xs
xsm
sm
md
lg

ล้ม รธน. ม.309 อุ้ม“แม้ว” ชู คปค.ตั้ง คตส.มิชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะทำงานแก้ไข รธน.รัฐบาล ชงแก้ 5 มาตรา เปิดทาง “ทักษิณ” สู้คดี ยกเหตุประกาศ คปค.ตั้ง คตส.มิชอบ แถม คตส.มีสิทธิถูกฟ้อง ขณะเดียวกันสามารถนิรโทษกรรม 111 อดีต กก.บห.ทรท.ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองได้ ส่วน ม.237 แก้ประเด็น กก.บห.ทำผิดไม่โยงยุบพรรค ด้าน กก.ยกร่าง รธน.พปช.เสนอแก้ 18 ประเด็น ส่วน “จักรภพ” หนุนแก้ทั้งฉบับ เผยจะได้บทสรุปในการประชุม พปช.วันนี้ รองอธิการบดี มธ. ชี้หากปลิดทิ้ง ม.309 จะเกิดปัญหาการตีความ และช่วงเวลาการมีผลบังคับใช้

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคร่วมรัฐบาล เปิดเผยภายหลังการประชุมกว่า 4 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมมีมติให้ยกเลิก รัฐธรรมนูญ มาตรา 309 แต่ไม่ได้หมายความว่า ไปยกเลิก ประกาศและคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) แต่การรับรองความชอบของรัฐธรรมนูญในประกาศและคำสั่งของ คปค.ได้ถูกเลิกไปโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนได้เสีย ทั้งหลายสามารถต่อสู้ได้ หรือหยิบยกประเด็นต่างๆ ขึ้นมาพิจารณาในศาลได้ว่าประกาศคำสั่งทั้งหลายเป็นไปตามระบบนิติรัฐหรือไม่ อาจจะสร้างความไม่เสมอภาค เลือกปฎิวัติหรือไม่ ซึ่งเป็นสาระของรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น ผู้ที่ถูกกระทำสามารถต่อสู้ได้ว่าประกาศ คำสั่งและการกระทำตามประกาศและคำสั่ง ไม่ชอบโดยให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงปรับปรุงมาตรา 190 กล่าวคือการทำสนธิสัญญาใดๆ ให้เหมือนเดิมถ้ามีผลในเรื่องสำคัญต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ระบุว่าต้องเปิดเผยหลักการสาระบางสิ่งของการไปเจรจาตกลงและให้รับฟังความคิดเห็นต่างๆ ตรงจุดนี้เราเห็นว่าจะทำให้รัฐบาลหรือประเทศทำอะไรได้ลำบาก และอาจเสียเปรียบต่างประเทศทำให้เขารู้ล่วงหน้าว่าเราจะเจรจากับเขาอย่างไร อย่างไรก็ตามจะยังคงหลักการเดิมไว่ว่า ถ้าสัญญาต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนสียหาย เสียเปรียบหรือได้รับความเดือดร้อนรัฐก็ต้องแก้ไขเยียวยาโดยไม่ทิ้งหลักการนี้

ส่วนมาตรา 266 ได้ตัดข้อความบางสิ่งบางอย่างออกเพื่อให ้ส.ส. เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในสิ่งที่เป็นประโยชน์ของประชาชนและสาธารณะ หรือ เพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนให้สามารถทำได้โดยไม่ถือว่า เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง การปฏิบัติหน้าที่ราชการ

สำหรับมาตรา 237 มีมติให้ยกเลิกบางประเด็นโดยสรุปง่ายๆคือหลักการเรื่อง การยุบพรรค เราถือว่าการเขียนรัฐธรรมนูญที่บอกว่า "ให้ถือว่า" การกระทำฝ่าฝืนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ฝ่าฝืนระเบียบของ กกต. แล้วไปเขียนว่าให้ถือว่าการกระทำพวกนี้เป็นการให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง ที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ความพวกนี้เราตัดออกเพราะการ "ให้ถือว่า" เช่นนี้เป็นครั้งแรกที่มีการบัญญัติขึ้นในรัฐธรรมนูญ และถือว่าเป็นการเหมารวมเพราะการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง มีมากมายกายกอง การฝ่าฝืนระเบียบก็มีเป็นจำนวนมาก แต่การไปเหมาหมดให้ถือว่าได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องไม่เป็นธรรม ต้องตัดออก

