xs
xsm
sm
md
lg

"วิชั่นเลี้ยบ"แก้ รธน.ฟื้น ศก.TDRI จี้สางซับไพรม์-น้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซับไพรม์ไม่เกี่ยว น้ำมันแพงไม่สน วิชั่น"เลี้ยบ"แก้ปัญหาเศรษฐกิจต้องแก้รัฐธรรมนูญ ก่อนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องกกต.เรื่องยุบพรรค อ้างการเมืองที่มีเสถียรภาพช่วยนักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น และมาลงทุน ลั่นก่อนจะไปโรดโชว์ญี่ปุ่นต้องมีแนวทางที่ชัดเจน เพื่อชี้แจงให้ต่างชาติเข้าใจ เตรียมหารือแก้กฎหมายเพื่อปลดล็อกวันนี้ ขณะที่ TDRIจี้รัฐบาล สางปัญหาซับไพรม์-น้ำมัน "สุริยะใส" ตอกเลี้ยบ ทบทวนพฤติกรรม รัฐบาลก่อนเอารัฐธรรมนูญเป็นแพะ ลั่นหากจะแก้ต้องมีประชาพิจารณ์ หวั่นเกิดวิกฤติรัฐธรรมนูญอีกรอบ

วานนี้ (21 มี.ค.) นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี รมว.คลังและเลขาธิการพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า ขณะนี้มีปัญหาด้านการเมืองเป็นผลสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญที่ยกร่างขึ้นมาจากการยึดอำนาจ ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่บั่นทอนถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศ จึงควรมีการแก้ไขเพื่อให้การเมืองมีเสถียรภาพ และนักลงทุนเกิดความมั่นใจมากขึ้น โดยเฉพาะในมาตราที่เกี่ยวกับการยุบพรรคเป็นกรณีเร่งด่วน และควรแก้ไขทันทีก่อนที่จะมีผลตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคการเมือง

รมว.คลังยกประเด็นยุบพรรคว่า เป็นหน้าที่ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน และนักลงทุน อีกทั้งการที่ กกต.ออกมาบอกว่า ไม่มีทางเลือกในการส่งให้ศาลตัดสินกรณียุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เพราะข้อกฎหมายบังคับไว้ ทำให้มองย้อนกลับไปว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้มาจากกฎหมายที่มาจากการยึดอำนาจ

"เมื่อกฎหมายทำให้เกิดความไม่มั่นใจ จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรต้องทบทวนและหาทางแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตลอดจนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้งประชาชน ส.ว. และ ส.ส. สามารถเข้ามาร่วมกันเพื่อแก้ไขกฎหมายได้ แต่หากจะให้แก้ไขปัญหาได้โดยเร็วก็ต้องให้ ส.ส.เป็นฝ่ายเริ่มก่อน"

ส่วนกรณีที่กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ออกมามีจุดประสงค์เพื่อต้องการขจัดคนทุจริตออกจากระบบการเมืองหรือไม่นั้น นพ.สุรพงษ์ กลับอ้างว่า ในระดับของพรรคการเมืองเองได้วางกรอบการรับสมาชิก และผู้บริหารพรรคไว้อยู่แล้ว แต่ยอมรับว่าคงจะทำได้ไม่ 100% และเมื่อมีกฎหมายในเรื่องการยุบพรรค และการตัดสิทธิทางการเมือง ยิ่งทำให้กฎหมายมีความเข้มข้นมากขึ้น ดังนั้นอนาคตกรรมการบริหารพรรคการเมืองจะมีน้อยลง เพราะแกนนำพรรคจะไม่กล้าเข้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรค อีกทั้งแม้จะเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งแต่ท้ายที่สุดแล้วนายกรัฐมนตรีจะไม่ได้มาจากหัวหน้าพรรค ซึ่งการจะวางกรอบของกฎหมายก็ควรจะดูว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศจริงหรือไม่

