xs
xsm
sm
md
lg

ดันทุรังแก้ รธน.4 มาตรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล มีมติแก้รัฐธรรมนูญ 4 มาตราทั้ง ม. 190 , 237 ,266 และ 309 หวังล้มคดียุบพรรคและโล๊ะผลสอบทุจริต ‘ทักษิณ’ ของ คตส. ส่วนการรื้อทั้งฉบับ ให้กมธ.วิสามัญฯดำเนินการ ขณะเดียวกันกลัวช้า เตรียมเสนอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ "ขณะที่ คตส.ไม่สนรัฐบาลเดินเกมล้มคดี ‘ทักษิณ’ เร่งเครื่องเพื่อนำคดีส่งถึงศาล ด้าน กกต.ติงรัฐบาลเร็วเกินไปที่จะแก้ไข แนะควรทำเพื่อคนทั้งประเทศ ส่วน ปชป.ประกาศขวางรัฐบาลเต็มที่

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ปฎิเสธที่จะตอบคำถามถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม. 309 ในบทเฉพาะกาล เพื่อล้มองค์กรอิสระที่แต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในการตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า "ขอทีเถอะ ขอที"

ด้านนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องที่ผ่านมา แล้วขอให้ผ่านไปการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ควรไปแตะมาตรา 309 แต่ควรจะแก้ในประเด็นอื่นที่มีผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยและกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล เช่น การได้มาของ ส.ว.และเรื่องการยุบพรรค แม้ตามหลักการไม่ควรอภัยโทษ ให้กับผู้ที่ฉีกรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อประเทศชาติต้องการความปรองดองสมานฉันท์ ก็ควรจะปล่อยเรื่องนี้ไป

"ชูศักดิ์"เสนอให้องค์กรอิสระแจ้งทรัพย์สิน

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะแก้ไขในหลายประเด็น เช่น กรณีการยุบพรรค การห้าม ส.ส. เข้าไปก้าวก่ายยุ่งเกี่ยวเพื่อตนเองและผู้อื่น โดยเฉพาะคำว่า"ผู้อื่น" ที่มีการเสนอให้ตัดออก เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเดิม เพราะขณะนี้ปัญหาคือ การที่ ส.ส.ไปช่วยชาวบ้าน หาก ส.ส.รับเรื่องมาและไปประสานงานกับหน่วยงานราชการ ก็กลายเป็นว่าเป็นการกระทำเพื่อผู้อื่น การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และการประกาศให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและถูกต้องตามหลักการ คนที่ใช้อำนาจรัฐในการตรวจสอบผู้อื่น อย่างเช่น ประธานองค์กรอิสระ อย่าง คตส. , ป.ป.ช. ,กกต. ผู้บริหารส่วนราชการ ผู้นำเหล่าทัพ ที่มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แต่ไม่มีการประกาศให้สาธารณชนรับทราบ ควรจะต้องมีการประกาศให้สาธารณชนรับทราบด้วยหรือไม่ เพราะคนที่ถูกตรวจสอบมีการกำหนดให้เปิดเผยให้สาธารณชน ทราบ แต่ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบกลับไม่ต้องเปิดเผย

ย้ำแก้ม.309-นิรโทษ111คน ทรท.

นายชูศักดิ์ กล่าวยอมรับว่ามีการหารือกันถึงการยกเลิกมาตรา 309 เพราะ กำหนดไว้ว่าประกาศคำสั่งทั้งหลายให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต การระบุในลักษณะนี้ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วย หลักนิติธรรม ซึ่งการยกเลิกในมาตรานี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถต่อสู้ได้ว่าคำสั่งเหล่านี้ไม่ถูกต้อง ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะไปยกเลิกประกาศหรือคำสั่งต่างๆ