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ยังคงยืนยันหลักการเรื่องการยุบพรรคยังมีอยู่ แต่ให้เป็น ไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเดิมคือมี 2 เหตุ 1.กระทำการล้มล้าง การปกครองในระบอบประชาธิปไตย 2. กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง โดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ สองประการนี้คือเหตุยุบพรรคไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

“แต่ตัดคำว่าให้ถือว่าพรรคการเมืองกระทำผิดออก โดยให้ถือว่า เป็นเรื่องของบุคคล แต่หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง ที่มีส่วนร่วมหรือมีส่วนรู้เห็นไม่ระงับยับยั้ง ไม่แก้ไข หัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบรหารพรรคการเมืองท่านนั้นสามารถถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้ โดยสรุปคือการยุบพรรคการเมืองโดยวิธีการให้ถือว่าเราตัดออก แต่พรรคการเมืองก็ยังคงมีส่วนรับผิดชอบ สามารถยุบพรรคได้แต่ต้องชัดเจน ต่างจากของเดิมที่ยุบพรรคก่อนแล้วมาเพิกถอนสิทธิยกเข่ง”

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการเสนอกฎหมายโดยพี่น้องประชาชนซึ่งเดิม ให้เสนอได้เฉพาะในหมวดที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพเราเห็นว่าไม่มีความจำเป็นอะไร ต้องไปจำกัดไว้เฉพาะตรงนั้นจึงขอเพิ่มเติมแก้ไขว่า ต่อไปนี้พี่น้องประชาชนสามารถ เสนอกฎหมายได้ทุกเรื่องไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นกฎหมายในหมวดนั้นหมวดนี้เท่านั้น

“ทั้งหมดมี 5 ประเด็นที่ขอเสนอแก้ไขและมอบให้ฝ่ายเลขานุการยกร่าง เมื่อเสร็จแล้วจะนำร่างที่ยกแล้วไปให้พรรคการเมืองที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลดู ในการประชุมของแต่ละพรรค เมื่อดูแล้วเห็นสมควรว่าใช้ได้ ท้ายสุดก็มายกร่างฉบับสมบูรณ์ ขั้นตอนต่อไปก็เข้าชื่อนำเสนอประธานวุฒิสภาต่อไป โดยการเข้าชื่อให้เป็นเรื่องของ ส.ส.”

คตส.มีสิทธิถูกฟ้องหากเลิก ม.309

นายชูศักดิ์กล่าวว่า ในปรเด็นการยกเลิกมาตรา 309 ที่ประชุมบางส่วนเห็นว่า ไม่น่าจะยกเลิกทั้งมาตรา แต่ให้เขียนให้ชัดเจนแต่เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรยกเลิกทั้งมาตรา

ผู้สื่อข่าวถามว่า การยกเลิกมาตรา 309 เหมือนจะเป็นคุณต่อผู้ที่ถูกคตส. ตรวจสอบอยู่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้พยายามย้ำกับสื่อมาตลอดว่า การยกเลิก มาตรานี้ความหมายคือ คนที่ถูกฟ้องเป็นผู้ต้องหา เป็นจำเลย สามารถยกขึ้นเป็น ข้อต่อสู้ได้ หรือคำสั่งทั้งหลายทั้งปวงที่ออกมาบังคับไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

สวนจะเป็นการเปิดทางให้ผู้ที่โดนสอบสามารถฟ้องร้อง คตส.ได้ใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เขาก็มีสิทธิที่จะต่อสู้ฟ้องร้องถ้าคิดว่าไม่ผิด เมื่อถามว่าจะนำไปสู่ความวุ่ยวายหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าสิ่งที่อนุวิป หรือ วิปรัฐบาลทำอยู่ในขณะนี้ ขอเรียนว่าชี้แจงได้ไม่ได้ทำเพื่ออะไรทั้งหลายทั้งปวง

“ขอเรียนว่าเบื้องหลังของมาตรา 309 เป็นเทคนิคของคนเขียนกฎหมาย เอาประสบการณ์จาก รสช.ที่ศาลฎีกายกฟ้องมาเขียนไว้ในมาตรา 309 นี่เรียนอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเรามองว่าการเขียนเช่นนี้ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม สมควรมีการแก้ไข เปิดโอกาสให้เขาต่อสู้คดีได้ หยิบยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาลได้ มาตรา 309 ที่เขียนว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญเป็นการปิดปาก”

เลิก ม.309 ปูทางนิรโทษ 111 ทรท.