นพ.สุรพงษ์ ยังโยงประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับเศรษฐกิจอีกว่า ควรจะเห็นทิศทางการแก้ไขได้ก่อนที่จะเดินทางไปทำโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่น ปลายเดือนนี้ (30-31 มี.ค.) เพื่อจะได้ตอบคำถามกับต่างประเทศได้ โดยอาจจะมีการซาวนด์เสียงอย่างไม่เป็นทางการ

นอกจากนี้ การที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยเมื่อวานนี้ปรับตัวลดลงเกือบ 10 จุดนั้น เกิดจากนักลงทุนไม่มั่นใจ หลังจากศาลฎีการับคำฟ้องกรณีที่ กกต. ให้ใบแดงนายยงยุทธ ติยะไพรัช ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรจะเร่งสร้างความเชื่อมั่นด้านการเมืองให้แก่นักลงทุน

นพ.สุรพงษ์ ยืนยันอีกครั้งว่า กรณีนายยงยุทธ กฎหมายควรจะลงโทษเฉพาะผู้ที่กระทำความผิดเท่านั้น ไม่ควรโยงไปถึงการยุบพรรค โดยเปรียบเทียบกับธุรกิจของเอกชนว่า ถ้าผู้บริหารกระทำผิด ก็ไม่จำเป็นถึงขั้นปิดบริษัท

"ควรจะต้องดูว่าข้อกฎหมายที่มีอยู่เหมาะสมแล้วหรือไม่ เพราะผู้ที่กระทำความผิดเป็นเพียงกรรมการบริหารพรรคเพียงคนเดียว จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีการยุบพรรคทั้งพรรค เหมือนอย่างบริษัทเอกชนที่พนักงานทำผิดจำเป็นที่จะต้องยุบบริษัทนั้นหรือไม่ ดังนั้นจึงอยากให้คิดให้ดี"

เตรียมถกแก้กฎหมายวันนี้

นพ.สุรพงษ์ กล่าวด้วยว่าการแก้ปัญหานี้ ต้องปลดล็อกกฎหมาย เพราะกฎหมาย เหล่านี้มันมาจาก19 ก.ย.49

เมื่อถามว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญกี่มาตรา นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ประเด็นในช่วงนี้ ยังไม่จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญในมาตราอื่น หากจะทำให้ชัดเจนว่า การเมืองไทยควรเดินหน้าไปได้ ก็ควรสนใจประเด็นนี้ก่อน โดยมี 1 มาตรา คือ มาตรา 237 และยังมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมาร่วมประกอบการแก้ไขด้วย ซึ่งในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีพรรคพลังประชาชน ในวันที่ 22 มี.ค. หากสมาชิกพรรคสอบถามเรื่องนี้ขึ้นมา ก็อาจนำหารือทันที

"เรื่องนี้เป็นความคิดของผมคนเดียว ยังไม่ได้คุยกับใคร แม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้คุย เพราะท่านก็ยุ่ง ผมก็ยุ่ง ยืนยันเรื่องนี้ต้องชัดเจนก่อนการพิพากษา ถ้าหากเรายังคิดว่า เรื่องมาตราที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรค เป็นเรื่องที่ถูกต้องโดยที่ผ่านมาหากกรรมการบริหารพรรคคนใดคนหนึ่งไปทำผิดกฎหมาย พรรคทั้งพรรคที่มีสมาชิกพรรคเป็นแสนคน เป็นล้านคน ต้องยุบ กรรมการบริหารพรรคทั้งหมดต้องถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ตรงนี้ก็จะเกิดปรากฏการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในโลก คือว่าเราจะมีพรรคการเมืองที่มีกรรมการบริหารพรรคน้อยมาก เราจะมีพรรคการเมืองที่มีหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค กรรมการบริหารพรรค ไม่ใช่แกนนำพรรคที่แท้จริง ก็จะได้เห็นปรากฏการณ์วันใดวันหนึ่งว่า หากหัวหน้าพรรคที่ชนะเลือกตั้งไม่ได้เป็นนายกฯ เพราะนายกฯจะเป็นแกนนำพรรคที่ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค ถามว่า เราต้องการการเมืองจอมปลอมแบบนั้นหรือไม่" นพ.สุรพงษ์กล่าว

TDRIแนะสางปัจจัย ตปท.ฟื้น ศก.

