xs
xsm
sm
md
lg

มติที่ปรึกษา 6 : 1 หนุน กกต.เสนอยุบ “ชาติไทย-มัชฌิมาฯ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชาติไทย-มัชฌิมาฯ หมดทางรอด ที่ปรึกษากฎหมาย กกต.มีมติ 6 ต่อ 1 กรรมการบริหารพรรคที่เป็นผู้สมัครทุจริตเลือกตั้ง เข้าข่ายพรรคการเมืองรู้เห็นแล้ว พร้อมชี้ มาตรา 103 วรรค 2 พ.ร.บ.เลือกตั้งฯ ไม่เปิดโอกาสให้ กกต.ใช้ดุลพินิจเป็นอื่น มัด กกต.ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งยุบเท่านั้น

วานนี้ (26 มี.ค.) คณะที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีนายสุพล ยุติธาดา เป็นประธานได้ มีการประชุมพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายมาตรา 103 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. กรณีการเสนอยุบพรรคการเมืองจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ หากเกิดจากการที่กรรมการบริหารพรรคซึ่งเป็นผู้สมัครไปกระทำผิดเลือกตั้งจนถูก กกต.สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

ภายหลังการประชุมกว่า 1 ชั่วโมง นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 ในที่ปรึกษากฎหมายแถลงว่า ที่ประชุมได้พิจารณาใน 2 ประเด็น คือ 1.ถ้ากรรมการบริหารพรรคดำเนินการซื้อสิทธิขายเสียงที่ถือว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมายเสียเอง จะถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำความผิดตามมาตรา 103 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่ให้ถือว่าเป็นการกระทำการเพื่อให้ซึ่งให้ได้มาอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยที่ประชุมมีมติ 6 ต่อ 1 เห็นว่า ถ้ากรรมการบริหารพรรคทำก็ถือว่าพรรคการเมือง กระทำการที่เข้าข่ายมาตรานี้แล้ว 2.เมื่อเข้าข่ายตามมาตรา 103 วรรค 2 กกต.สามารถมีดุลพินิจเป็นอย่างอื่นไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ มติที่ประชุม 6 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง เห็นว่า คำในมาตรา 103 วรรค 2 โดยเฉพาะคำว่าว่า “ให้ถือว่า” มัดไว้ ให้ กกต.ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ

“ก่อนที่ปรึกษากฎหมายจะมีมติดังกล่าว ได้อภิปรายในข้อกฎหมายว่าในกรณี 103 วรรค 1 ได้ระบุถึงการกระทำความผิดของผู้สมัคร ส่วนในวรรค 2 เขียนถึงการรู้เห็นของกรรมการบริหารพรรค แต่ปัญหา คือ ถ้ากรรมการบริหารเป็นผู้สมัครและกระทำความผิดเสียเองจะถือว่า เขาทำผิดอยู่วรรค 1 หรือวรรค 2 ซึ่งที่ปรึกษาเห็นว่า แม้คำในกฎหมายจะไม่เขียนชัดก็ตาม แต่ถ้าตัวกรรมการบริหารพรรคถ้าทำผิดเสียเอง ก็ถือว่าพรรคการเมืองรู้แล้ว จริงอยู่ที่มาตราดังกล่าวใน วรรค 2 เขียนคล้ายกับว่าจะต้องมีกรรมการบริหารอีกหนึ่งคนรู้เห็น แต่กรณีนี้ กกต.มัดประเด็นมาเลยว่าถ้าผู้สมัครกับกรรมการบริหารพรรคเป็นคนเดียวกัน จึงต้องดูว่าจะนำวรรค 2 มาใช้บังคับได้เลยหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าน่าจะเข้าตามวรรคที่กำหนดไว้แล้ว ซึ่งการตีความดังกล่าวเป็นการตีความยึดตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ”

นายสมคิด กล่าวอีกว่า แม้ที่ประชุมจะมีการอภิปรายกรณีที่ว่าจะต้องมีกระบวนการยับยั้งการกระทำผิด ความผิดตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญก่อนจึงจะถือว่าเข้าข่ายความที่เป็นเหตุให้ต้องยุบพรรค แต่เนื่องจากประเด็นที่ กกต.สอบถามมาไม่ได้ถามเรื่องนี้ จึงไม่ได้มีการลงมติในเรื่องดังกล่าว

“จริงอยู่ มาตรา 103 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ จะยึดโยงไปที่มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ แต่ที่ปรึกษากฎหมายก็คุยกันว่า ที่โยงไปนั้นหมายถึงฐานความผิดว่าถ้าหากมีการกระทำที่เข้าข่าย 103 วรรค 2 ก็ถือว่ากระทำความผิดเพื่อให้ได้ซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศที่ไม่ถูกต้อง แต่กระบวนการตามมาตรา 68 วรรคอื่นนั้น มองว่าเป็นการเขียนขึ้นเป็นการทั่วไป ซึ่งมาตรา 103 วรรค 1 และ 2 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง และมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญได้เขียนกระบวนการนี้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไปโยงมาตรา 68 แล้ว”

นายสมคิด ย้ำว่า การให้ความเห็นของคณะที่ปรึกษาเป็นความเห็นข้อกฎหมายตามมาตรา 103 ไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริง และไม่ได้มีการไปโยงเกี่ยวกับการที่จะนำไปสู่การยุบพรรคคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะ และที่ กกต.ให้มาพิจารณาก็ไม่ได้มีการระบุว่าพรรคนั้นพรรคนี้ ซึ่ง กกต.จะนำความเห็นของที่ปรึกษาไปดำเนินการกับพรรคการเมืองใดก็เป็นเรื่องของ กกต.ไม่เกี่ยวกับที่ปรึกษา โดยคาดว่าความเห็นของคณะที่ปรึกษาจะเสนอสู่ กกต.ได้ภายในสัปดาห์นี้ หรืออย่างช้าสัปดาห์หน้า

ด้าน นายขวัญชัย สันติสว่าง อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ยอมรับว่าตนเองเป็นเสียงข้างน้อย โดยเห็นว่าการตีความในมาตราดังกล่าวจะต้องตีความตามลายลักษณ์อักษร อย่าเพิ่งเอาเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตีความก่อน ซึ่งเท่าที่ดูมาตามนี้กรรมการบริหารที่ทำผิดน่าจะเป็นเรื่องเฉพาะตัว เพราะวรรค 2 จะมีข้อความว่า หัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคผู้ใด มีส่วนรู้เห็น ซึ่งคำว่าผู้ใดนั้นน่าจะหมายถึงมีกรรมการบริหารพรรคอื่นอีกคนหนึ่งจะต้องรู้เห็น เพราะการที่ผู้สมัครซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคกระทำผิดนั้นจะให้เข้าไปรู้เห็นกับตนเองได้อย่างไร

รายงานข่าวแจ้งว่า นายขวัญชัยได้อภิปรายในที่ประชุมว่า การยุบพรรคถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะให้ยุบพรรค เพียงการกระทำของคนคนเดียว เพราะเรื่องนี้มีข้อสรุปว่ากรรมการบริหารพรรครายอื่นไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวก็จะเป็นไปตามขั้นตอน โดยจะต้องให้เลขานุการที่ปรึกษากฎหมาย กกต.นำเสนอเรื่องเข้าที่ที่ประชุม กกต.ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นสัปดาห์หน้า เนื่องจากสัปดาห์นี้จะไม่มีการประชุม กกต.แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น