xs
xsm
sm
md
lg

แก้ รธน.เรื่องของโจราธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ไม่ว่า รัฐบาลนอมินีจะไปรอดด้วยผลกรรมที่ตัวเองก่อเอาไว้หรือไม่ แต่การบริหารด้วยปาก แล้วใช้จอทีวีท้าตีท้าต่อยกับคนที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลจนผิดวิสัยนายกรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช ช่างเป็นเรื่องน่าอนาถใจเหลือคณานับที่ใครจะยอมรับได้

พรรคตัวเองทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญก็กล่าวหาว่า คนอื่นอยู่เบื้องหลังที่จะเอาผิดพรรค ซึ่งเป็นเรื่องน่าสมเพชสำหรับคนที่ชอบพูดว่าตัวเองเรียนจบกฎหมายมา

มาตรา 237 บัญญัติไว้ว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการก่อ หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. หรือระเบียบ หรือประกาศของ กกต. ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ

ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่งปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารของพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้วมิได้ยับยั้ง หรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามมาตรา 68 และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าว มีกำหนดเวลาห้าปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง

ช่วยตอบหน่อยซิครับว่า การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เช่นนี้มันขัดขวางหรือทำลายระบอบประชาธิปไตยตรงไหน มีประโยคไหนที่ขัดขวางการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นวาระซ่อนเร้นที่จะนำไปสู่ระบอบเผด็จการบ้าง

ใช่หรือไม่ว่าเจตนาของมาตรานี้ เขียนไว้เพื่อป้องกันนักการเมืองซื้อสิทธิขายเสียง ซึ่งเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย แล้วการป้องกันไม่ให้นักการเมืองซื้อสิทธิขายเสียงกลายเป็นมาตราอันตรายในระบอบประชาธิปไตยไปได้อย่างไร

นายสมัคร ตอบหน่อยซิครับ นายเลี๊ยบกระดาษชำระของทักษิณตอบหน่อยซิครับ

ถามว่า ทุกพรรคการเมืองรู้อยู่ก่อนแล้วหรือไม่ว่า หากกรรมการบริหารพรรคไปทำผิด ก็อาจมีผลที่พรรคต้องรับผิดชอบร่วมกัน และอาจต้องถูกยุบพรรค ทั้งนี้ทั้งนั้นรัฐธรรรมนูญก็ไม่ได้เขียนไว้ว่า จะต้องยุบพรรคการเมืองนั้นโดยไม่มีเหตุผล หากพรรคการเมืองนั้นไม่ได้ไปมีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้วมิได้ยับยั้ง

และหากว่า พรรคการเมืองที่มีส่วนรู้เห็นต่อการกระทำผิดแล้วมิได้ยับยั้ง พรรคการเมืองนั้นก็น่าจะเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยและสมควรจะต้องถูกยุบพรรคไม่ใช่หรือ

การกล่าวหาว่ามีคนบงการให้เกิดการยุบพรรคเป็นเรื่องที่ทุเรศ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรานี้ไม่ได้เขียนขึ้นหลังจากการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว หรือหลังจากที่กรรมการบริหารพรรคของพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาประชาธิปไตยถูกจับได้ว่าไปซื้อสิทธิขายเสียง

ก่อนที่จะลงเลือกตั้งนั้น พรรคการเมืองทุกพรรคก็รู้อยู่แล้วว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 237 เขียนไว้เช่นไร การจะอ้างแบบหน้าด้านๆว่า กรรมการบริหารพรรคมีมาก จนพรรคไม่สามารถควบคุมได้นั้นก็เป็นเหตุผลชุ่ยๆ เพราะหลักการสำคัญสำหรับพรรคการเมืองก็คือ ต้องคัดสรรคนดีมาให้ประชาชนเลือก และหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยก็คือ ต้องไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง

เป็นเรื่องตลกที่นายเลี้ยบกล่าวว่า หากรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เช่นนี้ต่อไปจะไม่มีใครเป็นกรรมการบริหารพรรค เพราะถ้าการป้องกันการซื้อเสียงทำให้คนไม่กล้าเป็นกรรมการบริหารพรรค ก็ต้องนับว่า รัฐธรรมนูญมาตรานี้ มีส่วนดีที่จะขจัดคนไม่ดีเข้าสู่วงการเมือง

