xs
xsm
sm
md
lg

มฌ.-ชท.เข้าขั้นตรีทูต กม.ผูกมัดส่งศาล รธน.ชี้ขาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สุเมธ” เผยที่ประชุม กกต.เห็นว่าถ้อยคำ “ให้ถือว่า” ตามมาตรา 103 วรรค 2 พ.ร.บ.เลือกตั้งบังคับให้ กกต.ต้องส่งเรื่องไปยังศาล รธน.พิจารณายุบพรรค หาก กก.บห.ทำผิดจนถูกสั่งเพิกถอนสิทธิ

วันนี้ (19 มี.ค.) นายสุเมธ อุปนิสากร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม กล่าวถึงกรณีที่ กกต.ให้ที่ปรึกษาด้านกฎหมายพิจารณาแปลความมาตรา 103 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเลือกตั้งฯ เกี่ยวกับการยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย ว่า ในรัฐธรรมนูญมาตรา 237 วรรค 2 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ มาตรา 103 วรรค 2 ที่บอกว่า หัวหน้าพรรค หรือ กรรมการบริหารพรรค กระทำความผิดกฎหมายให้ถือว่าพรรคการเมืองได้อำนาจการปกครองโดยวิถีทางที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซี่งจะไปเข้า มาตรา 94(1) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ ที่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งยุบ เมื่อกฎหมายมันกำหนดมาอย่างนี้ ทำให้ กกต.คิดว่าคงทำอย่างอื่นไม่ได้เลย

“กกต.เองก็เชื่อว่า กรรมการบริหารหรือหัวหน้าพรรคการเมือง ไม่มีส่วนล่วงรู้ เราก็รู้กัน กฎหมายมาตรานี้ มันเขียนบังคับเอาไว้หรือเปล่า ก็เลยขอให้ที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.ดูว่า กกต.จะแปลเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่ แต่ตามที่ผมเรียนมา ถ้ากฎหมายมันเขียนคำว่า “ให้ถือว่า” ก็จะแปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้ มันคล้ายกับมัดเอาไว้เลย มัดคอ กกต.ไว้ไม่มีทางที่จะเห็นเป็นอย่างอื่นได้เลย เว้นแต่เขียนว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อน อย่างนี้แปลเป็นอย่างอื่นได้ นี่คือ ความเห็นผม และก็อยากให้ที่ปรึกษาของพรรคการเมืองทั้งหลาย ช่วยแสดงความเห็นด้วยว่าคำว่า “ให้ถือว่า” นั้น จะแปลเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่ ซึ่ง กกต.ไม่มีทางเลือก ต้องเห็นใจด้วย ช่วยเสนอมาว่าจะแปลเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่”

เมื่อถามว่า กกต.ยึดความผิดตามมาตรา 94(1) ใช่หรือไม่ นายสุเมธ กล่าวว่า ข้อกฎหมายถือว่าถ้ากรรมการบริหารพรรคทำผิด ให้ถือว่าได้อำนาจการปกครองประเทศโดยการกระทำที่ไม่ชอบ ซึ่งมันเข้ามาตรา 94(1) เขาให้ถือเป็นอย่างนั้น ไม่มีทางจะเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น จะขอรอดูความเห็นของคณะที่ปรึกษาที่ กกต.ขอให้พิจารณาก่อน หากมีความเห็นในทำนองเดียวกับอนุกรรมการสอบสวนชุด นายบุญทัน ดอกไธสง เป็นประธาน ก็ต้องดูว่ามีทางออกให้ กกต.หรือไม่

“ขอให้ที่ปรึกษากฎหมายช่วยตีความว่า มีทางเลือกอย่างอื่นได้หรือไม่ ในเมื่อหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคกระทำความผิดแล้ว มันไม่มีทางเลือก พูดกันตรงๆ อย่างนี้ดีกว่า แต่ถ้าหากมีทางออกมา กกต.ก็อาจจะเห็นว่าหัวหน้าพรรคการเมืองไม่เกี่ยว และไม่ส่ง แต่ถ้าไม่มีทางออก กกต.ก็ต้องส่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน แต่ตามมาตรา 98 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองก็ระบุว่า แม้จะยุบพรรคแล้ว ถ้ากรรมการบริหารพรรคคนไหนไม่เกี่ยวข้องก็ไม่ต้องถูกตัดสิทธิ์ และยังสามารถไปเข้าพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60-90 วัน”

นายสุเมธ ยังยอมรับว่า การที่กฎหมายใช้ถ้อยคำดังกล่าวเท่ากับพรรคการเมืองจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ซึ่งการให้ที่ปรึกษากฎหมายไปพิจารณาก็เพื่อต้องการทราบว่า ที่ปรึกษามีความเห็นเหมือนกับที่ตนมอง และเสนอต่อที่ประชุม กกต.หรือไม่ ไม่ใช่ทำเพื่อหาทางรอดให้กับพรรคการเมือง แต่เป็นการให้พิจารณาว่าในทางกฎหมายแล้ว คำว่า “ให้ถือว่า” นั้นจะแปลหรือวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่

ส่วนการที่ที่ประชุม กกต.มีความเห็นในลักษณะดังกล่าวแล้วแต่ยังไม่ลงมติ ก็เพราะมองในแง่ข้อเท็จจริงว่า หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคต้องรู้ว่า มีส่วนรู้เห็น แต่จากการสอบสวนของอนุกรรมการฯ ที่ส่งมาเห็นว่า กรรมการบริหารและหัวหน้าพรรค ไม่มีส่วนรู้เห็น แต่เมื่อพรรคการเมือง เป็นนิติบุคคล ตรงนี้ทำให้ กกต.ไม่มีทางออก ก็ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องการให้กรรมการบริหารพรรคเป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อทำผิด พรรคก็ควรรับผิดชอบ นายสุเมธ กล่าวว่า เป็นความเห็นอย่างหนึ่ง กกต.ต้องรับฟัง แต่เมื่อคณะอนุกรรมการสรุปมาอย่างนั้น โดยให้ยุติเรื่อง เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็คิดว่าทำไมเขาถึงแปลอย่างนั้น จึงต้องให้ที่ปรึกษาให้ความเห็นมาว่าทางออกมันแปลอย่างนั้นได้หรือไม่

“อย่างที่บอกคณะอนุฯ สรุปสวนทางกับความเห็นของผม เพราะส่วนตัวผมมองว่าตามกฎหมายไม่มีทางที่จะให้ผมคิดเป็นอย่างอื่นได้เลย เขามัดคอผมว่า ต้องส่งไปอย่างนี้ คล้ายขีดเส้นให้เดิน ยกคำร้องก็ไม่ได้ ซึ่งในที่ประชุม กกต.ก็เห็นเหมือนกันหมด ไม่อย่างนั้นก็คงไม่มีมติส่งให้ที่ปรึกษากฎหมายไปพิจารณา” นายสุเมธกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น