รัฐบาล “หุ่นเชิด” เอาแน่แก้รัฐธรรมนูญ ประชุมรวบรัดตั้งคณะกรรมการจากพรรคร่วม มาศึกษาการแก้ไข ย้ำชัดโละมาตรา 237 หนียุบพรรค ม.309 ล้าง คตส.ย้ำดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วที่สุด
วันนี้ (26 มี.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) โดยมี นายชัย ชิดชอบ ประธานวิปรัฐบาล เป็นประธานในที่ประชุม จากนั้น นายชัย นายสามารถ แก้วมีชัย เลขานุการวิปรัฐบาล และ นายวรวัจน์ เอื้อภิญญากุล กรรมการวิปรัฐบาล ร่วมกันแถลงผลการประชุม
โดย นายสามารถ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลขึ้น เพื่อศึกษาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้เสนอชื่อตัวแทนพรรคละ 2 คน รวมกับตัวแทนของรัฐบาล 2 คน และตัวแทนวิปรัฐบาลอีก 2 คน รวมทั้งสิ้นเป็น 16 คน ทั้งนี้ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเสนอรายชื่อเรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการประชุมร่วมกันครั้งแรกในเวลา 15.00 น.ในวันนี้ (26 มี.ค.) โดยคณะทำงานชุดนี้จะศึกษาคู่ขนานไปกับคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ และคณะ เสนอต่อสภา
นายสามารถ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังมีมติให้หยิบยกญัตติ เรื่องศึกษาปัญหาและอุปสรรคการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ นายบุญจง และคณะ เสนอและบรรจุในวาระการประชุมแล้วขึ้นมาพิจารณาก่อน เพื่อพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งวิปรัฐบาลได้มอบหมายให้ทั้ง 6 พรรคร่วมรัฐบาลกลับไปหารือกับพรรคของตัวเองก่อนที่จะมาประชุมร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 31 มี.ค.เพื่อขอมติวิปรัฐบาลหยิบยกมติด่วนดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาก่อน ทั้งนี้ ในส่วนของคณะกรรมาธิการวิสามัญนั้น จะมีตัวแทนจากทุกพรรคการเมือง รวมทั้งนักวิชาการ มาระดมความเห็นด้วยว่า มีประเด็นไหนบ้างของรัฐธรรมนูญที่ควรจะต้องแก้ไข
นายชัย กล่าวว่า การประชุมในช่วงเย็นเป็นการประชุมร่วมกันครั้งแรก จึงต้องมีการเลือกประธาน เลขานุการ และโฆษกเสียก่อน เพราะถือเป็นงานใหญ่ และประชาชนทั่วประเทศให้ความสนใจ ส่วนที่ประชุมวิปรัฐบาลได้พูดคุยลงรายละเอียดในมาตราต่างๆ ด้วยหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า มีบ้าง แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์เองก็ยังเคยหาเสียงไว้ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ 3-4 มาตรา เรามีเทปบันทึกเสียงเอาไว้ เหมือนกับพรรคพลังประชาชน ที่หาเสียงไว้ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นกัน แต่เรามีหลักฐานอยู่ ไม่ใช่อยู่ๆ จะเอามาตรา 237 มาแก้เฉพาะในส่วนของโทษยุบพรรค แต่เราจะถือเอาเรื่องที่ขัดต่อการบริหารแผ่นดินเป็นเรื่องใหญ่
สำหรับมาตรา 309 ที่ประชุมมีการพูดคุยกันด้วยหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า ก็คุยเหมือนกัน เพราะเกี่ยวโยงกับคำสั่งต่างๆ ของ คมช.แต่ไม่ใช่ว่าเราจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อไปลบล้างสิ่งต่างๆ เช่น คตส.อะไรที่แล้วไปแล้วก็ให้แล้วไป ซึ่งในมาตรา 309 นั้นก็คงจะมีการแก้ด้วย
ส่วนวางกรอบเวลาไว้หรือไม่ นายชัย กล่าวว่า เป็นไปตามกระบวนการของการออกกฎหมาย เพราะเดือนเดียวคงจะไม่เสร็จ เนื่องจากกระบวนการจะต้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญด้วย เช่น กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่เราจะทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
เมื่อถามว่า จะต้องให้ทันต่อการพิจารณาคดีความต่างๆ ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองใดทั้งสิ้น และทุกพรรคการเมือง เมื่อมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาแล้ว ก็จะมีสัดส่วนของแต่ละพรรคการเมืองมาพิจารณาร่วมกัน ส่วนการตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมานั้น เป็นการสร้างความชอบธรรมใช่หรือไม่ นายชัย กล่าวว่า ถูกต้อง สภามี ส.ส.480 คน ประชุมร่วมกันแล้วเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรตั้งกรรมาธิการวิสามัญก็ต้องตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อศึกษาพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ทุกพรรคจะต้องพิจารณาร่วมกัน เรื่องของเสียงข้างน้อยนั้นก็ต้องถือว่าแพ้ไปตามกระบวนการ
สำหรับมาตราอื่นๆ นั้น จะมีการแก้ไขด้วยหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า หลักใหญ่คือ ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่ดีเท่ารัฐธรรมนูญ 2540 เราจะเอารัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับมาเทียบกัน อันไหนเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ก็เอาของฉบับนั้นมาใช้ ต้องทำให้ถูกต้อง ไม่ใช่เอารัดเอาเปรียบหรือเพื่อประโยชน์ของ ส.ส.คนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการทำเพื่อส่วนรวมจริงๆ และการจะแก้ไขเพียงบมาตราเดียวนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องใช้เงินมหาศาล ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทำครั้งเดียวให้เสร็จทั้งหมดได้ก็ยิ่งดี
นายสามารถ กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางที่ที่ประชุมได้หารือกันนั้น มี 3 แนวทาง คือ 1.เป็นการแก้เล็ก เพียงไม่กี่มาตรา ได้แก่ มาตรา 237 มาตรา 190 ที่เกี่ยวกับการทำสัญญากับต่างประเทศแล้วต้องทำประชามติก่อน มาตรา 266 ที่เกี่ยวกับการห้าม ส.ส.ทำหนังสือถึงหน่วยงานของราชการเพื่อแก้ปัญหาของชาวบ้าน และมาตรา 309 2.แก้ขนาดกลาง ซึ่งจะรวมถึงวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ให้เป็นเขตเดียวเบอร์เดียว และที่มาของ ส.ว.และ 3.แก้ใหญ่ โดยใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นตัวตั้ง สำหรับตัวแทนของพรรคพลังประชาชน 2 คนที่จะมาเป็นคณะกรรมการนั้น คือ นายพีระพันธ์ พาลุสุข และ นายวรวัจน์ ส่วนตัวแทนจากรัฐบาล คือ นายชูศักดิ์ ศิรินิล และคณะกรรมการกฤษฎีกา
/0110