xs
xsm
sm
md
lg

มือที่มองไม่เห็นกับนอมินีที่ไม่มียางอาย

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

ในทางการเมืองไทยศัพท์แสงคำว่า “มือที่มองไม่เห็น” นั้นปรากฏขึ้นตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2550 ที่ผ่านมา โดยนายสมัคร สุนทรเวช และพรรคพลังประชาชนที่พยายามจะโยง “มือที่มองไม่เห็น” เข้ากับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ ความพยายามในการล้มการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550

จากนั้น เมื่อมีข่าวว่า กกต.กำลังจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาว่า จากการกระทำผิดในการเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคพลังประชาชนนั้นจะเข้าเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญมาตรา 237 วรรค 2 ที่ระบุว่า

“ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารของพรรคการเมืองผู้ใด มีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 68 และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวมีกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง”

คำว่า “มือที่มองไม่เห็น” จึงถูกหยิบยกนำมาใช้อีกครั้ง โดยคราวนี้นอกจากจะถูกหยิบขึ้นมาใช้โดยนายสมัครและพรรคพลังประชาชนแล้ว ผู้ที่ประสานเสียงคำๆ นี้ร่วมกับนายสมัครก็คือสมาชิกจากบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตยที่ต่างก็ตีตนไปก่อนไข้ กลัวว่าการกระทำทุจริตของกรรมการบริหารพรรคของตนนั้นอาจจะพาพรรคพวกลงหุบเหวทางการเมืองไปด้วยกันทั้งหมด หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำกรรมการบริหารพรรคนั้นเข้าข่ายมาตรา 237 ตามรัฐธรรมนูญ

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการผลักดันให้มีการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ณ เวลานี้ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่งได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนไทยกว่า 14 ล้านคนในเดือนสิงหาคม 2550 และเพิ่งถูกนำมาบังคับใช้ได้เพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น

แม้ว่าในการเมืองไทยคำว่า “มือที่มองไม่เห็น” จะเป็นศัพท์ใหม่ เช่นเดียวกับคำว่า “นอมินี” ที่ทาง พรรคพลังประชาชน และ กกต.บางท่านระบุว่าไม่มีบรรจุอยู่ในกฎหมาย ดังนั้นจึงไม่สามารถเอาผิดได้หากนักการเมืองคนใด หรือ พรรคการเมืองพรรคใดยินยอมประพฤติตนเป็นตัวแทนของ บุคคลคนใดบุคคลหนึ่ง หรือ คณะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ในทางเศรษฐศาสตร์และธุรกิจแล้วคำว่า “มือที่มองไม่เห็น” และ “นอมินี” ต่างเป็นคำที่มีใช้มานมนานเต็มทีแล้ว

ในทางเศรษฐศาสตร์ มือที่มองไม่เห็น หรือ Invisible Hand เป็นคำที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่นาม อดัม สมิธ (Adam Smith; ค.ศ.1723-1790)

สมิธ ประดิษฐ์คำว่า “มือที่มองไม่เห็น” ขึ้นมาเพื่ออุปมาอุปไมยถึงอิทธิพลโดยธรรมชาติที่ก่อให้เกิดตลาดเสรีผ่านการแข่งขันและภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากรที่ขาดแคลน โดยเขาเชื่อว่าในระบบสังคมที่ระบบเศรษฐกิจเป็นตลาดเสรี ผู้ที่อยู่ในระบบย่อมพยายามที่จะทำให้ตัวเองได้รับผลประโยชน์สูงสุดอยู่แล้ว ผ่านปฏิสัมพันธ์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนต่างๆ ซึ่งนั่นย่อมทำให้การทำงานระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยภาพรวมนั้นดีขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้นโดยอัตโนมัติ ดังนั้นหากจะกล่าวอีกนัยหนึ่งแล้ว “มือที่มองไม่เห็น” ก็คือ “กลไกตลาด” ที่บังเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ โดยอิสระ ไม่ได้หมายความถึงการใช้อิทธิพลใดๆ จากบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาบังคับให้เกิดผลลัพธ์ในทางใดทางหนึ่งดังเช่นที่นายสมัครและพรรคร่วมรัฐบาลพยายามหมายความถึงในปัจจุบัน

