xs
xsm
sm
md
lg

กคช.ดึงคลังรีไฟแนนซ์หนี้ หวั่นเกิดซับไพรม์บ้านเอื้อฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จับตาซับไพรม์บ้านเอื้อฯ ทำกคช.แบกหนี้ด้อยคุณภาพก้อนโตกว่า 62,380 ล้านบาท สะท้อนความล้มเหลวนโยบาย "ทักษิโณมิกส์" ปี 51 ครบดิวทยอยชำระหนี้ 46,000 ล้านบาท เฉพาะแบงก์กรุงไทย 42,000 ล้านบาท ด้านสบน.รับเป็นเจ้าภาพ เปิดประมูลเงินกู้ใหม่ ระบุดอยซ์แบงก์-ไทยพาณิชย์ ขอแจมซื้อหนี้รวม 1,250 ล้านบาท สบช่องเงินสหกรณ์ฯล้น ดึงสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นฯ แก้ปมแบงก์ไม่ปล่อยกู้ลูกค้าซื้อบ้านเอื้อฯ อุดไม่อยู่ เล็งของบอุดหนุนรัฐบาลใหม่อีก 3 หมื่นบาท/ยูนิต รองรับภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้น

ปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้อยคุณภาพ หรือ ซับไพรม์ ที่ได้เกิดขึ้นในสหรัฐฯ นับว่าเป็นบนเรียนที่สะท้อนถึงนโยบายด้านการส่งเสริมตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่เมื่อมองย้อนกลับมาที่นโยบายการพัฒนาด้านอสังหาฯในโครงการบ้านเอื้ออาทร หรือการสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อประชาชนผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น เริ่มสะท้อนภาวะที่มีคล้ายคลึงกันกับปัญหาการเกิดซับไพรม์ในประเทศสหรัฐฯ

เนื่องจากโครงการบ้านเอื้ออาทร มีรูปแบบการสร้างที่อยู่อาศัย(ซัปพลาย)ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการ (ดีมานด์ ) หรือ การสร้างซับพลายไว้รอดีมานด์ ทั้งที่ยังไม่ทราบจำนวนที่แท้จริง ส่งผลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการบ้านเอื้ออาทร จำเป็นต้องก่อหนี้จำนวนมหาศาล เพื่อสนองตอบต่อนโยบาย "ประชานิยม" ที่เกิดขึ้น

ล่าสุด การเคหะแห่งชาติ (กคช.)ได้แถลงข่าวผลงาน 35 ปีกคช. โดยนายสุชาติ ศิริโยธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กคช.กล่าวว่า ปัจจุบันกคช.มีภาระหนี้เงินกู้กับธนาคาร ในการพัฒนาโครงการบ้านเอื้ออาทร รวมทั้งสิ้น 62,380ล้านบาท โดยมีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ ในสัดส่วนถึง67% หรือ คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 42,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นสถาบันการเงินอื่นๆ ซึ่งจากการกู้เงินในโครงการดังกล่าวในระหว่างปี 2547-2548 นั้น เริ่มครบกำหนดต้องชำระหนี้ภายในปี 2551 รวมทั้งสิ้น 46,000 ล้านบาท แยกเป็นหนี้จากการกู้เงินในโครงการบ้านเอื้อฯ 43,000 ล้านบาท และหนี้จากการกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงการเคหะชุมชนอีก 3,000 ล้านบาท

ขณะที่ ในปี 2552 นั้น ทางกคช.จะครบกำหนดต้องชำระหนี้เงินกู้อีก 17,000 ล้านบาท ส่งผลให้ใน 2551 ทางกคช.ต้องเร่งหาแหล่งเงินกู้ใหม่เพื่อชำระหนี้ที่ครบกำหนด โดยที่ผ่านมา กคช.ได้หารือกับกระทรวงการคลัง ถึงแนวทางการแก้ปัญหาการชำระหนี้ดังกล่าว และได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งได้มีมติให้กระทรวงการคลัง เข้ามาดูแลและดำเนินการจัดการหาแหล่งเงินกู้ในการปรับโครงสร้างหนี้ทางการเงิน(รีไฟแนนซ์)ให้ กคช.

ดอยซ์แบงก์-SCB ประมูลหนี้บ้านเอื้อฯ

ตามแผนการจัดหาเงินกู้ใหม่ให้แก่กคช.นั้น ทางกระทรวงการคลังต้องเข้ามารับภาระการค้ำประกันเงินกู้ให้กคช. โดยได้มอบหมายให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เข้ามาดำเนินการ โดยการนำหนี้ดังกล่าวมาจัดการประมูลอัตราดอกเบี้ย เพื่อนำเงินกู้ใหม่ไปชำระหนี้ที่ครบกำหนดจำนวน 46,000 ล้านบาทคืนแก่ธนาคารกรุงไทยฯและสถาบันการเงินอื่นๆ ภายในปีนี้