ส่วนที่วิจารณ์ว่าการแก้ไขมาตรา 309 เพื่อประโยชน์ให้กับคดีที่ค้างอยู่ใน คตส. นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ประกาศหรือคำสั่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต ถือว่าเป็นกฎหมาย และรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2549 ก็ไม่ว่าอะไร แม้ว่าจะเป็นการสั่งเพียงคนๆ เดียว แต่การที่มารับรองในมาตรา 309 รัฐธรรมนูญปี 2550 นั้นมองว่าไม่ชอบธรรม เพราะไม่เปิดโอกาสให้มีการต่อสู้ หากมีการต่อสู้กันในชั้นศาล ทางศาลก็จะบอกว่า มาตรา 309 กำหนดว่าให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับว่าเป็นการปิดปาก กฎหมายประเภทนี้เราเรียกว่าปิดปากชาวบ้านไม่ให้โต้เถียง แต่การยกเลิกมาตรา 309 เป็นการเปิดช่องให้ต่อสู้และให้ศาลพิจารณาได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีการนำเรื่องการนิรโทษกรรมอดีต กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน มาพิจารณาด้วยหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า คณะทำงานฯได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องนี้ แต่ไม่ได้ข้อยุติว่าควรจะดำเนินการอย่างไร

อ้างประชามติรธน.อยู่ใต้กระบอกปืน

ส่วนที่ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) รวมตัวกันคัดค้านนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า อดีต สสร.เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องบอกว่าของที่ทำมาดี ซึ่งไม่ได้ว่าอะไร อย่างนายเสรี สุวรรณภานนท์ จะมาร่วมก็เชิญ แต่ขอยกขึ้นมาถามว่า ที่ว่าดีนั้นดีจริงหรือไม่ การทำประชามติที่ผ่านมาก็ทราบดีว่าหลายจังหวัดอยู่ภายใต้ กฏอัยการศึก ประชามติภายใต้กระบอกปืน

ส่วนที่นักวิชาการวิจารณ์ว่าการที่รัฐบาลเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่ากับไม่เชื่อมั่น ในความบริสุทธิ์ของนายยงยุทธ ติยะไพรัช นายชูศักดิ์ กล่าวว่า กรณีของนายยงยุทธจะโดนใบเหลือง หรือใบแดงก็ไม่มีใครไปห้ามได้ แต่ที่เราต่อสู้คือกฎหมายเหมาเข่ง จะให้ตนถูกตัดสิทธิ์ด้วยหรือไม่ เพราะไม่รู้เรื่องว่าเขาไปทำอะไรกัน ที่ต่อสู้อยู่ทุกวันนี้ไม่ได้ต่อสู้เพื่อนายยงยุทธ แต่เป็นการต่อสู้เพื่อพรรคการเมืองให้อยู่รอด ไม่ใช่ยุบพรรคการเมืองได้ง่ายๆ เพราะในรัฐธรรมนูญเขียนคำว่า ‘ให้ถือว่า’

ตั้ง กมธ.แก้รธน.เพื่อให้ชอบธรรม

วานนี้ (26 มี.ค.) คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ซึ่งมีนายชัย ชิดชอบ เป็นประธาน ประชุมเพื่อหาข้อสรุปในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายสามารถ แก้วมีชัย เลขานุการวิปรัฐบาล แถลงว่า ที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะทำงานร่วมของพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองพรรคละ 2 คน ตัวแทนรัฐบาล 2 คน และตัวแทนวิปรัฐบาลอีก 2 รวมรวมเป็น 16 คน โดยคณะทำงานชุดนี้จะศึกษาคู่ขนานไปกับคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและอุปสรรคการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ที่นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ และคณะเสนอต่อสภาฯ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯชุดดังกล่าวจะมีตัวแทน 6 พรรคร่วมรัฐบาล โดยวิปรัฐบาลให้แต่ละพรรรคการเมืองนำญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการฯดังกล่าวนำกลับไปหารือก่อนจะกลับมาประชุมอีกครั้งในวันที่ 31 มี.ค. เพื่อขอมติวิปรัฐบาล หยิบยกญัตติดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาก่อน

นายสามารถ ยอมรับว่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องแก้ไขมาตรา 309 ด้วย ส่วนระยะเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นคงไม่ง่ายเดือนเดียวคงไม่เสร็จ

ด้านนายชัย ยอมรับว่าการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เพื่อให้เกิดความชอบธรรม สภามี ส.ส.480 คน ประชุมร่วมกันแล้วเสียงส่วนใหญ่เห็นควรให้ตั้งกรรมาธิการฯก็ต้องตั้ง

