รัฐบาลอหังการ ประกาศเตะทิ้ง ม.309 เปิดทาง 111 ร้องสู้คดีฟื้นชีพ พร้อมเสนอแก้ ม.237 กก.บห.พรรคทำผิดไม่โยงยุบพรรค ปลิดทิ้งเป็นรายคน ชี้เบื้องหลัง ม.309 ลอกข้อมูลยุค รสช.
วันนี้ (31 มี.ค.) นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานทำงานพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดเผยภายหลังการประชุมกว่า 4 ชั่วโมง ว่า ที่ประชุมมีมติชัดเจนโดยยกเลิกมาตรา 309 ความหมายคือไม่ได้ไปยกเลิกประกาศคำสั่งอะไรทั้งหลายทั้งปวงของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) หรือของอะไรต่างๆ เพียงแต่ให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็เป็นอันว่าไม่มีต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มส่วนได้เสียทั้งหลายสามารถต่อสู้ได้ หรือหยิบยกประเด็นต่างๆ ขึ้นมาพิจารณาในศาลได้ว่าประกาสคำสั่งทั้งหลายนั้น เช่น อาจจะไม่เป็นไปตามระบบนิติรัฐ อาจจะสร้างความไม่เสมอภาค เลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นสาระของรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น เขาสมารถต่อสู้ได้ว่าไม่ชอบเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงปรับปรุงมาตรา 190 กล่าวคือ การทำสนธิสัญญาใดๆ ก็เหมือนเดิมถ้ามีผลในเรื่องสำคัญต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน เมื่อขอความเห็นชอบแล้วกฎหมายรัฐธรรมนูญเดิม บอกว่า ต้องเปิดเผยหลักการสาระบางสิ่งบางอย่างของการไปตกลงเจรจาให้ไปรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ซึ่งจะทำรัฐหรือประเทศทำอะไรลำบาก และอาจจะเสียเปรียบต่างประเทศเขาก็จะรู้ล่วงหน้าว่าเราจะเจรจาเขาอย่างไร แต่ยังคงหลักการเดิมไว้ว่าถ้าสัญญาต่างๆ ทำให้ประชาชนสียหายเสียเปรียบหรือได้รับความเดือดร้อนรัฐก็ต้องแก้ไขเยียวยาโดยไม่ทิ้งหลักการนี้
นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรา 266 ได้ตัดข้อความบางสิ่งบางอย่างออกเพื่อให้ ส.ส.เข้าไปช่วยเหลือประชาชนในสิ่งที่เป็นประโยชน์ของประชาชนและสาธารณะ หรือเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนก็ให้สามารถทำได้โดยไม่ถือว่าเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และในมาตรา 237 มีมติให้ยกเลิกบางประเด็นโดยสรุปง่ายๆ คือ หลักการเรื่องการยุบพรรค เราถือว่าการเขียนกฎหมายที่บอกว่าให้ถือว่าการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ฝ่าฝืนระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้วไปเขียนว่าให้ถือว่าการกระทำพวกนี้เป็นการให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ความพวกนี้เราตัดออก เพราะการให้ถือว่าเช่นนี้เป็นครั้งแรกที่มีการบัญญัติขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และถือว่าเป็นการเหมารวม เพราะการฝ่าฝืนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งมีมากมายกายกอง การฝ่าฝืนระเบียบก็มีเป็นจำนวนมาก แต่การไปเหมาหมดให้ถือว่าได้มาซึ่งอำนาจการปกครอง เราถือว่าความเช่นนี้ไม่เป็นธรรมต้องตัดออก
นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ยังคงยืนยันหลักการว่ายุบพรรคยังมีอยู่แต่ให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเดิมคือมี 2 เหตุ 1.กระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 2. กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ สองประการนี้คือเหตุยุบพรรคไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
“แต่ตัดคำว่าให้ถือว่าพรรคการเมืองกระทำออก ให้ถือว่าเป็นเรื่องของบุคคล แต่หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง ที่มีส่วนร่วมหรือมีส่วนรู้เห็นไม่ระงับยับยั้ง ไม่แก้ไข หัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบรหารพรรคการเมืองท่านนั้น สามารถถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้ โดยสรุปคือ การยุบพรรคการเมืองโดยวิธีการให้ถือว่าเราตัดออก แต่พรรคการเมืองก็ยังคงมีส่วนรับผิดชอบ สามารถยุบพรรคได้แต่ต้องชัดเจน ต่างจากของเดิมที่ยุบพรรคก่อนแล้วมาเพิกถอนสิทธิยกเข่ง” นายชูศักดิ์ กล่าว