ในความเห็นของผม การออกมากล่าวถึง “มือที่มองไม่เห็น” อย่างลอยๆ ของนายสมัครและพรรคพวกโดยปราศจากหลักฐานอ้างอิง และปราศจากความพยายามที่จะสืบสาวราวเรื่องหรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ว่า แท้จริงแล้ว “มือที่มองไม่เห็น” นั้นคืออะไร? เป็นใคร? เป็นบุคคล หรือ กลุ่มบุคคล และมีชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไร? นั้นเป็นเพียงวาทกรรมที่นายสมัครและพรรคพวกนิยมชมชอบยกขึ้นมาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อแก้ตัวและเพื่อเตรียมไว้สำหรับการดำเนินการหาผลประโยชน์ใส่ตัวเท่านั้น

แท้จริงแล้ว การกล่าวอ้างถึง “มือที่มองไม่เห็น” อย่างซ้ำซากและเลื่อนลอยของนายสมัครและพรรคพวกไม่ได้ส่งผลดีต่อตัวนายสมัครเท่าใดนัก เพราะ อาจทำให้คนจำนวนไม่น้อยคิดไปได้ว่า “มือที่มองไม่เห็น” คงจะหมายถึงการใช้อิทธิพล เครือข่าย และอำนาจเงินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเพื่อเข้ามาชักใยนายสมัคร คนในและคนนอกพรรคพลังประชาชนเพื่อทำให้นายสมัคร คณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ในค่ายของพรรคร่วมรัฐบาลกระทำการใดๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ครอบครัว และเครือญาติก็เป็นได้ อย่างเช่น การทำให้คดีภาษีขาดอายุความ, การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม, การโยกย้ายและแต่งตั้งข้าราชการ เป็นต้น

กระนั้น โดยสภาพความเป็นจริงของการเมืองไทยและความเป็นไปในเชิงเหตุและผล ผมคิดว่าความหมายที่แท้จริงของ “มือที่มองไม่เห็น” นั้นก็คือ “กฎแห่งกรรม” คือ “บุญ-กรรม” ที่นักการเมืองแต่ละคนและพรรคการเมืองแต่ละพรรคได้ก่อเอาไว้ พรรคการเมืองใดที่ประพฤติสุจริตก็ได้ผลที่สุจริต พรรคการเมืองใดประพฤติทุจริตก็จำต้องได้ชดใช้กรรมชั่ว คุณซื้อเสียง (และถูกจับได้) คุณก็ต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด พรรคการเมืองและคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่มีกรรมการคนใดทำชั่ว ด้วยการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งก็ย่อมที่จะต้องได้รับผลลัพธ์แห่งการกระทำชั่วนั้นเอง

แท้จริงแล้ว คุณสมัครและคนของพรรคพลังประชาชนซึ่งอดีตก็คือคนของพรรคไทยรักไทยน่าจะทราบถึง มือที่มองไม่เห็นและกฎแห่งกรรมในความหมายที่ผมว่าดีกว่าใคร เพราะสิ่งเหล่านี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคไทยรักไทย

การดันทุรัง ฝืน “ธรรมชาติ” ฝืน “กฎแห่งกรรม” ด้วยการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ พยายามแก้กรรมชั่วที่ได้ก่อเอาไว้ด้วยการกระทำชั่วซ้ำไปอีก รังแต่จะเป็นการขมึงเกลียวปัญหาของตัวเองและของบ้านเมืองให้รัดแน่นยิ่งขึ้นโดยอัตโนมัติ.
กำลังโหลดความคิดเห็น