มี 3 ทางเลือกแก้เล็ก-กลาง-รื้อทั้งฉบับ

นายสามารถ เสริมว่าแนวทางในการประชุมของคณะทำงานจะหารือ 3 แนวทางคือ 1.การแก้ไขเล็กเพียงไม่กี่มาตรา ได้แก่มาตรา 237 มาตรา 190 ที่เกี่ยวกับการทำสัญญากับต่างประเทศแล้วต้องทำประชามติก่อน มาตรา 266 ที่เกี่ยวกับการห้ามส.ส.ทำหนังสือถึงหน่วยงานของราชการเพื่อแก้ปัญหาของชาวบ้าน และมาตรา 309 2.แก้ขนาดกลาง ซึ่งจะรวมถึงวิธีการเลือกตั้งส.ส.ที่ให้เป็นเขตเดียว เบอร์เดียว และที่มาของส.ว. และ 3. แก้ใหญ่ โดยใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นตัวตั้ง

จากนั้นเวลา 15.00 น.วันเดียวกัน มีการประชุมของคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยมีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนันายกฯ เป็นประธานในการประชุม

นายสามารถ แก้วมีชัย โฆษกคณะทำงานฯ แถลงว่า ที่ประชุมได้แต่งตั้งนายชูศักดิ์ เป็นประธานคณะทำงานฯ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รมช.พาณิชย์ เป็นรองประธานคณะทำงาน และตนเป็นเลขานุการและโฆษกคณะทำงานฯ โดยที่ประชุมได้มองภาพรวมทั่วไปก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นจึงมอบให้ตัวแทนของทุกพรรคร่วมรัฐบาลไปพิจารณาในรายละเอียดว่า มีมาตราใดบ้างที่รัฐธรรมนูญไปลิดรอนสิทธิที่จะต้องได้รับความคุ้มครองโดยกระบวนการยุติธรรม ของประชาชน มีมาตราใดบ้างที่ทำให้องค์กรหรือสถาบันการเมืองอ่อนแอ มีมาตราใดบ้างที่ทำให้การทำงานของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่กระทรวง ทบวงต่างๆ ต้องติดต่อกับต่างประเทศเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ และมีมาตราใดบ้าง ที่ทำให้บทบาทของส.ส.เกิดอุปสรรค

หลังจากนั้นในวันที่ 31 มี.ค. เวลา 13.30 น.จึงจะมาปรึกษาหารือในรายละเอียดอีกครั้ง จากนั้นจะให้เจ้าหน้าที่กฤษฎีการับไปดูเพื่อที่จะยกร่างเป็นของพรรคร่วมรัฐบาล แล้วจึงให้ส.ส.แต่ละพรรคลงชื่อให้ได้ 1 ใน 5 คือ 96 คน แต่เราจะเอา 100 คน เพื่อยื่นให้ประธานวุฒิสภา แต่ปัญหาคือวันที่ 19 พ.ค.จะปิดประชุมสมัยสามัญทั่วไป ดังนั้นจึงต้องหารือกันว่าจะมีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญหรือไม่

เผยเบื้องต้นเตรียมแก้4มาตรา

นายสามารถ กล่าวว่า มีการหยิบยกกันขึ้นมาพูดอย่างหลากหลาย บางคนไปไกลถึงขั้นระบุว่า มาตราที่ให้ส.ส.และรัฐมนตรีต้องแสดงหนี้สินทรัพย์สินต่อสาธารณะนั้น เหตุใดองค์กร ตามรัฐธรรมนูญจึงไม่ต้องแสดงด้วย รวมทั้งการสรรหาผู้ที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญนั้นควรที่จะมีการทบทวนด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะการสรรหาตุลาการรัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่รู้ว่าไม่เป็นกลางอย่างแท้จริง แต่บางคนก็ยังได้เป็น ตรงนี้เป็นจุดบกพร่องหรือไม่ อย่างไรก็ตาม คงจะไม่ได้แก้ทั้งฉบับ คงจะเป็นการแก้เล็กเท่านั้น ส่วนการแก้ทั้งฉบับนั้นคงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะมีการตั้งขึ้นมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมาตราที่คณะทำงานจะมีการแก้ไขนั้น ได้แก่ มาตรา 190 , 237 , 266 และ 309 สำหรับมาตรา 265 นั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่า หากมีการแก้ไขมาตราดังกล่าวด้วยจะทำให้ถูกมองว่า ส.ส.อยากเป็นที่ปรึกษาและเลขานุการรัฐมนตรี ส่วนมาตรา 190 นั้นพ.ต.ท.บรรยินได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า ควรที่จะต้องแก้ไข เพราะขณะนี้การทำงานที่กระทรวงพาณิชย์เกิดปัญหาอย่างมาก เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์จำเป็นต้องเจรจาติดต่อกับต่างประเทศ แต่ติดเงื่อนไขที่ต้องทำประชาพิจารณ์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