ล่าสุด มี 2 สถาบันการเงิน ที่เสนอเงื่อนไขที่เหมาะสมในการซื้อหนี้จำนวนดังกล่าว คือ ธนาคารดอยซ์แบงก์ ขอซื้อหนี้จำนวน 500ล้านบาท และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จำนวน750ล้านบาท ส่วนที่เหลือ สบน.จะดำเนินการจัดประมูลอัตราดอกเบี้ยเพื่อหาแหล่งเงินมาชำระหนี้ดังกล่าวให้ครบทั้งหมด เนื่องจาก กคช.ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ผ่านมาคือ จำนวนยูนิตที่เปิดขายในแต่ละพื้นที่มากเกินความต้องการ ประกอบกับ ปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น นโยบายการปล่อยสินเชื่อที่มีความเข้มงวดมากขึ้น จนส่งผลให้ผู้จองซื้อบ้านเอื้ออาทรถูกปฎิเสธสินเชื่อ ปัญหาการซื้อคืนบ้านเอื้ออาทรจากสถาบันการเงิน ปัญหาค่าผ่อนจ่ายรายเดือนที่สูงขึ้นจากเดิม จนเกินความสามารถในการผ่อนชำระของประชาชน ทำให้ผู้ซื้อไม่ส่งค่างวดต่อ รวมถึงโครงการบ้านเอื้ออาทรจำนวนมาก ยังไม่ผ่านการอนุมัติการจัดทำรายงานเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ดึงเงินสหกรณ์ฯอุ้มลูกค้ากู้ไม่ผ่าน

ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขอีกปัญหาหนึ่งคือ การจัดหาแหล่งเงินกู้ให้แก่ประชาชนที่ถูกสถาบันการเงินปฎิเสธสินเชื่อ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นสูงมาก จากในปี2549 สัดส่วนการอนุมัติสินเชื่อลูกค้าบ้านเอื้ออาทรมีประมาณ 60% แต่หลังเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติ ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยมีผู้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาปล่อยกู้ลดลงเหลือ 40% จากจำนวนที่กคช.ส่งรายชื่อลูกค้าเพื่อขอกู้เงินจากธนาคาร ทำให้มีจำนวนผู้ถูกปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

ด้าน นางอมรพรรณ พงษ์พิโรดม รองผู้ว่าการเคหะฯ กล่าวว่า ปัญหาการจัดหาแหล่งเงินในการปล่อยสินเชื่อลูกค้าบ้านเอื้ออาทรที่ถูกปฏิเสธนั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2550ที่ผ่านมา กคช.ได้เซ็นสัญญาบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด ในการปล่อยกู้ลูกค้าในโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อดังกล่าวแล้ว โดยสหกรณ์ฯมีวงเงินอยู่ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ดอกเบี้ยที่ปล่อยกู้ลูกค้าบ้านเอื้ออาทรนั้น สหกรณ์ฯได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน โดยทั้ง2สถาบันการเงินดังกล่าวปัจจุบันคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 6% ทำให้ลูกค้าบ้านเอื้ออาทรต้องจ่ายค่างวดต่อเดือนที่ 2,400 บาท เทียบกับอัตราดอกเบี้ยเริ่มแรกที่ 4% ค่างวดต่อเดือนที่ 2,200 บาท ซึ่งในส่วนของสหกรณ์ฯจะคิดดอกเบี้ยแบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ ในช่วง 3 ปีแรก จะคิดอัตราดอกเบี้ย 7.5% และในปีที่4คิดในอัตรา 8.5% โดยผู้กู้จะมีภาระจ่ายค่างวดต่อเดือนประมาณ 2,500 -2,600บาทต่อเดือน

"แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่สหกรณ์ฯปล่อยกู้จะสูง แต่ข้อดีที่กคช.จะได้รับคือ ไม่ต้องตั้งวงเงินสำรองซื้อคืนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล จากสหกรณ์ฯ แต่ทางสหกรณ์ฯจะดำเนินการบริหารจัดการ หากเริ่มกลายเป็นลูกหนี้ ทั้งนี้ ลูกค้าบ้านเอื้ออาทรที่ต้องการกู้เงินกับสหกรณ์ฯ จะต้องเป็นสมาชิกสหกรณ์ฯก่อน โดยต้องซื้อหุ้นเพื่อเข้าสู่ระบบการเป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ สำหรับจำนวนเงินที่ขอกู้แต่ละรายจะอยู่ที่ 390,000 บาทต่อหน่วย"

ขอเงินอุดหนุนเพิ่ม3หมื่นบาท/หน่วย

นอกจากนี้ กคช. ยังเตรียมที่จะเสนอของงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลใหม่จำนวน 30,000 บาทต่อหน่วย เพื่อใช้ชำระดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างโครงการ และบ้านเอื้ออาทรที่ยังไม่มีการส่งมอบให้แก่ผู้จองซื้อ ซึ่งส่งผลให้ กคช.มีภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ รวมถึงจะเสนอให้รัฐบาลหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อปล่อยกู้ให้แก่ผู้ซื้อบ้านในโครงการบ้านเอื้ออาทรด้วย โดยรัฐบาลอาจจะเข้ามารับภาระดอกเบี้ยบางส่วนให้แก่ประชาชน

ทั้งนี้ การที่กคช.ขอวงเงินอุหนุนจากรัฐบาลเพิ่มอีก 30,000 บาทต่อหน่วย ทั้งที่ก่อนหน้ารัฐบาลได้ให้เงินอุดหนุนผู้ซื้อไปแล้วในวงเงิน 29,000 ล้านบาทนั้น เพราะเงินอุดหนุนดังกล่าวเป็นงบที่ให้แก่ผู้ซื้อบ้าน ไม่ใช่เงินอุดหนุนการเคหะฯ ส่วนเงินอุดหนุนที่จะขอรัฐบาลใหม่จะมาดำเนินการในส่วนของการใช้ชำระดอกเบี้ยที่เกิดจากหนี้เงินกู้ในปัจจุบัน โดยวงเงิน29,000 ล้านบาท ที่รับอุดหนุนไปก่อนหน้า ได้มีการใช้ในการซื้อที่ดินที่มีการทำสัญญาซื้อขายไปก่อนหน้าแล้ว ดังนั้นจำนวนเงินดังกล่าวจึงไม่พอต่อการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจากดอกเบี้ย
กำลังโหลดความคิดเห็น