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทันสมัยประชุมนี้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ยื่นทันก่อนปิดสมัยประชุมแน่นอนเพราะตั้งใจว่าอย่างน้อยที่สุดสัปดาห์หน้าจะยื่นต่อประธานวุฒิสภา เมื่อถามว่าในภาพรวมจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะฟังเสียงประชาชนต่อการแก้กฎหมายซึ่งอาจจะเป็นการทำประชาพิจารณ์ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ความจริงการจัดทำประชาพิจารณ์ควรเป็นเรื่องทั้งฉบับ ซึ่งขณะนี้วิปรัฐบา ลไม่ได้ปิดโอกาส อย่างไรก็ตาม จะแถลงให้ประชาชนทราบว่าที่ ยกเลิก แก้ไข ปรับปรุงเพราะอะไร โดยทำออกมาเป็นตาราง

ส่วนประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า จะมีกฎหมายที่เป็นไปตามหลักนิติธรรมมากขึ้น เมื่อถามว่า การยกเลิกมาตรา 309 เป็นการปูทางให้นิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรคไทยรักไทย 111 คน หรือไม่เพราะการตัดสินเป็นไปตามประกาส คปค.และจะมีการฟ้องภายหลังว่าประกาศ คปค. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ก็ถูก เขามีสิทธิต่อสู้ว่าประกาศทั้งหลายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ถ้ามีคดีขึ้นเขาก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ก็สุดแต่องค์กร ที่ทำหน้าที่วินิจฉัย อาจจะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ แต่ไม่ใช่ว่ามาปิดปากไม่ให้ต่อสู้อะไรไม่ได้เลย เพราะมาตรา 309 บอกว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหมด

ผู้สื่อข่าวถามว่ามาตรา 237 จะทันต่อการเยียวยาพรรคการเมืองที่กำลังจะถูกยุบหรือไม่ นายชูศักดิ์ กลาวว่า เรามองว่าจะแก้ไขยกเลิก ส่วนทันหรือไม่เป็นคนละประเด็นกัน เราเป็นผู้นำเสนอที่เหลือเป็นเรื่องของรัฐสภา

กก.ยกร่าง พปช.ชงแก้ 18 มาตรา

ด้าน นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ ส.ส.ระบบสัดส่วน พรรคพลังประชาชน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ตนในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการยกร่างฯที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นประธาน เพื่อให้ไปร่างรัฐธรรมนูญ ในมาตราที่เห็นว่าจะต้องมีการแก้ไขเพื่อยื่นให้ คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) และที่ประชุมใหญ่พรรคพลังประชาชนพิจารณาหาข้อสรุปนั้น ขณะนี้ได้ยกร่างเสร็จแล้ว

นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า มีประเด็นที่เห็นว่าต้องมีการแก้ไขรวม 18 ประเด็น ที่มีการศึกษาตั้งแต่ช่วงการรณรงค์โหวตโน ซึ่งตนได้ส่งให้วิปรัฐบาลพิจารณาแล้ว จากนั้นวิปรัฐบาลมีมติอย่างไรพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 6 พรรคก็จะนำมติที่ได้เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของ ส.ส.ในพรรค คาดว่าในวันที่ 1 เม.ย.จะได้ข้อยุติ

นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดในมาตรา 309 นั้น ตนได้ร่างไว้ หลายแนวทาง อาทิ ตัด ม.309 ทิ้งทั้งหมด และร่างข้อความในวรรค 2 เพิ่มเพื่ออธิบาย รายละเอียดให้ชัดเจนมากขึ้น ส่วนมาตรา 237 นั้นมีการแก้ไขให้ความผิดยังคงอยู่ แต่จะให้เป็นความผิดเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเฉพาะบุคคลที่กระทำผิดจริง

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ระบุว่า เมื่อได้อ่านหมาก 2 ชั้นแล้วไม่ขัดที่จะแก้ไขมาตรา 309 นั้นนายสมัครหมายถึงอะไร นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีระบุเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพราะเมื่ออ่านมาตรานี้อย่างลึกซึ้งก็จะพบเงื่อนงำ อยู่หลายชั้น เป็นหมากที่มี 2 ชั้น 3 ชั้น เรื่องนี้ฝ่ายกฎหมายพรรคได้อธิบายให้นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว

ส่วนหากมีการแก้ไขมาตรา 309 ประกาศ คปค. ทุกฉบับจะถือว่าเป็นอันสิ้นสุด ด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เรื่องการแต่งตั้ง คตส.นั้น นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า การรับรองประกาศ คปค.มีในกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2549 แล้ว ซึ่งโดยหลักการเขียนกฎหมายนั้นไม่จำเป็นต้องรับรองในรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็ได้ เว้นแต่เป็นเรื่องที่ขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ส่วนจะส่งผลผลต่อ คตส.หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่จะต้องลงลึกไปในรายละเอียด ซึ่งจะมีการพิจาณากันต่อไป

นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าส่วนตัวเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตามที่นักวิชาการเสนอเพราะเชื่อว่านักวิชาการเหล่านั้นมีความรักประเทศ ไม่ได้เข้าข้างหรือถือหางใคร รู้ดีว่าบ้านเมืองมีปัญหาจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราก็รับฟัง ทั้งนี้รายละเอียดจะเป็นอย่างไรต้องมาพิจารณากันอีกที อย่างไรก็ตาม ในการประชุมพรรคพลังประชาชน วันนี้ (1 เม.ย.) คงจะได้ข้อสรุปว่าแก้ไขมาตราใดบ้าง

ตัด ม.309 มีปัญหาการตีความ

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ของพรรคพลังประชาชน และนายกรัฐมนตรี คงต้องการตัดปัญหาไม่ต้องตีความการทำงานของ คตส. หรือการทำงานของ องค์กรต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามประกาศ คปค. คือมีไว้เพื่อกันเหนียวนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 มาตรา 36 รับรองการกระทำ คำสั่ง ประกาศที่เกิดจาก คปค.อยู่แล้ว อะไรที่เกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญ 2550 จบไปแล้ว เพราะถูกทำให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 แล้ว แต่เมื่อมีมาตรานี้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เป็นปัญหาในทางหลักการกฎหมายว่า เป็นการนิรโทษกรรมเหตุที่จะเกิดในอนาคตด้วย จุดนี้ตนและนักนิติศาสตร์หลายคนเคยออกมาคัดค้านว่า มาตรานี้ไม่ควรมี

นายปริญญา กล่าวว่า เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ให้มีมาตรา 309 และมาตราดังกล่าวมีผลบังคับใช้มาระยะหนึ่ง แต่ปัจจุบันฝ่ายการเมืองต้องการจะแก้ไข ก็เป็นปัญหา โดยต้องดูว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมให้มีเงื่อนไขอย่างไร สมมติว่า ตัดทิ้งทั้งมาตรานี้ โดยไม่เพิ่มอะไรเลย ก็เป็นปัญหาการตีความว่า สิ่งที่ชอบตามรัฐธรรมนูญ 2550 จะกลายเป็นไม่ชอบหรือไม่ และจะมีผลตั้งแต่วันที่ตัด หรือ มีผลย้อนไปถึงวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 เพราะอย่างการทำงานของ คตส. เป็นการกระทำที่สืบเนื่องมา ก็จะเป็นช่องทางให้ฝ่ายถูกที่กล่าวหา ใช้จุดนี้สู้คดี

“สมมติว่าตัดทิ้งทั้งมาตรา โดยไม่มีการเพิ่มอะไรเลย ก็จะเป็นปัญหาการตีความและช่วงเวลาการมีผลบังคับใช้ โดยแบบแรกคือ ตัดแล้วไม่มีผลอะไร เพราะการดำเนินการทุกอย่างที่ผ่านมาถูกทำให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 แล้ว คดีที่คตส.ทำมา ทุกอย่างก็จะดำเนินการต่อไป แบบสอง คือ คดีที่ คตส.ทำและอยู่ในศาลแล้วก็อยู่ต่อไป ส่วนคดีที่ยังไม่ส่งไปศาลก็ถือว่าจบ แบบสามคือ คดีที่คตส. ทำมาทั้งหมด แม้อยู่ในศาลแล้วก็จบหมด”

อย่างไรก็ดีทั้งหมดอยู่ที่ศาลจะชี้ ทั้งนี้คิดว่า การที่เขาจะแก้ไขมาตรานี้ ต้องไปตรวจสอบว่า ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2550 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ตัดมาตรานี้ทิ้งมันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และมีอะไรที่ทำให้เขาต้องสู้กันบ้าง อย่างไรก็ดี เรื่องมาตรา 309 ยุ่งยากมาก เพราะโดยหลักการมันควรจะแก้ไข แต่อีกด้านหนึ่งถ้าจะแก้เพื่อประโยชน์ของตนเอง คนก็จะรับไม่ได้ มันเลยเป็นสีเทาๆ ทำให้ต้องถกเถียงกันมากมาย