สำหรับมาตรา 190 เกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาใดๆระหว่างประเทศ ต้องให้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และเสนอต่อรัฐสภาเพื่อชอความเห็นชอบ มาตรา 237 เกี่ยวกับการกระทำของกรรมการบริหารพรรค ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำผิด ซึ่งจะนำไปสู่การยุบพรรค มาตรา 266 เกี่ยวกับการห้ามไม่ให้ ส.ส. ,ส.ว.ใช้สถานะหรือตำแหน่งก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ของผู้อื่น หรือพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม และ มาตรา 30 9 ซี่งบัญญัติว่า บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำ ที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและ การกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ (ซึ่งรวมทั้งประกาศและคำสั่งของ คปค.)

"นาม"ชี้แก้ม.309ไม่กระทบคตส.

นายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส.กล่าวว่าการที่รัฐบาลจะแก้ไข มาตรา 309 คงไม่สามารถให้ความเห็นอะไรได้ เพราะยังไม่ทราบว่าจะแก้ไขมาตรานี้จริงหรือไม่ และยังไม่ได้ศึกษาว่าถ้าแก้แล้วจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อ คตส.บ้าง

‘"ส่วนตัวเห็นว่าจะแก้ไขอย่างไรก็ไม่กระทบต่อ คตส. เพราะคตส.ทำตามหน้าที่ไม่มีเจตนาจะกลั่นแกล้งหรือให้ร้ายใคร และกฎหมายก็เปิดช่องให้ฟ้องร้อง คตส.ได้ โดยยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ได้อยู่แล้ว’"

นายนาม เชื่อว่าหากแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 จริงก็คงไม่ส่งผลอะไรย้อนหลังได้ เช่นถ้าคนไปตัดต้นไม้แล้วผิด ต่อมามีการแก้ไขกฎหมายว่า การตัดต้นไม้ไม่ผิด ก็ไม่ได้หมายความว่า จะพ้นจากความผิดในส่วนที่ได้ดำเนินการไปแล้ว

แหล่งข่าวกล่าวว่า แม้รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร แต่ คตส.ก็จะทำหน้าที่ นำคดีที่รับผิดชอบอยู่ขึ้นสู้ศาลให้ทันตามกำหนดอายุงานในเดือน มิ.ย.2551 เพราะหากคดีที่คตส.ทำส่งถึงศาลก็ไม่สามารถ ที่จะมาหยุดไม่ให้พิจารณาคดีความได้ ทุกอย่างจะหยุดลงก็ต่อเมื่อมีคำพิพากษาแล้วเท่านั้น

ส่วนที่รัฐบาลอ้างว่าเหตุที่แก้ไข มาตรา 309 เพราะไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐนั้น นายอุดม เฟื่องฟุ้ง คณะกรรมการ คตส. กล่าวว่า หลักของกฎหมายเมื่อประกาศใช้แล้วย่อมมีผลบังคับเกิดขึ้น ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายจึงมีหลักการเพียงสองอย่างคือ หาขออ้างเพื่อต้องการแก้ไข ให้กฎหมายเกิดผล กับการหาข้ออ้างเพื่อไม่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย หรือไม่ต้อง ปฏิบัติตามกฎหมาย ส่วนผลจะออกมาอย่างไรกรรมจะเป็นเครื่องชี้เจตนา

ปชป.ประกาศขวางแก้ม.237

ด้านนาย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป)ฝ่ายค้าน กล่าวว่าฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนุญ โดยเฉพาะ มาตรา 237 เพราะยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะแก้ไข ดังนั้น หากรัฐบาลนำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าที่ประชุมสภา ทางฝ่ายค้านก็จะมีมติไม่เห็นชอบ