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการเสนอกฎหมายโดยพี่น้องประชาชนเดิมให้เสนอได้เฉพาะในหมวดที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพเราเห็นว่าไม่มีความจำเป็นอะไร ต้องไปจำกัดไว้เฉพาะตรงนั้น จึงขอเพิ่มเติมแก้ไขว่า ต่อไปนี้พี่น้องประชาชนสามารถเสนอกฎหมายได้ทุกเรื่องไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นกฎหมายในหมวดนั้นหมวดนี้เท่านั้น
“ทั้งหมดมี 5 ประเด็นที่ขอเสนอแก้ไข และมอบให้ฝ่ายเลขานุการยกร่าง เมื่อเสร็จแล้วจะนำร่างที่ยกร่างไปให้พรรคการเมืองที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลไปดู ในการประชุมของแต่ละพรรค เมื่อดูแล้วเห็นสมควรว่าใช้ได้ ท้ายสุดก็มายกร่างฉบับสมบูรณ์ ขั้นตอนต่อไปก็เข้าชื่อนำเสนอประธานวุฒิสภาต่อไปโดยการเข้าชื่อให้เป็นเรื่องของ ส.ส.” นายชูศักดิ์ กล่าว
นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ในประเด็นการยกเลิกมาตรา 309 ที่ประชุมบางส่วนเห็นว่าไม่น่าจะยกเลิกทั้งมาตรา แต่ให้เขียนให้ชัดเจนแต่เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรยกเลิกทั้งมาตรา
ผู้สื่อข่าวถามว่า การยกเลิกมาตรา 309 เหมือนจะเป็นคุณต่อผู้ที่ถูก คตส.ตรวจสอบอยู่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้พยายามย้ำกับสื่อมาตลอดว่าการยกเลิกมาตรานี้ความหมาย คือ คนที่ถูกฟ้องเป็นผู้ต้องหา จำเลย สามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้ หรือคำสั่งทั้งหลายทั้งปวงที่ออกมาบังคับไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า เป็นการเปืดทางให้ผู้ที่โดนสอบสามารถฟ้องร้อง คตส.ได้ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เขาก็มีสิทธิที่จะต่อสู้ฟ้องร้องถ้าคิดว่าไม่ผิด เมื่อถามว่าจะนำไปสู่ความวุ่ยวายหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าสิ่งที่อนุวิป หรือ วิปรัฐบาลทำอยู่ในขณะนี้ ขอเรียนว่าชี้แจงได้ไม่ได้ทำเพื่ออะไรทั้งหลายทั้งปวง
“ขอเรียนว่า เบื้องหลังของมาตรา 309 เป็นเทคนิคของคนเขียนกฎหมาย เอาประสบการณ์จาก รสช.มาที่ศาลฎีกายกฟ้องมาเขียนไว้ในมาตรา 309 นี่เรียนด้วยความตรงไปตรงมา ซึ่งเรามองว่าการเขียนเช่นนี้ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมสมควรมีการแก้ไข เปิดโอกาสให้เขาต่อสู้คดีได้ หยิบยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาลได้ มาตรา 309 ที่เขียนว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญเป็นการปิดปาก” นายชูศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า ทันสมัยประชุมนี้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนปิดสมัยประชุมนี้ยื่นทันแน่ เพราะตั้งใจว่าอย่างน้อยที่สุดสัปดาห์หน้าจะยื่นต่อประธานวุฒิสภา เมื่อถามว่า ในภาพรวมจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะฟังเสียงประชาชนต่อการแก้กฎหมายซึ่งอาจจะเป็นการทำประชาพิจารณ์ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ความจริงการจัดทำประชาพิจารณ์ควรเป็นเรื่องทั้งฉบับ ซึ่งขณะนี้วิปรัฐบาลไม่ได้ปิดโอกาส อย่างไรก็ตาม จะแถลงให้ประชาชนทราบว่าที่ ยกเลิก แก้ไข ปรับปรุงเพราะอะไร โดยทำออกมาเป็นตาราง
เมื่อถามว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร นายชูศักดิ์ กล่าวว่า จะมีกฎหมายที่เป็นไปตามหลักนิติธรรมมากขึ้น เมื่อถามว่า การยกเลิกมาตรา 309 เป็นการปูทางให้นิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรคไทยรักไทย 111 คน หรือไม่เพราะการตัดสินเป็นไปตามประกาส คปค.และฟ้องภายหลังว่าประกาสไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ก็ถูก เขามีสิทธิต่อสู้ว่าประกาสทั้งหลายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ถ้ามีคดีขึ้นเขาก็ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ก็สุดแต่องค์กรที่ทำหน้าที่วินิจฉัย อาจจะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ แต่ไม่ใช่ว่ามาปิดปากให้ต่อสู้อะไรไม่ได้เลย เพราะมาตรา 309 บอกว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหมด
เมื่อถามว่า มาตรา 237 จะทันต่อการเยียวยาพรรคการเมืองที่กำลังจะถูกยุบหรือไม่ นายชูศักดิ์ กลาวว่า เรามองว่า จะแก้ไขยกเลิกส่วนทันหรือไม่เป็นคนละประเด็นกัน เราเป็นผู้นำเสนอที่เหลือเป็นเรื่องของรัฐสภา