xs
xsm
sm
md
lg

ปั่นราคาข้าวทะลุ 1,000 เหรียญ คนไทยแห่ตุนฉุดข้าวถุงวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน/รอยเตอร์ - ราคาข้าวขาว 5% ของไทย ที่ถือเป็นมาตรวัดราคาข้าวของโลก พุ่งขึ้นมากกว่า 5% จนทะลุระดับตันละ 1,000 ดอลลาร์ เป็นการสร้างสถิติราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ขึ้นมาใหม่เมื่อวานนี้ ขณะที่ความวิตกกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหารซึ่งตอนแรกเริ่มชุดชนวนขึ้นมาโดยผู้ส่งออกข้าวทางแถบเอเชียไม่กี่ราย กำลังแผ่ขยายไปไกลจนถึงสหรัฐฯแล้ว นักวิชาการชี้มีการปั่นเก็งกำไร คนไทยหวั่นราคาพุ่งไม่หยุด จนทำให้ข้าวถุงขาดแคลน “ยรรยง” ยอมรับข้าวหายไปบ้าง เพราะคนซื้อมากขึ้น แต่รับประกันเดือนหน้าจะไม่มีปัญหาเช่นนี้อีก หลังคุยผู้ผลิต ห้าง และโรงสีแล้ว ผู้ผลิตข้าวถุงยันบรรจุถุงขายเต็มที่ แค่เม.ย.เดือนเดียวทำเพิ่ม 58% หรือกว่า 2.8 ล้านถุง


ราคาข้าวในเวลานี้ เท่ากับเพิ่มขึ้นเกือบเป็น 3 เท่าตัวของราคาตันละ 383 ดอลลาร์เมื่อต้นเดือนมกราคม ทำให้ยิ่งเพิ่มความหวาดผวาว่าจะเกิดความไม่สงบทางสังคมและการจลาจลด้านอาหารขึ้นในเอเชีย ซึ่งประชาชนผู้ยากจนเป็นล้านๆ ต้องดิ้นรนยิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก เพื่อให้มีรายได้เพียงพอซื้อหาสินค้าจำเป็นพื้นฐานสำหรับชีวิต

การที่ราคาน้ำมันและอาหารทะยานขึ้นลิบลิ่ว ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนเห็นว่ามีสาเหตุจากการหาซื้ออย่างตื่นตระหนกทั้งของผู้บริโภคและของรัฐบาลประเทศต่างๆ มากกว่าเป็นเพราะซัปพลายเกิดการขาดแคลนอย่างรุนแรงจริงๆ จนถึงเวลานี้ได้จุดชนวนให้เกิดการจลาจลขึ้นในแอฟริกาและประเทศเฮติ ซึ่งอยู่ทางอเมริกากลาง ทว่ายังไม่ถึงกับเกิดขึ้นในเอเชีย

เฉพาะความหวาดกลัวเรื่องข้าวขาดแคลนนั้น เริ่มต้นจากการที่อินเดียประกาศในปีที่แล้วลดการส่งออก เพื่อให้มีหลักประกันว่าซัปพลายข้าวภายในประเทศยังจะมีจำนวนเพียงพอและราคาไม่สูงลิ่ว มาถึงสัปดาห์นี้วิกฤตคราวนี้ก็เป็นที่รู้สึกกันถึงในสหรัฐฯแล้ว เมื่อพวกผู้ค้าปลีกรายยักษ์ๆ ต่างออกมาตรการรับมือกับสิ่งที่เป็นสัญญาณของการแห่กว้านซื้อด้วยความตื่นตกใจ

แซมส์ คลับ ซึ่งเป็นกิจการหนึ่งในเครือของ วอล-มาร์ต ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกอันดับหนึ่งของสหรัฐฯและของโลก แถลงในวันพุธ(23)ว่า จะจำกัดให้ลูกค้าแต่ละรายซื้อข้าวบรรจุถุงขนาดถุงละ 9 กิโลกรัมได้ไม่เกินคราวละ 4 ถุง เพื่อป้องกันการซื้อไปกักตุน