ส่วนที่ทางรัฐบาลอ้างว่าหากมีการยุบพรรค อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ของประเทศ ตนคิดว่าทางรัฐบาลกำลังโน้มน้าวความคิดของประชาชนให้เข้าใจผิด ดังนั้น ทางฝ่ายค้านจะใช้เวทีทางรัฐสภาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ ว่าปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้ไม่ได้มีผลมาจากการยุบพรรค แต่เป็นเรื่องประสิทธิภาพของรัฐบาลต่างหาก

" กกต.ติงแก้รธน.ต้องทำเพื่อคนทั้วประเทศ"

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ต้องทำด้วยความรอบคอบ และต้องดูความถูกต้อง อย่าไปโทษรัฐธรรมนูญว่าไม่ดี หรือกระบวนการร่างทำไม่ดี แต่ควรมองคนที่ปฎิบัติไม่ถูกต้องเหล่านั้นด้วย รัฐธรรมนูญทำมาเพื่อคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะบางคนแต่ถ้าหากหลายพรรค บอกว่ามาตรา 237 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ ควรตัดออกไปก็ให้เป็นหน้าที่ของ สภาฯพิจารณาดีกว่า

‘คิดว่ารัฐธรรมนูญร่างมาด้วยความรอบคอบและผ่านการลงประชามติจากประชาชน ดังนั้นการแก้ไขควรจะทำด้วยความรอบคอบด้วย และเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญ ควรแก้โดยรวม และในช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งถ้าแก้ไขขณะนี้คิดว่าเร็วเกินไปนิด เนื่องจากเพิ่งผ่านการทำประชามติ จากประชาชนมา อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลต้องการ จะทำประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมอบหมายมา กกต. ก็พร้อมดำเนินการ’

ส่วนที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าการสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกกต.เป็นการจ้องจับผิดพรรคพลังประชาชน นายอภิชาต ยืนยันว่า การทำงานของกกต.ทำตรงตาม ข้อกฎหมาย ไม่เข้าข้างใคร และไม่ช่วยเหลือใคร ซึ่งตนยึดหลักปราศจากอคติ ในการทำงาน และไม่ได้รับใบสั่งจากใครทั้งสิ้น

นายอภิชาต กล่าวอีกว่า แม้ขณะนี้กกต.จะถูกจับตามองจากภายนอก แต่ก็ไม่ได้รู้สึกหนักใจ เพราะถือว่าทำตรงไปตรงมา ส่วนที่ใครมองว่ากกต.หลงทาง เพราะเมื่อ กรรมการบริหารพรรคถูกสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ต้องส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญเลยไม่ใช่ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาสอบสวน ก็เห็นว่าการส่งศาล ศาลถือว่า มีความเป็นธรรมที่สุดแล้ว และได้มีการกระทำอย่างเปิดเผย พร้อมยืนยันว่า กกต.จะทำในสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อชาติบ้านเมือง

นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวว่า กกต.เป็นเพียง ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะแก้ไขอย่างไร คงไม่สามารถพูดได้

"ของทุกอย่างมีทั้งข้อดี ข้อเสีย ต้องดูว่าแก้เพื่อประโยชน์เพื่อส่วนร่วม หรือเพื่อฝ่ายใด แต่ดิฉันเห็นว่าควรทำเพื่อประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่า ในมาตรา 237 วรรค 2 จะมีหรือไม่มีไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎหมาย แต่ขึ้นอยู่กับว่า มีความพร้อมในการบริหารประเทศมากน้อยแค่ไหน"

ส่วนที่นายกรัฐมนตรีระบุว่ามีเบื้องหลังเพื่อยุบพรรคพลังประชาชน นางสดศรี กล่าวว่า ต้องไปถามนายกฯ ว่าผู้ใหญ่คือใคร ส่วนตัวก็สงสาร กกต. เราไม่ใช่หน่วย กล้าตาย ไม่ใช่กามิกาเซ่ ที่จะมาใช้ กกต.ทิ้งทุ่นระเบิดสำหรับฝ่ายใดทั้งสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น