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการด้านวิจัยเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า เห็นด้วยกับหลักการที่ว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนมาจากการเมืองที่มีความมั่นคง เป็นภาพใหญ่ที่นักลงทุนพูดกันไม่เว้นนักลงทุนต่างชาติ แต่อย่าลืมว่าที่สำคัญคือการมองระยะยาว รัฐธรรมนูญที่สนับสนุนเศรษฐกิจอย่างแท้จริงคือรัฐธรรมนูญที่ทำให้การเมืองมั่นคงขณะเดียวกันต้องมีความชอบธรรมด้วย

"เศรษฐกิจไม่ดีแน่ถ้าการเมืองมีเสถียรภาพแต่เล่นพวกพ้อง ผมคิดว่าการเมืองที่เป็นธรรม คือการที่ประชาชนมีส่วนร่วม" นายสมชัยกล่าว และมองว่า เศรษฐกิจในปัจจุบันมีปัญหาส่วนใหญ่จากปัจจัยภายนอก ได้แก่ ปัญหาซับไพรม์ และปัญหาราคาน้ำมันแพง ส่วนปัจจัยภายใน เช่น การบริโภคและการลงทุนยังไม่ถึงขั้นน่าเป็นห่วง สังเกตจากที่ผ่านมาการนำเข้าขยายตัวมากกว่า 20% ติดต่อกัน 2 เดือน แสดงว่าเอกชนมีการลงทุน ดังนั้นรัฐบาลรวมทั้ง รมว.คลังต้องเร่งหาแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากวิกฤตราคาน้ำมันและซับไพรม์ที่ยังเป็นที่กังวลของคนทั่วโลกอยู่ในขณะนี้

"รัฐมนตรีคลังเคยแถลงนโยบายว่าจะให้ความสำคัญกับตัวเลขการขยายตัวมากกว่าเสถียรภาพเศรษฐกิจ ผมไม่เห็นด้วย ผมเห็นว่าแนวทางที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยนั้น ต้องให้ความสำคัญทั้งตัวเลขและความมั่นคงควบคู่กันไป" ผอ.จาก TDRI กล่าว

ตอกเลี้ยบอย่าโยนบาปให้รธน.

ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ ครป. กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดแบบด่วนสรุปของนพ.สุรพงษ์ ที่ระบุว่า รัฐธรรรมนูญทำลายความเชื่อมั่นของต่างชาติ และเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นการโยนบาปให้รัฐธรรมนูญด้านเดียวมากเกินไป

ต้องไม่ปฏิเสธว่าภาพลักษณ์ และโฉมหน้าครม. รวมทั้งการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในขณะนี้ เป็นตัวฉุดความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนไม่น้อยไปกว่าปัญหาจากรัฐธรรมนูญ หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำไป

แนวความคิดแก้รัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการยุบพรรคนั้น เท่ากับเป็นแนวคิดนิรโทษกรรมล่วงหน้าให้กับบุคคลที่ทุจริตเลือกตั้ง หากกรรมการบริหารพรรคไม่ไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต พรรคการเมืองก็ไม่ควรกลัวการถูกยุบ และกระบวนการพิจรณาของศาลรัฐธรรมนูญ ก็เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์เต็มที่

"ผมไม่ได้ค้านการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ เพราะผมก็เห็นประเด็นปัญหาหลายจุดที่สมควรปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่จะมาเสนอแก้กันง่ายๆ และแก้เฉพาะประเด็นที่เป็นประโยชน์ของนักการเมือง แต่ประชาชนไม่ได้อะไรเลย แบบนี้ไม่เหมาะสม ที่สำคัญรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มาจากการลงประชามติของคนทั้งประเทศ หากจะแก้ไขก็ต้องมีกระบวนการที่ชอบธรรม โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย รวมทั้งการศึกษาข้อดีข้อเสียอย่างเป็นวิชาการ ไม่ใช่เอาความต้องการของนักการเมืองเป็นตัวตั้ง หากไม่ระมัดระวังอาจจะเป็นวิกฤติรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน" นายสุริยะใสกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น