Max Planck Institute of Boichemistry) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผู้บุกเบิกและพัฒนาวิธีการรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า และเป็นผู้คิดค้นยาต้านยีนส์มะเร็งเต้านมที่เรียกว่า “เฮอร์เซพติน” หรือ ทราสตูวูแม็บ (Herceptin or Trastuzumab)

สาขาสาธารณสุข จำนวน 2 คน ได้แก่ ศ.นพ.เบซิล สจ๊วต เฮทเซล (Professor Basil Stuart HetZel) ประธานเกียรติคุณ สภาการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนนานาชาติ ประเทศออสเตรเลีย ผู้มีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้ความเข้าใจคิดค้นการขาดสารไอโอดีนที่มีผลต่อสุขภาพมนุษย์ รวมถึงรณรงค์ป้องกันและแก้ไขโรคขาดสารไอโอดีน และ นพ.ซานดุ๊ก รูอิท (Dr.Sanduk Ruit) ผู้อำนวยการศูนย์จักษุทิลกานกา (Tilganga Eye Centre) ประเทศเนปาล ผู้พัฒนาวิธีการผ่าตัดต้อกระจกแบบไม่ต้องเย็บ ใช้เวลาผ่าตัดน้อย แต่มีประสิทธิภาพสูง และราคาถูก โดยผู้ได้รับพระราชทานรางวัล จะได้รับเหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัลมูลค่า 50,000 เหรียญสหรัฐ

ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำรัส ความว่า การปฎิบัติพัฒนางานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขนั้น กว่าจะประสบผลสำเร็จน่าชื่นชมได้ จำเป็นต้องมีการศึกษา ค้นคว้าและวิจัย รวมทั้งนำสิ่งที่ค้นพบมาปรับใช้ให้บังเกิดผล เป็นประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติได้จริง ผู้ทำงานด้านนี้จึงต้องมีความพากเพียร มีศรัทธาและเจตนาที่มั่นคง อีกทั้งต้องมีความรู้ ความสามารถ มีความเสียสละและมีเมตตา กรุณาต่อเพื่อนมนุษย์เป็นอย่างสูง

จึงขอแสดงความนิยมยกย่องอย่างจริงใจ กับศ.อักเซล อูลล์ริช ศ.นพ.เบซิล สจ๊วต เฮทเซล และนพ.ซานดุ๊ก รูอิท ที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในครั้งนี้ และเต็มใจยินดีที่จะกล่าวด้วยว่า ผู้ที่ได้รับรางวัลทั้งหลายนับเป็นแบบอย่างอันงดงามของบุคคลผู้ทำความดี เพื่อความดีโดยแท้ เพราะผลงานอันยิ่งใหญ่ที่ทุกคนได้อุตสาหะ ศึกษาวิจัยและนำไปปฎิบัติจนประจักษ์ผลนั้น ได้ยังประโยชน์อันไพศาล ให้แก่ชนทุกชั้นทั่วทุกส่วนของโลก

ด้าน ศ.ดร.อักเซล กล่าวว่า ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ การค้นคว้าและวิจัยค้นพบสิ่งใหม่ๆ ถือเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน ซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จในการค้นคว้าที่มีประสิทธิภาพเป็นประโยชน์ในทางการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันโรคมะเร็งเต้านมมีผู้ป่วยจำนวนมาก แต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่ 1.5 ล้านคน และผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 10 ล้านคนทั่วโลก ซึ่ง 1 ใน 7 ของผู้หญิงทั่วโลกมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้

“มีความภาคภูมิใจกับรางวัลที่ได้รับ ซึ่งตลอดระยะเวลาการทำงาน 25 ปี มีความประทับใจในการค้นคว้ายารักษามะเร็งเต้านมสำเร็จ 2 ชนิด”ศ.ดร.อักเซล กล่าว

ขณะที่ นพ.ซานดุ๊ก กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้รับพระราชทานรางวัลสำเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และประทับใจในพระจริยวัตร วิธีการปฏิบัติของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งนอกจากทรงเป็นแพทย์แล้วยังเป็นแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ สำหรับโรคต้อกระจก แต่ละปีมีผู้ป่วยที่ต้องตาบอดจาโรคนี้ประมาณ 20 ล้านคน ทั้งที่เป็นโรคที่สามารถรักษาหายได้ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตา แต่เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่ยากจนไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้

“วิธีการผ่าตัดใหม่ ไม่เพียงช่วยให้แพทย์สามารถผ่าตัดผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น และมีค่าใช่จ่ายไม่แพงเหมือนวิธีเดิม แต่ยังเป็นการปรับวิธีการรักษาของแพทย์ทั้งระบบไปพร้อมๆ กัน ซึ่งที่ผ่านมาผมได้ทำงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศของออสเตรเลีย ช่วยฝึกอบรมเทคนิคการรักษาใหม่นี้ให้กับแพทย์มากถึง 60 ประเทศทั่วโลก”นพ.ซานดุ๊ก กล่าว

ศ.นพ.เบซิล กล่าวว่า ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับรางวัลนี้มาก่อน เพียงแต่มีโอกาสที่ได้ทำงานเรื่องการขาดสารไอโอดีนเป็นเวลาหลาย 10 ปี และมีโอกาสทำงานในประเทศไทยมานาน 30 ปีแล้ว ซึ่งไทยก็มีการพัฒนาที่ดีมาก ซึ่งการขาดสารไอโอดีน นอกจากจะทำให้ป่วยเป็นโรคคอพอกแล้วยังส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองด้วย คือเป็นโรคเอ๋อ ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีประเทศที่มีปัญหาขาดสารอาหารจำนวน 130 ประเทศ มีผู้ป่วยกว่า 2,000 ล้านคน แม้ว่าจะทำงานด้านนี้มาหลายปีแล้วแต่ก็ยังมีความท้าทายที่จะทำให้หญิงตั้งครรภ์และเด็กได้รับสารไอโอดีนครบถ้วน

จากนั้นเวลา 20.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัล และภรรยา ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม

อนึ่ง รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ถือเป็นรางวัลระดับโลกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์ แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 ม.ค.2535 ในการดำเนินงานของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมป์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน โดยมอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น