ก่อนหน้านั้น 1 วัน คอสต์โค โฮลเซล คอร์ป ที่เป็นคู่แข่งของแซมส์ คลับ ก็ระบุว่าพบเห็นลูกค้าไล่ซื้อสินค้าจำพวกข้าวและแป้งอย่างมากมายผิดปกติ ซึ่งคงเนื่องจากกังวลกับภาวะสินค้าอาหารขาดแคลนทั่วโลก จึงมาซื้อไปเก็บไว้ก่อน

ข้าวไทยทะลุตันละพันดอลลาร์

สำหรับในกรุงเทพฯ รอยเตอร์ได้สอบถามจากผู้ส่งออกรายใหญ่ 5 รายพบว่า ราคาข้าวขาว 5%ของไทย มีการเสนอขายกันระหว่าง 1,000-1,080 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เพิ่มขึ้นจาก 950 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

เป็นที่คาดหมายกันว่า ราคาข้าวไทยที่เป็นมาตรวัดราคาตลาดโลกชนิดนี้อาจจะไปถึง 1,300 ดอลลาร์ต่อตันทีเดียว สืบเนื่องจากฟิลิปปินส์ ผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลก ยังไม่สามารถหาซื้อข้าวได้มากตามที่ต้องการ หลังจากสัปดาห์ที่แล้วจัดการประมูลซื้อข้าวจำนวน 500,000 ตัน ทว่ามีผู้เสนอขายรวมเป็นจำนวนราว 325,750 ตันเท่านั้น

ฟิลิปปินส์ประกาศวานนี้ว่า ในการจัดประมูลซื้อครั้งต่อไปวันที่ 5 พฤษภาคม จะเพิ่มจำนวนรับซื้อจากที่ 500,000 ตันที่กำหนดไว้เดิม เป็น 675,000 ตัน

นอกจากนั้นวงการค้าข้าวยังมีเครื่องหมายคำถามอันใหญ่มหึมาต่อ อิหร่าน และ อินโดนีเซีย สองประเทศที่ปกติแล้วจะซื้อข้าวไทยอยู่ทุกปีโดยอาจซื้อมากถึง 1 ล้านตันทีเดียว ทว่าเท่าที่ผ่านมาในปีนี้ยังไม่ได้มาซื้ออะไรทั้งสิ้น เนื่องจากราคาซึ่งทะยานลิบลิ่ว

เกี่ยวกับเรื่องนี้ มารี เปงเกสตู รัฐมนตรีพาณิชย์ของอินโดนีเซีย ให้สัมภาษณ์วานนี้ว่า ประเทศของเธอสามารถสนองความต้องการเรื่องข้าวภายในประเทศในปีนี้ได้แล้ว เนื่องจากการเก็บเกี่ยวได้ผลดีมาก รวมทั้งมีมาตรการในการลดการส่งออก อีกทั้งมีมาตรการอุดหนุนช่วยเหลือคนจนในเรื่องข้าวอย่างได้ผล

ถึงแม้นักวิเคราะห์บางคนบอกว่า ราคาข้าวในตลาดโลกซึ่งขึ้นลิ่วๆ เช่นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความกังวลใจของรัฐบาลผู้นำเข้า มากกว่าเรื่องปัจจัยพื้นฐาน แต่กระนั้นบรรดาผู้ส่งออกรายยักษ์ของไทยก็มองว่า โลกเวลานี้มาถึงยุคของอาหารราคาแพงแล้ว

“ราคาจะยังคงยืนได้มั่นคงอย่างนี้ไปจนตลอดทั้งปีนี้” นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวกับรอยเตอร์

ไทยสัญญาไม่จำกัดส่งออก

บราซิลกลายเป็นประเทศล่าสุดที่ประกาศจำกัดการส่งออกข้าว โดยกระทรวงเกษตรบราซิลประกาศเรื่องนี้ในวันพุธ ซึ่งเป็นการก้าวตามหลังอินเดีย ตลอดจนเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ยังคงแถลงย้ำว่าจะไม่มีการใช้มาตรการแบบนี้ พล.ต.ต.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อผู้สื่อข่าวที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ระหว่างติดตาม นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ไปเยือนมาเลเซียเมื่อวานนี้ว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจำกัดการส่งออกข้าวไทย เพราะในช่วงอีกสองสามเดือนข้างหน้า ข้าวใหม่ก็จะออกมาแล้ว และไทยยังมีข้าวในสต็อกเพียงพอสำหรับให้คนไทยบริโภคและสำหรับการส่งออกตามข้อตกลงที่เราได้ไปลงนามไว้

