xs
xsm
sm
md
lg

ธอส.ฟื้นโครงการบ้านเอื้ออาทร ปล่อยกู้ 5 หมื่นหลัง 2 หมื่นล้านบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธอส.ฟื้นชีพบ้านเอื้ออาทรสนองนโยบายประชานิยมตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อปีนี้ 5 หมื่นยูนิต 2 หมื่นล้านบาท ยอมรับเป็นหน้าที่โดยตรงเพื่อให้คนไทยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ครวญหากรับบาลต้องการให้ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้มีรายได้น้อยรัฐบาลต้องช่วยหาแหล่งทุนราคาถูกให้

นางจามรี เศวตจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานสินเชื่อ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) เปิดเผยว่า แนวทางการขยายสินเชื่อเพื่อผู้มีรายได้น้อยของธนาคารในปีนี้ได้ร่วมหารือกับการเคหะแห่งชาติ(กคช.) เพื่อสรุปยอดการสร้างที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งยอดการก่อสร้างทั้งหมดในปีนี้กคช.ได้ปรับลดลงจาก 600,000 ยูนิตเหลือเพียง 300,000 ยูนิต เนื่องจากที่ผ่านมาการดำเนินโครงการบ้านเอื้ออาทรประสบปัญหาจึงต้องปรับขนาดของโครงการให้เกิดความเหมาะสม

ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อในโครงการบ้านเอื้ออาทรจำนวน 50,000 ยูนิต คิดเป็นวงเงินจำนวน 20,000 ล้านบาท เฉลี่ยยูนิตละประมาณ 390,000 บาท ซึ่งธนาคารมีความพร้อมของเงินทุนสำหรับปล่อยกู้ในโครงการนี้

โดยการดำเนินการของธนาคารในปีนี้จะเดินหน้าปล่อยสินเชื่อให้ได้ตามเป้าหมายประมาณ 90,000-100,000 ล้านบาท และการที่มีรัฐบาลใหม่เข้ามาและมีนโยบายในการทำโครงการประชานิยมธนาคารก็พร้อมที่จะดำเนินการเนื่องจากหน้าที่ของธนาคารอาคารสงเคราะคือการปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนที่มีรายได้กลางและรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองอยู่แล้ว

“แม้ว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะให้ปัดฝุ่นโครงการบ้านเอื้ออาทรเราก็มีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันทีเพราะเป็นหน้าที่หลักของธอส.อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยคือที่มาของแหล่งเงินทุน เพราะนโยบายของรัฐที่เข้ามาส่วนใหญ่จะต้องการให้ปล่อยกู้ให้กับผู้มีรายได้น้อยและคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำดังนั้นรัฐบาลจึงควรหาแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำให้กับธอส.ด้วยเพื่อจะได้สามารถดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลได้” นางจามรีกล่าว

โครงการบ้านเอื้ออาทรเริ่มดำเนินการในปี 2546 กำหนดจำนวนหน่วยการก่อสร้างบ้านในโครงการรวม 601,727 หน่วย โดยประมาณการและกำหนดจำนวนหน่วยการก่อสร้างในโครงการ จากตัวเลขความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ผ่านการลงทะเบียนต่อสู้ความยากจนของประชาชนทั่วประเทศ แต่หลังจากที่มีการเข้ามาตรวจสอบความต้องการที่อยู่อาศัย ของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาบ้านเอื้ออาทร ในรัฐบาลชุด พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการปรับลดสัดส่วนการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรลงมาเหลือ 300,504 หน่วย ตามแนวทางการแก้ปัญหาบ้านเอื้ออาทรที่คณะกรรมการแก้ปัญหาบ้านเอื้ออาทรได้นำเสนอผลสรุป

โดยปัญหาของโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ผ่านมาคือ จำนวนหน่วยที่เปิดขายในแต่ละพื้นที่มากเกินความต้องการ (ดีมานด์เทียม) ปัญหาดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มขยับสูงขึ้น ปัญหาการปฏิเสธปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ปัญหาการซื้อคืนบ้านเอื้ออาทรจากสถาบันการเงิน ปัญหาค่าผ่อนจ่ายรายเดือนที่สูงขึ้นจากเดิม จนเริ่มเกินความสามารถในการผ่อนชำระของประชาชน ส่งผลต่อการทิ้งบ้าน

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ กคช.ต้องแบกรับภาระหนี้จำนวนมหาศาล ปัจจุบันกคช.มีมูลหนี้จากการกู้เงินกับสถาบันการเงิน เพื่อมาสนองต่อการพัฒนาโครงการดังกล่าวทั้งสิ้น 62,380 ล้านบาท จากการกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงการบ้านเอื้ออาทรในปี 2547-2548 ล่าสุดในปี 2551 กคช.มีปัญหาใหญ่ คือ การครบกำหนดต้องชำระหนี้รวมทั้งสิ้น 46,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้จากการกู้เงินในโครงการบ้านเอื้ออาทร 43,000 ล้านบาท และหนี้จากการกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงการเคหะชุมชนอีก 3,000 ล้านบาท

ขณะที่ปี 2552 นั้น กคช. จะมีหนี้ที่ครบกำหนดชำระอีก 17,000 ล้านบาท ส่งผลให้ในปีนี้ กคช.ต้องเร่งดำเนินการ จัดหาแหล่งเงินกู้ใหม่เพื่อชำระหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมากคช.ได้หารือกับกระทรวงการคลัง ถึงแนวทางการแก้ปัญหาการชำระหนี้ดังกล่าว และได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งครม.มีมติให้กระทรวงการคลัง เข้ามาดูแลและดำเนินการจัดการหาแหล่งเงินกู้ในการชำระหนีดังกล่าวให้ กคช.

โดยกระทรวงการคลังรับหน้าที่ค้ำประกันกคช. และได้มอบหมายให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เข้ามาดำเนินการนำหนี้ดังกล่าวมาจัดการประมูลอัตราดอกเบี้ย หรือการปรับโครงสร้างทางการเงิน(รีไฟแนนซ์) เพื่อนำเงินกู้จากสถาบันการเงินไปชำระหนี้ที่ครบกำหนดชำระจำนวน 46,000 ล้านบาทต่อธนาคารกรุงไทยฯ และสถาบันการเงินอื่นๆ ในปี 51
กำลังโหลดความคิดเห็น