“สมุนแม้ว” โชว์พลังล่าชื่อ ส.ส. ยื่นหนังสือรอง ปธ.สภาหวังขับไล่ “สุเมธ” พ้น กกต. อ้างเลอะเลือนอายุ 70 ปีแล้ว ด้าน “สมศักดิ์” ไม่รับเผือกร้อนโยน สุดแล้วแต่ “ยงยุทธ” ยื่นศาล รธน.หรือไม่
วันนี้ (12 มี.ค.) ที่รัฐสภา ร.ต.ท. เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ ส.ส.ระบบสัดส่วน พรรคพลังประชาชน เข้ายื่นต่อหนังสือประธานรัฐสภา เพื่อขอให้นำเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงคุณสมบัติของนายสุเมธ อุปนิสากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ในฐานะทำหน้าที่แทนประธานสภาฯมารับหนังสือแทน
ร.ต.ท.เชาวริน กล่าวว่า อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 233 ขอให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงอายุของนายสุเมธ ซึ่งมีความสับสนในตัวเองและนับอายุตัวเองไม่ถูก เนื่องจากตรวจสอบแล้วพบว่า มาตรา 209 ของรัฐธรรมนูญนั้น บัญญัติให้นำมาตรา 209 มาบังคับใช้กับ กกต.โดยอนุโลม ดังนั้นจึงเดินทางมายื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้ดำเนินการตามมาตารา233 โดยมี ส.ส.ร่วมลงชื่อทั้งสิ้น 74 คน จาก 4 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคประชาราช และพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา
ร.ต.ท.เชาวริน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ขอแนะนำให้องค์อิสระที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากอำนาจเผด็จการให้ลาออกจากตำแหน่ง เพราะขนาดบุคคลที่เป็นคณะกรรมการบริหารในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารก็ยังพากันลาออก ทั้งๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ยังมีสำนึกโดยรีบลาออก ดังนั้น กกต.เมื่ออายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ก็น่าจะรู้ตัวด้วยเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า กกต.ชุดนี้มาจากมติของวุฒิสภาจึงไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของคณะปฏิวัติ ร.ต.ท.เชาวริน กล่าวว่า เนื่องจาก กกต.ชุดนี้ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และเรื่องนี้ก็ไม่เกี่ยวกับว่านายสุเมธจะเป็นเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อยในคดีนายยงยุทธด้วย
ด้าน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อมีความเห็นที่ขัดแย้งและมี ส.ส.มากกว่า 1 ใน 10 คือ 63 คนมาลงนามกันและมาจากหลายพรรค จึงเป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภาที่ต้องนำเรื่องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะวินิจฉัยอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรา 233 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภาเท่านั้นที่จะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานรัฐสภาอยู่ระหว่างยุติการทำหน้าที่ชั่วคราวจะดำเนินการอย่างไร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า คนที่ต้องทำหน้าที่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ คือ ประธานรัฐสภา ตนได้รับมอบหมายให้รักษาการแทนนายยงยุทธ แต่คงจะไปก้าวล่วงอำนาจประธานรัฐสภาไม่ได้ ตนจึงมารับเรื่องดังกล่าวเพื่อนำส่งให้กับประธานรัฐสภาวินิจฉัยต่อไป
ส่วนแสดงว่าจะรอให้มีการสรุปผลคดีของนายยงยุทธก่อนจึงค่อยดำเนินการใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนจะนำหนังสือดังกล่าวส่งให้นายยงยุทธทันที จากนั้นก็สุดแล้วแต่ว่านายยงยุทธจะพิจารณาอย่างไร ส่วนหากนายยงยุทธยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทั้งๆที่อยู่ในระหว่างยุติการทำหน้าที่ประธานสภาฯ ชั่วคราว เกรงว่าจะมีข้อครหาหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า บางเรื่องมีความจำเป็น เรื่องนี้เป็นเรื่องของการตีความรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคดีของนายยงยุทธจึงถือว่าเป็นคนละส่วนกัน ดังนั้น การตีความรัฐธรรมนูญ เมื่อมีความเห็นขัดแย้ง จะปล่อยให้เลยตามเลยไม่ได้ หากไม่ปฏิบัติก็เท่ากับว่าไม่รับผิดชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ส.ส.ที่ร่วมลงชื่อ 74 คนนั้น มีบุคคลที่เป็นที่สนใจ เช่น พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ส.ส.ระบบสัดส่วน หัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา, นายกมล จีระพันธุ์วาณิช ส.ส.ลพบุรี พรรคชาติไทย, นายสมชัย เจริญชัยฤทธิ์ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคประชาราช