xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตข้าวแพง

เผยแพร่:   โดย: สุวิชชา เพียราษฎร์

ในวงสนทนาของคนทุกระดับขณะนี้ ‘ข้าวแพง’ เป็นหัวข้อเรื่องที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดคุยกันด้วยความถี่ชนิดที่ละครน้ำเน่า หรือเรื่องการเมืองกลายเป็นประเด็นรองไป

ทางหนึ่ง ‘กินไป บ่นไป’ ออกแนวประชดประชัน หลายคนบอก หากราคาข้าวยังแพงอยู่เช่นนี้ ‘สงสัยต้องกินเผือก กินมัน แทนแล้วมั้ง’

ทางหนึ่ง วิเคราะห์ถึงสถานการณ์อย่างจริงจังแล้วตั้งคำถามในเชิงว่า ใครได้ใครเสีย? ก่อนขมวดปมต่อท้ายด้วยว่า เชื่อมือรัฐบาลชุดนี้จะแก้ปัญหาได้หรือไม่?

แง่มุมนี้ตามทัศนคติของผู้บริโภคทั้งหลายเท่าที่ได้ยินมา ข้อแรก ไม่มีใครเชื่อว่า ชาวนาจะได้ประโยชน์เต็มที่จากสถานการณ์นี้ อย่างมากอาจ ‘มีรายได้เพิ่มขึ้น’ แต่คงไม่ถึงขั้นร่ำรวย ลืมตาอ้าปากได้ตามคำโอ้อวดของนักการเมืองที่ขี่กระแส

นั่นเพราะว่า ‘ต้นทุน’ ของการปลูกข้าวแตกต่างไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิงแล้ว ค่าใช้จ่ายต่อไร่ ต่อแปลงสูงลิบ ไหนจะค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรง ค่าเครื่องจักรกล ค่าขนส่ง ค่านายหน้า เบ็ดเสร็จหักลบกลบหนี้แล้วเหลือไม่เท่าไหร่

ข้อสอง ไม่มีใครเชื่อมั่นว่า รัฐบาลชุดนี้จะควบคุมดูแลสถานการณ์ ‘ข้าวยาก หมากแพง' เช่นนี้ได้ เพราะแสดงเจตนาชัดเจนว่า วาระการเมือง เพื่อนาย และพรรคพวกเหนือกว่าวาระปากท้องประชาชน!!

วิเคราะห์ไปวิเคราะห์มา ทุกคนเหมือนต่างก้มหน้าก้มตายอมรับสภาพ จำนนต่อภาวะที่เป็นไปอย่างสิ้นหวัง สถานการณ์ข้าวแพงจนกลายเป็น ‘วิกฤต’ นำความทุกข์ส่งผลกระทบมากกว่าน้ำมันแพงเสียอีก

น้ำมันแพง ยังพอมีทางเลือก ตั้งหลักปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง ประหยัดขึ้น หรือจะโดยสารขนส่งมวลชน แต่ข้าวเป็นอาหารหลักที่ต้องบริโภค ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไร แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรที่ทดแทนข้าวได้ ตั้งแต่ปีใหม่มานี้ ราคาข้าวขยับสูงขึ้นรายวัน เรียกได้ว่า เปลี่ยนแปลงผันผวนจนไม่อาจคาดการณ์แนวโน้มได้ว่าจะเป็นเช่นไร

เหตุผลผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญในวงการข้าว อธิบายในทางเศรษฐศาสตร์อย่างหยาบๆ ได้ว่า เป็นเรื่องของ ‘กลไกตลาด’ อุปสงค์ และอุปทาน มีคนต้องการซื้อมากกว่าจำนวนหรือปริมาณข้าวที่มีอยู่ โดยเฉพาะ ความต้องการของต่างประเทศ

การประมูลข้าวครั้งล่าสุด ประเทศบางประเทศที่นำเข้ารายใหญ่ถึงกับสู้ราคาอย่างบ้าเลือด

ราคาที่สูง โอกาสแสวงหากำไรมหาศาลนี้จึงเป็นโอกาสทองของพ่อค้าคนกลางและผู้ส่งออก การกักตุน หรือพยายามกว้านข้าวเข้าสต๊อกเพื่อป้อนให้กับตลาดส่งออกจึงดีกว่าจะนำออกมาขายในประเทศ

ผลที่ตามมาก็คือ ราคาขายในประเทศพุ่งขึ้น คนไทยที่เป็นประเทศส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลกกลับบริโภคข้าวแพงระยับไม่ด้อยไปกว่าประเทศที่สั่งข้าวไทยไปบริโภค

หากลองเข้าไปค้นข้อมูลของกรมการค้าภายใน พบว่า ราคาขายส่งข้าว หรือราคาขายทั่วไป ซึ่งกำหนดความชื้นไว้ไม่เกิน 14% เป็นราคาตามตัวอย่างที่ผู้ส่งออกหรือผู้ค้าส่งรับซื้อจากโรงสีหรือซื้อผ่านนายหน้า (หยง) ผ่านมาถึงตลาดนั้น แค่ 4 เดือน ประเภทข้าวที่คนส่วนใหญ่ซื้อหาไปบริโภคขึ้นราคาไปถึง 100%!

