xs
xsm
sm
md
lg

“พลังแม้ว” หน้ามืดแบะท่าเน้นแก้ ม.237 หนียุบพรรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พลังแม้ว” เดินเครื่องเต็มตัวแก้ไขรัฐธรรมนูญ แบะท่าชัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขมาตรา 237 หนีคดียุบพรรค เตรียมถกพรรคร่วมในคณะรัฐมนตรีวันนี้ ขณะเดียวกันไม่สน “หมัก” พูดส่งเดชจะแก้ทั้งฉบับ ชี้ต้องฟังความเห็นของคนในพรรคก่อน “ชูศักดิ์” อ้างแก้ไขไม่ใช่หนีผิดแต่ทำให้การยุบพรรคทำได้ยากขึ้น

วันนี้ (25 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงแนวคิดการแก้ไขรัฐธรรรมนูญ ว่า ตอนนี้มี 2 แนวคิดคือแก้ไขทั้งฉบับและแก้ไขเฉพาะมาตรา 237 ก่อนโดยอยากให้ทุกพรรคร่วมรัฐบาลไปหารือและประชุมพรรคกันก่อนว่ามีความเห็นอย่างไร การประชุม ครม.วันนี้ก็อาจนำมาหารือด้วย

นายชูศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า การประชุมพรรคพลังประชาชนในวันนี้ก็น่าจะมีการหารือเรื่องนี้เพื่อฟังเสียง ส.ส.ว่าควรแก้ประเด็นเดียวคือ มาตรา 237 หรือแก้หลายประเด็นในคราวเดียวกัน เพราะการแก้รัฐธรรมนูญนั้นต้องอาศัยเสียงของ ส.ส. ที่มองว่ายังมีความเห็นไม่ตรงกันนั้น มันยังไม่มีการหารืออย่างเป็นเรื่องเป็นราว

ส่วนพรรคร่วมรัฐบาล อาทิ พรรคเพื่อแผ่นดินที่ยังสงวนท่าทีนั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ยังเป็นความเห็นของสมาชิกในพรรคนั้นเพียงคนเดียว แต่สมาชิกพรรคนั้นอีก 2 คนที่อยู่ร่วมในวิปรัฐบาลนั้นตนสามารถยืนยันได้ว่า 2 คนนั้นเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ควรจะแก้ไข

ผู้สื่อข่าวถามถึงการลงสัตยาบันร่วมกับของพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะท้ายที่สุดจะต้องมีการยกร่างฯ และให้ ส.ส.เข้าชื่อกันอย่างน้อย 1 ใน 5 ซึ่งก็ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเดียว ซึ่งความเห็นขณะนี้ยังเป็นเพียงการนำร่องที่อยากจะมีการแก้ไขมาตราเดียว แต่ยังไม่มีข้อยุติที่ชัดเจน คือเหมือนว่าจะแก้ไขมาตราเดียว แต่สุดท้ายก็อาจจะเป็นการแก้ไขทั้งพวงเลยก็ได้ ซึ่งกฎหมายไม่ควรยกเข่งเหมารวมแบบนี้ เพราะในอนาคตจะไม่มีพรรคการเมืองเหลืออยู่ในประเทศไทย จึงไม่แปลกที่พรรคการเมืองบางพรรคที่เคยมีกรรมการบริหารอยู่ 50-60 คนก็ยังเหลือเพียง 19 คน

เมื่อถามว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชาชนย้ำว่าควรแก้ไขทั้งฉบับ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของที่ประชุมต้องหารือ ไม่ใช่ว่านายสมัครหรือตนจะแก้ไขได้โดยลำพัง ข้อสำคัญมันต้องอาศัยเสียงจาก ส.ส. ตนจึงบอกไปว่ามันต้องหารือกัน และยังให้แนวคิดกับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และรมว.คลัง ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชาชนไปว่าไปประชุมกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลแล้วจากนั้นค่อยประชุม ส.ส.เมื่อได้ข้อยุติประการใดแล้วก็นำเสนอเป็นการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วค่อยแต่งตั้งคณะกรรมการฯขึ้นมา 1 คณะ โดยเชิญนักวิชาการและฝ่ายต่างๆ มาร่วมพิจารณายกร่างถ้อยคำที่จะแก้ไข