ก่อนหน้านี้ องค์การระหว่างประเทศอย่างเช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และพวกสนับสนุนเรื่องการค้าเสรี ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ประเทศที่งดหรือลดการส่งออกข้าว ว่าเป็นปฏิกิริยาที่แรงเกินเหตุ และจะเป็นการบิดเบือนตลาด

เมื่อวันพุธ กรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรป ปีเตอร์ แมนเดลสัน ได้กล่าวที่โตเกียวว่า องค์การการค้าโลก (WTO)ควรจะออกแรงกดดันประเทศที่ผลิตอาหารให้ยังคงส่งออกต่อไป

“หากว่าเราจำกัดการซื้อขาย เราก็จะต้องเพิ่มปัญหาอาหารไม่พอเพียงเข้าไปในวิกฤตอาหารที่ประเทศหลายแห่งกำลังประสบอยู่ในเวลานี้” แมนเดลสันกล่าวในการสัมภาษณ์ “องค์การการค้าโลกนั้นเป็นตัวแทนของแนวคิดการค้าเสรี จึงจำเป็นจะต้องเพิ่มแรงกดดันและพยายามทำให้เกิดการลดภาษีนำเข้าเพื่อกระตุ้นการค้าให้ได้ องค์การการค้าโลกควรจะยืดหยัดต่อสู้กับการจำกัดการส่งออกในทุกรูปแบบไม่ว่าจะใช้กำแพงภาษีหรือวิธีการอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลทำให้การค้าเสรีด้านอาหารและสินค้าเกษตรอื่นๆ ชะงักงันไป” เขากล่าว

เตือนฟองสบู่ราคาข้าว

ด้าน นายนิพนธ์ พัวพงศกร คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้นจนผิดปกติ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการธัญพืชที่ใช้เป็นพลังงานทดแทน ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับประเทศจีนและอินเดียมีการบริโภคเนื้อสัตว์กันมาก จึงใช้ธัญพืชเหล่านี้สำหรับการเลี้ยงสัตว์ด้วย ขณะเดียวกัน ความต้องการที่เพิ่มขึ้น ยังเป็นผลมาจากกลุ่มประเทศในแถบแอฟริกา มีระดับรายได้ดีขึ้น จึงหันมาบริโภคข้าวกันมากขึ้น จนทำให้ผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ

นายนิพนธ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจัยที่ผลักดันราคาข้าวสูงขึ้นอีกประการ มีสาเหตุมาจากการที่นักลงทุนนำเงินทุนมาเก็งกำไรในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ากันมากขึ้น ทำให้ราคาข้าวเกิดความผันผวน อาจมองได้ว่าเป็นภาวะฟองสบู่ราคาข้าว แต่เป็นการผันผวนชั่วคราว ในอนาคตจึงมีโอกาสที่ราคาจะอ่อนตัวลง เพราะว่าผลผลิตรอบใหม่ของเวียดนามกำลังจะออกมา แต่ว่าก็จะไม่ลดลงมากเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

พาณิชย์การันตีข้าวถุงเดือนหน้ามีพอ

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการหารือกับสมาคมค้าปลีกไทย สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย และสมาคมโรงสีข้าวไทย เพื่อแก้ไขปัญหาข้าวถุงขาดแคลน วานนี้ (24 เม.ย.) ว่า ผู้ผลิตข้าวถุงได้ยืนยันว่าข้าวถุงที่ผลิตและจัดส่งให้กับร้านค้าปลีกรายใหญ่จะไม่มีการขาดแคลนอย่างแน่นอน โดยในเดือน เม.ย.นี้ ได้มีการผลิตข้าวถุงเพิ่มขึ้นจากประมาณ 2 ล้านถุงเป็น 2.84 ล้านถุง เพิ่มขึ้น 58% และในเดือน พ.ค.จะผลิตเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกันนี้ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ

ทั้งนี้ ปัญหาข้าวถุงขาดแคลนที่ผ่านมา เกิดจากการปรับตัวของร้านค้าปลีกในเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือให้ปรับระยะเวลาการจ่ายเงิน และลดกำไรหลังร้านลง จึงต้องมีการปรับในเรื่องราคาใหม่ มีปัญหาด้านการขนส่งและกระจายสินค้า เนื่องจากมีการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น และมีปัญหาที่ประชาชนบางส่วนมีการซื้อข้าวเพิ่มขึ้น จากการประเมินว่าราคาข้าวจะมีราคาแพงขึ้น ขณะที่ผู้ใช้ข้าว เช่น ร้านอาหาร ภัตตาคาร มีการซื้อมากขึ้น เลยทำให้ข้าวในร้านค้าปลีกหมดไว และดูเหมือนจะขาดแคลน

“คนมาซื้อข้าวในร้านค้าปลีกรายใหญ่มากขึ้น เพราะราคาถูกกว่าข้าวที่ขายข้างนอกประมาณ 10% โดยสัดส่วนการซื้อขายข้าวในห้างกับข้าวนอกปัจจุบันอยู่ที่ 30% ต่อ 70% พอราคาข้าวข้างนอกสูง คนก็แห่กันมาซื้อในห้าง เลยทำให้ข้าวในชั้นวางของห้างช่วงที่ผ่านมาหายไป แต่หลังจากที่คุยกันแล้ว ตั้งแต่ต้นเดือนหน้าข้าวจะมีวางขายตามปกติ และเพิ่มขึ้น” นายยรรยงกล่าว

นายยรรยง กล่าวว่า ในด้านราคาข้าวจะเป็นไปตามกลไกตลาด แต่ยืนยันได้ว่าราคาในห้างจะถูกกว่าข้างนอกอย่างแน่นอน โดยราคาขายจะถูกกว่าราคาข้างถุง ส่วนกรณีที่ประชาชนเห็นสติกเกอร์ติดข้างถุงโดยปิดทับราคาเดิมนั้น ไม่ใช่การปรับราคาที่ไม่มีเหตุผล แต่เป็นการปรับราคาตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เป็นไปตามสถานการณ์ เพราะการจะปรับเปลี่ยนถุงในทันที มีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งกรมฯ ได้มีการตรวจสอบแล้ว และเห็นว่าไม่ผิดปกติอะไร

สำหรับสถานการณ์การผลิตข้าวถุงของผู้ผลิตยี่ห้อสำคัญๆ เช่น มาบุญครอง เดือนมี.ค.ผลิต 2.35 แสนถุง เพิ่มเป็น 4 แสนถุงในเดือนเม.ย. ตราฉัตร จาก 2.9 แสนถุง เพิ่มเป็น 4.4 แสนถุง หงษ์ทอง จาก 2.8 แสนถุง เป็น 4 แสนถุง แสนดี จาก 6.4 แสนถุง เป็น 8 แสนถุง เบญจรงค์ จาก 1.8 แสนถุง เป็น 3 แสนถุง และตราเกษตร จาก 3.6 แสนถุง เป็น 5 แสนถุง ขณะที่ร้านค้าปลีกรายใหญ่ มีการจำหน่ายข้าวถุง โดยเทสโก้ โลตัส ขาย 1.2 ล้านถุงต่อเดือน บิ๊กซี 6 แสนถุง คาร์ฟูร์ 3.5 แสนถุง แมคโคร 3.5 แสนถุง และท๊อปส์ 1.2 แสนถุง

นายสมฤกษ์ ตั้งพิรุฬห์ธรรม นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวว่า การที่ข้าวถุงขาดแคลน ทั้งๆ ที่ผู้ผลิตบรรจุข้าวถุงเพิ่มในเดือนเม.ย.ถึง 58% หรือรวมกันกว่า 2.8 ล้านถุง เพราะราคาจำหน่ายในห้างถูกกว่าข้างนอกเฉลี่ยถุงละ 30 บาท ตามนโยบายของรัฐบาลที่ขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตช่วยลดราคาเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค ประกอบกับเป็นข้าวสต๊อกเก่า จึงขายราคาถูกได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ร้านข้าวแกง ร้านอาหาร ภัตตาคาร และร้านข้าวสารข้างนอกแห่มาซื้อข้าวในห้างไปเก็บไว้ ดังนั้น จะต้องจัดระเบียบราคาข้าวในห้างและนอกห้างใหม่ให้ใกล้เคียงกัน จากปัจจุบันที่มีส่วนต่างถึง 10% ส่วนราคาจะเป็นอย่างไรยังบอกไม่ได้ เพราะมีหลายปัจจัย