“เสนาะ” ติงซ้ำ ชี้ควรแก้ปัญหาบ้านเมืองก่อน

นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ยังไม่มีการประชุมระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล และระดับผู้ใหญ่ของแต่ละพรรคก็ยังไม่เคยปรึกษาหารือและประสานงานกัน ที่ผ่านมาเป็นเพียงการแสดงเจตนารมณ์ ของเด็ก ๆ ที่มีสิทธิที่จะแสดงความเห็น

“ยังไม่มีใครประสานผมโดยตรง โดยเฉพาะ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีก็ยังไม่เคยมาพูด หรือมีปฏิกิริยาที่จะเชิญเราไปหารือ อย่างไรก็ตาม ผมยังไม่ออกความเห็นอะไร เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่”

ส่วนที่มองกันว่าพรรคประชาราชนิ่งเฉยเพราะได้รับความเดือดร้อน ในคดียุบพรรค นายเสนาะ กล่าวว่า พรรคประชาราชไม่ได้นิ่งเฉย เพียงแต่เรื่องแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ ควรมีเจ้าภาพ ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะมาพูดคุย อย่าลืมว่ารัฐบาล เพิ่งเข้ามาบริหารบ้านเมืองเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น ควรพูดเรื่องแก้ไขปัญหาบ้านเมืองก่อน

ปชป.เตรียมประเด็นแก้ รธน.ไว้แล้ว

นายอภิสิทธิ์ เวชชาวีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคจะรอฟังท่าทีของวิปของรัฐบาลและฝ่ายค้านก่อน เพราะเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้มีการพูดคุยกันอยู่ว่าจะนำญัตติเรื่องของรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์นี้หรือไม่ แต่ขณะเดียวกันคณะทำงานพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ดูประเด็นต่าง ๆ ไว้เรียบร้อยและพร้อมที่จะเสนอได้ทันที ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องเดิมที่เคยพูดกันไว้ตั้งแต่ตอนที่รัฐธรรมนูญ ผ่านความเห็นชอบ

ส่วนมาตรา 309 และ 237 ที่เกี่ยวกับการยุบพรรคและการรองรับองค์กรที่ตั้งโดย คปค. นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พรรคไม่ได้มองว่าตรงนี้เป็นปัญหาหลัก อย่างไรก็ตามคงต้องดูข้อเสนอของคนที่อยากจะแก้ไขว่าจะเขียนอย่างไร เพราะจนถึงขณะนี้ยังมีการตีความที่แตกต่างกันออกไปอยู่

ชี้ยุค “สมัคร” ท้าตีท้าต่อยเก่งกว่า “แม้ว”

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว การแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคประชาธิปัตย์ทำมาก่อนหน้านี้แล้ว ได้กำหนดจุดยืนว่า หากจะมีการแก้ไขรควรแก้ในลักษณะศึกษาผลกระทบจากการบังคับใช้ ไม่ใช่แก้เพื่อ ผลประโยชน์ของนักการเมือง หรือพรรคการเมือง และนักการเมืองไม่ควรตัดสินใจแก้รัฐธรรมนูญโดยลำพัง ทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมด้วย

“การแก้รัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่จะต้องทำกันในวันนี้ วันพรุ่งนี้ เป็นเรื่องที่ต้องทิ้งระยะให้มีการบังคับใช้ไประยะหนึ่ง ถึงตัดสินใจแก้”

นายบัญญัติ กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่า รัฐธรรมนูญแม้จะมีหลายส่วน ต้องแก้ไข แต่ไม่ใช่เรื่องด่วน พอรัฐบาลจุดชนวนขึ้นมา ก็มีเสียงต่อต้านมากขึ้น วันนี้ภารกิจที่ดีที่สุด คือเร่งแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศก่อน ดูแลปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เร่งด่วนกว่ารัฐธรรมนูญ ตรงนี้ต่างหากทำให้ประเทศตายได้ ไม่ใช่ไม่แก้รัฐธรรมนูญประเทศจะตาย ไม่ใช่

นายบัญญัติ กล่าวว่า แค่รัฐบาลนี้ไม่ไปยุ่งกับองค์กรอิสระ ให้ความเคารพ ไม่ทำอย่างรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรทำ ระวังการใช้อำนาจ ทุจริตคอรัปชั่น รัฐบาลนี้ก็อยู่ได้ แต่เอาเข้าจริงรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ท้าตีท้าต่อยมากกว่ารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ดูธรรมชาติของนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทยแล้ว ก็เป็นห่วง
กำลังโหลดความคิดเห็น