ต้นปี (2 ม.ค. 2551) ข้าวขาว100% ชั้น 1 ข้าวใหม่ราคาอยู่ที่ 1,350-1,360 บาทต่อ100 กก. ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ข้าวใหม่เช่นกันอยู่ที่ 1,310-1,320 บาทต่อ100 กก. ข้าวขาว 5% ข้าวใหม่ขายที่ 1,260-1,265 บาทต่อ100 กก. และข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 ข้าวใหม่เคยอยู่ที่ 2,060-2,070 บาทต่อกก.

ถึงเดือนเมษายน(4 เม.ย. 2551) ข้าวขาว100% ชั้น 1 ข้าวใหม่ราคาขึ้นมาอยู่ที่ 2,750-2,755 บาทต่อ100 กก. หรือเพิ่มขึ้น103.70-102.57% ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ข้าวใหม่ 2,650-2,655 บาทต่อ100 กก. เพิ่มขึ้น 102.29-101.13% ข้าวขาว 5% ข้าวใหม่ แพงขึ้นเป็น 2,600-2,605 บาทต่อ100 กก. เพิ่มขึ้น106.34-105.92% และข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 ข้าวใหม่ขยับสูงขึ้นมาเป็น 3,185-3,190 บาทต่อกก. เพิ่ม 54.61-54.10 บาทต่อกก.

เห็นๆ กันว่า ข้าวยุคนี้ราคาติดปีกขยับตัวรวดเร็วแค่ไหน!!

เหล่านี้ไม่นับข้าวบรรจุถุง (5 กก.) ซึ่งครัวเรือนส่วนใหญ่ที่อาศัยในเขตเมืองนิยมซื้อหากันซึ่งเปอร์เซ็นต์การเพิ่มขึ้นก็ไม่แพ้กัน

ประเด็นข้าวแพงหรือไม่อย่างไรคงต้องเป็นหัวข้อที่จะถูกพูดกันต่อไปกันอีกยาว...

ย้อนมาดูมาตรการแก้ไขของกระทรวงพาณิชย์ ที่หลายฝ่ายพากันส่ายหน้า เพราะท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้น ยังมองไม่เห็นความหวังอันใดเลย

ความจริง ‘มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์’ น่าจะจดจำบทเรียนการแก้ปัญหาหมูแพงแบบผลีผลามไม่ศึกษาข้อมูลโดยถ้วนถี่มาใช้กับข้าว แต่ไม่! เขายังชอบวิธีการ ‘ตีปิ๊บ’ โปรโมตผลงานโดยจับมือกับห้างแถลงต่อหน้าสื่อมวลชนครึกโครมตามถนัด ซึ่งพอเอาเข้าจริงก็บ้อท่า

การเก็งกำไร กักตุนข้าว ยังดำเนินต่อไป การตื่นตระหนกต้องซื้อตุนๆ เดี๋ยวราคาแพงขึ้นไปอีกของผู้คนจนเกิดภาวะ ‘ข้าวถุง’ ขาดตลาดเวลานี้เป็นข้อพิสูจน์

จากวันที่ 8 เมษายน ที่ ‘มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์’ เรียกสมาคมโรงสีข้าว ผู้ประกอบการข้าวถุง และ ห้างค้าปลีกรายใหญ่อีกหลายเจ้า ทุบโต๊ะเริ่มต้นมาตรการอย่างขึงขังว่า ข้าวถุงต้องลดราคาให้ได้ 3-10% ภายใน 1 สัปดาห์ และประกันจะไม่มีปัญหาภาวะขาดแคลนแน่นอน

วันนี้ 2 สัปดาห์ล่วงเลย...ข้าวถุงนอกจากจะไม่ลดราคา ราคายังเพิ่มไปเรื่อยๆ แถมที่บอกว่า ไม่ขาดแคลนนั้น ขณะนี้ข้าวถุงที่วางขายตามห้างสรรพสินค้า และร้านค้ากลายเป็น ‘ของหายาก’ ไปเรียบร้อย

ฝ่ายผู้ประกอบการข้าวถุงบอกว่า ห้างค้าปลีกยังไม่ยอมลดค่ากำไรหลังร้าน (แบ็กมาร์จิ้น)ที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการ 3-10% ตามที่รับปาก รมว.ไว้

ขณะที่ห้างก็โยนความผิดไปที่พ่อค้าคนกลางที่ขายข้าวถุง ว่า เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มเดียวกับพ่อค้าที่ส่งออกข้าว ตอนนี้กำลังกักตุนข้าวรอขายแพงๆ ในตลาดนอก เรื่องอะไรจะยอมขนข้าวมาขายในราคาถูกภายในประเทศ

เชื่อใครดีล่ะ ฯพณฯ มิ่งขวัญ !!

*******

ท่านผู้อ่านสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ที่ เอ็มบล็อก http://mblog.manager.co.th/suwitcha67 หรือ E-mail suwitcha@manager.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น