และหากพรรคการเมืองนั้นไม่สามารถคัดสรรคนดีเข้ามาเป็นบริหารพรรคได้ พรรคการเมืองนั้นก็ไม่ควรอาสามารับใช้ประเทศชาติไม่ใช่หรือ

นายเลี้ยบถามว่า การยุบพรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคเป็นแสนเป็นล้านคน เพียงเพราะว่ามีกรรมการบริหารคนหนึ่งทำอะไรไม่ถูกต้องเป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่ ผมก็อยากจะถามกลับว่า ถ้าอย่างนั้นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นแสนเป็นล้านสามารถจะทำอะไรก็ได้ โดยไม่มีความผิดใช่หรือไม่

หรือว่านี่เป็นหลักการที่พรรคพลังประชาชนหรืออดีตพรรคไทยรักไทยยึดถือและเข้าใจเสมอมาว่า เมื่อได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนแล้วจะสามารถใช้อำนาจรัฐอย่างไรก็ได้

ความคิดเช่นนี้ใช่หรือไม่ที่ทำให้ระบอบทักษิณเหิมเกริม แล้วพยายามสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองด้วยข้ออ้างว่า มาจากคนจำนวนสิบเก้าล้านคน และมาตามระบอบประชาธิปไตยเสมอมา

อย่างไรก็ตามผมคิดว่า มาตรา 237 ไม่ใช่เป้าหมายที่สำคัญกว่าของพรรคพลังประชาชนที่รีบเร่งและพยายามจะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นวาระเร่งด่วนก็คือ การแก้ไขมาตรา 309 เพื่อขจัดคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)ตามที่แนวร่วมนปก.ได้ออกมาเคลื่อนไหวและรัฐบาลออกมาขานรับไว้แล้ว

โดยก่อนหน้านี้ แกนนำนปก.ภายใต้การนำของแก๊ง 3 ช่า เหวง-สันต์-จรัล ได้ส่งคนไปยื่นหนังสือที่รัฐสภา ผ่าน พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตแกนนำนปก. และทำเนียบรัฐบาลผ่านนายชูศักดิ์ ศิรินิล เพื่อให้ทบทวนการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 คำสั่ง คมช. กฎหมายและองค์กรต่าง ๆ ที่มาจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ให้สิ้นสุดลงหรือให้เป็นโมฆะ

เป้าหมายสำคัญที่สุด ก็คือ การล้มคดีความที่รัฐบาลทักษิณกำลังถูกตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันที่กำลังถูกทยอยส่งให้อัยการสั่งฟ้อง หรือ คตส.ส่งฟ้องเองในศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง

แล้วคอยดูว่า เพื่อการกลบเกลื่อนที่สัมฤทธิผล พรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องเคลื่อนไหวเพื่อหาแนวร่วมโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยอ้างว่ามีที่มาจากเผด็จการ เพื่อล่อให้นักวิชาการผีดิบเข้ามาฮุบเหยื่อ แต่มีเป้าหมายที่แท้จริงคือ มาตรา 309 เพื่อให้ทักษิณพ้นผิด และมาตรา 237 เพื่อล้มล้างความผิดยุบพรรค

เอาเถอะครับ พรรคร่วมรัฐบาลอาจจะใช้เสียงข้างมากเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ได้ แต่ในฐานะประชาชนผู้ลงประชามติให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขอถามนักการเมืองพรรคร่วมรัฐบาลทุกคนว่า หลักการของระบอบประชาธิปไตยนั้น หากเราทำผิดกฎหมายก็แก้กฎหมายให้เราพ้นผิดเช่นนั้นหรือ

ถ้าคนลงมติส่วนใหญ่เป็นโจร ระบอบประชาธิปไตยก็อนุญาตให้โจรลงมติเสียงส่วนใหญ่เพื่อแก้ไขความผิดให้กับตัวเอง โดยขัดกับหลักนิติธรรมหรือความถูกต้องดีงามอย่างไรก็ได้เช่นนั้นหรือ

ผมอยากรู้เหมือนกันว่า รัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติของประชาชนฉบับแรก จะถูกแก้ไขตามอำเภอใจด้วยเสียงข้างมากลากไปได้อย่างไร

แล้วอยากรู้ว่า ถ้าทำผิดแล้วสามารถแก้กฎหมายให้ตัวเองพ้นผิดได้ เราควรจะเรียกระบอบนี้ว่า ประชาธิปไตยหรือโจราธิปไตยกันแน่.
กำลังโหลดความคิดเห็น