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ในการหารือกันครั้งนี้ ได้มีการพูดคุยกันว่าปัญหาข้าวถุงขาดแคลน นอกจากข้าวในห้างมีราคาถูกกว่าข้างนอก และทำให้คนมาซื้อมากขึ้น ยังเกิดจากคนมีความกังวลว่าราคาข้าวในอนาคตจะเพิ่มสูงขึ้น เลยทำให้คนเพิ่มปริมาณการซื้อ ซึ่งทางห้างได้ระบุเองว่า ปกติครอบครัวจะซื้อ 1-2 ถุง มาขณะนี้ซื้อเพิ่มเป็น 5-6 ถุง หรือมากกว่า

“มิ่ง” คุยโวชาวนารวย

นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตีและรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า เร็วๆ นี้ จะเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการข้าวและพลังงาน เพื่อรองรับวิกฤติข้าวและพลังงานโลกแพง หลังจากได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการดูแลไม่ให้ประชาชนในประเทศได้รับความเดือดร้อน โดยยืนยันคนไทยทั้งประเทศจะต้องมีข้าวกินอย่างพอเพียงโดยจะบริหารจัดการการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศให้สมดุล ที่สำคัญราคาข้าวในประเทศต้องไม่แพงเกินที่รับได้ ส่วนเกษตรกรขณะนี้ได้รับอานิสงส์จากข้าวแพงอย่างมาก เพราะมีเงินใช้ซื้อรถปิกอัพ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ ขณะเดียวกัน ยังใช้คืนหนี้ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นจำนวนมาก

ชาวนาสวน “มิ่ง” ยังไม่รวย

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ตอนนี้ชาวนาเกิดปัญหาโรคใบจุด บางพื้นที่มีปัญหาเพลี้ยระบาด จึงทำให้ผลผลิตน้อยลง เหลือประมาณ 55 ถังต่อไร่ ดังนั้น แม้ว่าราคาจะอยู่ในระดับสูงแต่ว่าผลผลิตกลับได้น้อยลง ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร

“ทางสมาคมฯเห็นว่ารัฐบาลควรนำข้าวในสต๊อกที่มีอยู่ 2.13 ล้านตัน ระบายออกมาขายจะทำให้มีกำไรถึง 20,000 ล้านบาท น่าจะแบ่งมาตั้งกองทุนและวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวซักประมาณ 5,000 ล้านบาท” นายกสมาคมชาวนาระบุ

ผู้ส่งออกอ้างได้กำไร US 1 /ตัน

ขณะที่ นายวิชัย ศรีประเสริฐ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่มีการกล่าวกันว่า ราคาข้าวที่สูงขึ้นผู้ส่งออกได้กำไรเยอะแต่ตกถึงเกษตรกรน้อย ว่า ผู้ส่งออกขายข้าวสารได้กำไรเพียง 1 เหรียญสหรัฐต่อตันเท่านั้น แต่ว่าผู้ส่งออกส่งออกคราวละหลายๆ ตันจึงได้กำไรมาก แต่ที่มองว่าเกษตรกรไม่ค่อยได้กำไร ก็เป็นเพราะว่าพื้นที่การปลูกข้าวของไทยเฉลี่ยต่อคนยังน้อยมาก จึงมองว่ามีกำไรน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ส่งออก

นายวิชัย ยังระบุด้วยว่า ถึงแม้ว่าต่างประเทศจะมีความต้องการข้าวไทยเป็นอย่างมาก เสนอให้กำไรมากถึง 5 เหรียญสหรัฐต่อตัน และมีแรงจูงใจให้ขายข้าวล่วงหน้ากันมาก แต่ปัญหาคือผู้ส่งออกไม่มีข้าวที่จะขาย เพราะโรงสีไม่ยอมขายข้าวให้กับผู้ส่งออก เพราะมีการคาดการณ์ว่าในอนาคตราคาข้าวจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่.
กำลังโหลดความคิดเห็น