เมื่อถามว่าจะเชิญพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมหารือด้วยหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ก็สุดแต่ความเห็น เพราะเวลาลงชื่อนั้นก็เปิดกว้างอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า หากมีข้อสรุปว่าควรแก้ไขจะผลักดันในเรื่องนี้สำเร็จในสมัยการประชุมสภานี้ทันหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าจะแก้ไขมาตราใดบ้าง หากแก้ไข 1 มาตราก็น่าจะยกร่างฯ ถ้อยคำได้ทัน หากแก้ไขหลายประเด็นมันก็ยาวหน่อย ข้อสำคัญที่สุดคือถ้าแก้ไขแล้วจะใช้ถ้อยคำอย่างไร เช่น มาตรา 237 คำว่า “ให้ถือว่า...” นั้น คำคำนี้จะใช้ถ้อยคำเช่นใด จะตัดทิ้ง หรือแก้ไขเป็นคำว่า “ให้สามารถพิสูจน์ได้ว่า...” เพราะกฎหมายทำนองนี้ค่อนข้างจะสันนิษฐานแบบเด็ดขาด กกต.บางคนบอกว่าไม่มีทางเลือก ฉะนั้น เมื่อไม่มีทางเลือกแล้วจะเขียนกฎหมายให้ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาพิสูจน์ได้หรือไม่ว่าพิสูจน์ได้ว่าพรรคไม่มีส่วนรู้เห็น การกระทำนั้นๆ เป็นเรื่องของบุคคล หากเปิดโอกาสแบบนี้จะเห็นด้วยหรือไม่ เป็นต้น ขอเรียนว่า กฎหมายนั้นพูดได้ว่าแก้ไขแต่ถ้อยคำที่จะแก้ไข ยกเลิก เพิกถอน เป็นสิ่งสำคัญจะแก้ไข

เมื่อถามว่า หลายฝ่ายคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ขอเรียนว่าเป็นสิทธิที่คัดค้านได้ แต่ขอย้ำว่าสิ่งที่แก้ไขนั้นไม่ได้คิดว่าคนที่ทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิด ใครที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งก็ต้องโดนใบเหลือง-ใบแดงตามปกติ แต่สิ่งที่แก้ไขนั้นคือพรรคการเมืองควรเป็นองค์กรสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตย หากร่างกฎหมายแล้วสามารถยุบพรรคได้ง่าย ตนจึงย้ำว่าตอนนี้หลายพรรคเริ่มปรับคณะกรรมบริหารพรรคแล้ว อย่างน้อย 2 พรรคที่ปรับปรุงให้เหลือ10-19 คน จาก 80-90 คน เพราะมันมาจากกฎหมายนี้

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ย้ำว่า การแก้ไขนั้นเพื่อให้พรรคการเมืองเป็นองค์กรที่พัฒนาไปได้ และไม่ได้แก้ว่าไม่สามารถยุบพรรคได้ เพราะพรรคก็โดนยุบได้ตามกฎหมายพรรคการเมืองฉบับเก่าๆ หากกระทำการที่ผิดกฎหมาย เช่น ทำลายล้างการปกครองประชาธิปไตยเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่มิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับเขียนว่า การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งให้ถือว่าเป็นการให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยมิได้เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ตนขอถามว่า เขียนไว้ว่ากระทำผิดฎหมายเลือกตั้งมีอะไรบ้าง เช่นปราศรัยใส่ร้ายผู้สมัคร ส.ส.พรรคอื่น แบบนี้ต้องโดนใบแดง แต่ถ้าต้องโดนยุบพรรคด้วย แปลว่ามันกว้างไกลเหลือเกิน แบบนี้คือเหตุที่พรรคต่างไม่สบายใจในเรื่องนี้

เมื่อถามว่า หากแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ผลผูกพันทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการยุบพรรคพลังประชาชนจะเป็นอย่างไร นายชูศักดิ์ กล่าวว่า หากยกเลิกไปแล้ว ต้องถามว่ายกเลิกอย่างไร ยกเลิกทั้งหมดหรือยกเลิกเพื่อให้ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาพิสูจน์ได้หรือไม่ หลักกฎหมายโดยทั่วไปนั้นเมื่อกฏหมายออกมาภายหลัง โดยให้ยกเว้นหรือยกเลิกการกระทำนั้นๆ มันก็มีผล และมีผลกับทุกพรรค ไม่ใช่เฉพาะพรรคพลังประชาชนเพียงพรรคเดียว

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 ว่า ทางพรรคได้ให้ทางวิปรัฐบาลจัดการ ส่วนที่ประชุมพรรคคงมีการหารือนอกรอบ ส่วนจะให้มีการแก้ไขทั้งฉบับนั้น ก็คงจะต้องมาหารือกันอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าคงมีการพูดจากัน เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีความเห็นที่แตกต่างกัน เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม อีกทั้งส.ส. เป็นตัวแทนของประชาชน นำเสนอให้แก้ไข ตามหลักการ ถ้าจะแก้ก็แก้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า จะเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าหารือร่วมหรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า เหมาะสมที่จะเชิญมาหารือกัน ถือเป็นความเห็นส่วนตัว ทุกพรรคมีสิทธิออกความเห็น ถ้าเห็นว่าอะไรมีปัญหาก็คลี่คลาย การดำเนินการทางด้านสภา และด้านการบริหารจะราบรื่น เหมาะสมที่จะประชุมร่วมกัน

ถามว่า ในส่วนของรัฐบาลมีความชัดเจนในการร่างสัตยาบรรณร่วมกัน นายสมชาย กล่าวว่า ทางวิปรัฐบาลจะเป็นผู้นำไปหารือกัน ซึ่งเท่าที่พูดคุยกันตกผลึกหลายฝ่ายเห็นว่าควรมีการแก้ไขในส่วนที่มีอุปสรรคในการทำงาน ส่วนรายละเอียดอย่างไรนั้น เพิ่งเป็นการเริ่มต้น

/0110
กำลังโหลดความคิดเห็น