xs
xsm
sm
md
lg

ชาติไทย-มัชฌิมาไม่รอด มติที่ปรึกษาฯ ให้ กกต.ส่งศาล รธน.สั่งยุบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาติไทย-มัชฌิมาฯ หมดทางรอด ที่ปรึกษากฎหมาย กกต. มีมติเสนอความเห็นว่า กก.บริหารพรรคที่เจอใบแดง ถือว่าเข้าข่ายพรรคร่วมรู้เห็น ขณะเดียวกัน ม. 103 วรรค 2 ก็ไม่เปิดโอกาสให้กกต.ใช้ดุลยพินิจเป็นอื่น นอกจากต้องยื่นศาล รธน. พิจารณาสั่งยุบพรรคสถานเดียว "หนูนา" ลั่นจะปกป้องพรรคจนถึงที่สุด

วานนี้ ( 26 มี.ค.) คณะที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย กกต.ที่มีนายสุพล ยุติธาดา เป็นประธาน ได้มีการประชุมพิจารณาปัญหาข้อกฎหมาย มาตรา103 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. กรณีการเสนอยุบพรรคการเมืองจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ หากเกิดจากการที่กรรมการบริหารพรรค ซึ่งเป็นผู้สมัครไปกระทำผิดเลือกตั้งจนถูก กกต.สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

หลังการประชุม นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อ.นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 1 ในที่ปรึกษากม. แถลงว่าที่ประชุมได้พิจารณาใน 2 ประเด็น

1.ถ้า กก.บริหารพรรคทำการซื้อสิทธิขายเสียง ที่ถือว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมายเสียเอง จะถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำความผิดตาม มาตรา103 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ ที่ให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยที่ประชุมมี มติ 6 ต่อ 1 เห็นว่า ถ้ากก.บริหารพรรคทำ ก็ถือว่าพรรคการเมืองกระทำการที่เข้าข่ายมาตรานี้แล้ว

2.เมื่อเข้าข่ายตาม มาตรา 103 วรรค 2 กกต.สามารถมีดุลพินิจเป็นอย่างอื่นไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ มติที่ประชุม 6 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง เห็นว่า คำในมาตรา 103 วรรค 2 โดยเฉพาะคำว่า "ให้ถือว่า" มัดไว้ ให้ กกต.ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคเท่านั้น

"ก่อนที่จะมีมติดังกล่าว เราได้อภิปรายในข้อกฎหมายว่า ในกรณี 103 วรรค 1 ได้ระบุถึงการกระทำความผิดของผู้สมัคร ส่วนในวรรค 2 เขียนถึงการรู้เห็นของกก.บริหารพรรค แต่ปัญหาคือ ถ้ากก.บริหารเป็นผู้สมัครและกระทำความผิดเสียเอง จะถือว่า เขาทำผิดอยู่วรรค 1 หรือ วรรค 2 ซึ่งที่ปรึกษาเห็นว่า แม้คำในกฎหมายจะไม่เขียนชัดก็ตาม แต่ถ้าตัว กก.บริหารพรรคถ้าทำผิดเสียเอง ก็ถือว่าพรรคการเมืองรู้แล้ว จริงอยู่ที่มาตราดังกล่าวในวรรค 2 เขียนคล้ายกับว่าจะต้องมีกก.บริหารอีกหนึ่งคนรู้เห็น แต่กรณีนี้ กกต.มัดประเด็นมาเลยว่า ถ้าผู้สมัครกับกก.บริหารพรรค เป็นคนเดียวกัน จึงต้องดูว่า จะนำวรรค 2 มาใช้บังคับได้เลยหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า น่าจะเข้าตามวรรคที่กำหนดไว้แล้ว ซึ่งการตีความดังกล่าว เป็นการตีความยึดตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ"

นายสมคิด กล่าวอีกว่า แม้ที่ประชุมจะมีการอภิปรายกรณีที่ว่าจะต้องมีกระบวนการยับยั้งการกระทำผิด ความผิดตาม ม. 68 ของรัฐธรรมนูญก่อนจึงจะถือว่าเข้าข่ายความที่เป็นเหตุให้ต้องยุบพรรค แต่เนื่องจากประเด็นที่ กกต.สอบถามมาไม่ได้ถามเรื่องนี้ จึงไม่ได้มีการลงมติในเรื่องดังกล่าว

"จริงอยู่ ม.103 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ จะยึดโยงไปที่ ม.68 ของรัฐธรรมนูญ แต่ที่ปรึกษากฎหมายก็คุยกันว่า ที่โยงไปนั้นหมายถึงฐานความผิดว่า ถ้าหากมีการกระทำที่เข้าข่าย 103 วรรค 2 ก็ถือว่ากระทำความผิดเพื่อให้ได้ซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศที่ไม่ถูกต้อง แต่กระบวนการตาม ม.68 วรรคอื่นนั้น มองว่าเป็นการเขียนขึ้นเป็นการทั่วไป ซึ่ง ม.103 วรรค 1 และ 2 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง และ ม.237 ของรัฐธรรมนูญได้เขียนกระบวนการนี้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไปโยงม.68 แล้ว"

ทั้งนี้ คาดว่าความเห็นของคณะที่ปรึกษา จะเสนอสู่กกต.ได้ภายในสัปดาห์นี้ หรืออย่างช้า สัปดาห์หน้า

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. กล่าวว่าถ้าที่ปรึกษาฯสรุปความเห็นส่งมา ก็จะนำเข้าที่ประชุมใหญ่ กกต.ให้เร็วที่สุด แต่จะได้ข้อสรุปทันทีหรือไม่ ก็ต้องดูว่าข้อมูล ที่ส่งมาเพียงพอหรือไม่ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ภายใน 2 สัปดาห์

น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวถึงกรณีที่ที่ปรึกษากฎหมายของกกต. เสนอความเห็นให้ยุบพรรคชาติไทยว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นยุบพรรค เป็นแค่ขั้นตอนที่มีการส่งให้ศาลรธน. พิจารณา ซึ่งทางพรรคก็ต้องตั้งทีมทนายเพื่อไปสู้กันในชั้นศาลให้ถึงที่สุด

ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน กล่าวว่าทางพรรครู้สึกเห็นใจพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาฯ แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกเห็นใจ กกต.ด้วย เพราะก่อนหน้านี้ กกต.ก็บอกว่า ก็ไม่รู้ทำอย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญ ม.237 รัดคอเอาไว้ ก็เลยต้องตัดสินออกมาอย่างนี้ ซึ่งในส่วนของพรรคพลังประชาชน ก็คงเป็นเรื่องที่เลี่ยงยาก

สำหรับกรณีของนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ที่อาจจะถูกเทียบเคียงกับทั้ง 2 พรรคนั้น ร.ท.กุเทพ กล่าวว่า เมื่อถึงตรงนั้นก็ต้องไปต่อสู้กันอีกครั้ง แต่สิ่งที่เราจะทำได้ตอนนี้คือ เร่งแก้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น