xs
xsm
sm
md
lg

"มิ่งขวัญ"ยอมส่งออกหมูสหกรณ์ฯชี้แก้ไม่ตรงจุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-“มิ่งขวัญ” ยอมถอนไม่ห้ามส่งออกหมู ปล่อยเอกชนค้าขายได้เสรี หลังพิจารณาแล้วไม่พบปัญหาการขาดแคลน ชี้หากพบผิดปกติจะมีมาตรการออกมาทันที เดินหน้าแก้ไขปัญหาหมูทั้งระบบ ลุยรื้อสูตรในการคำนวณราคาใหม่ ด้านสหกรณ์ผู้เลี้ยงหมูฉะเชิงเทราจวกนโยบายห้ามส่งออกหมู เป็นเรื่องเก่าที่ปศุสัตว์ทำอยู่แล้ว เป็นการซ้ำเติมคนเลี้ยง ย้ำแก้หมูแพงไม่ถูก ชี้เป็นการปิดกั้นการค้าเสรี ผู้ค้าหมูวอนแก้หมูแพงที่ต้นเหตุไม่ใช่บังคับให้คนขาย ขณะที่กกร.มีมติสั่งผู้ค้าปุ๋ยแจ้งปริมาณ และสถานที่เก็บ หลังพบปัญหากักตุนและราคาพุ่ง พร้อมตั้งอนุกรรมการดูต้นทุนปุ๋ย อาหารสัตว์ และน้ำมันพืช

นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติให้มีการส่งออกหมูได้อย่างเสรี โดยไม่มีการกำหนดมาตรการใดๆ ทั้งการให้รายงานการเคลื่อนย้าย หรือห้ามส่งออก แต่ขอให้การส่งออกต้องทำให้ถูกต้องตามขั้นตอนปกติ ต้องขออนุญาตกรมปศุสัตว์ และผ่านพิธีการศุลกากร ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดว่า การส่งออกเป็นไปตามภาวะการค้าปกติหรือไม่

“ตอนนี้ ไม่ไปยุ่งอะไรทั้งนั้น การส่งออกยังทำได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องทำให้ถูกต้อง ไม่อยากให้มีการลักลอบ เป็นการส่งออกหมูเถื่อน เพราะต้องการดูตัวเลขชัดๆ ก่อน เพราะตอนนี้ ปริมาณหมูยังเข้าสู่ตลาดตามปกติ และยังไม่ขาดแคลน แต่ต่อไปหากมีแนวโน้มว่าจะมีการส่งออกมาก จนทำให้หมูในประเทศขาดแคลนหรือมีราคาแพงขึ้น ก็มีความจำเป็นที่จะมาตรการอื่นๆ ออกมาใช้”นายมิ่งขวัญกล่าว

สำหรับสถิติการส่งออกหมูในปีที่ผ่านมา มีการส่งออกอย่างเป็นทางการ 97,551 ตัว แต่ในเดือนม.ค.2551 เพียงเดือนเดียวส่งออกแล้ว 14,738 ตัว และเชื่อว่าปีนี้การส่งออกอย่างเป็นทางการน่าจะเกิน 1 แสนตัว โดยยังเชื่อมั่นว่า การส่งออกจำนวนดังกล่าว จะไม่ทำให้หมูขาดแคลน เพราะคาดว่าปีนี้ จะมีปริมาณผลผลิตหมู 14 ล้านตัว ใช้บริโภคในประเทศประมาณเดือนละกว่า 38,000 ตัว
ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่า จะมีการเสนอให้กกร.พิจารณาใช้มาตรการให้ผู้ประกอบการต้องขออนุญาตในการเคลื่อนย้ายหมูไปยัง 26 จังหวัดตามแนวชายแดน เพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบส่งออกหมูไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงมาตรการห้ามส่งออกหมู เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนหมูภายในประเทศ แต่ในที่สุดกกร. ก็มีมติออกมาว่าจะไม่ดำเนินการใดๆ จะทำก็เพียงแค่ติดตามสถานการณ์ส่งออกอย่างใกล้ชิดเท่านั้น

นายมิ่งขวัญกล่าวว่า จะเดินหน้าแก้ปัญหาหมูทั้งระบบต่อไป โดยขณะนี้กำลังพิจารณาโครงสร้างต้นทุนหมูทั้งระบบ ตั้งแต่ลูกหมู มาถึงหมูเป็น และหมูชำแหละ โดยจะขอดูว่าต้นทุนหมูในแต่ละช่วงเป็นอย่างไร เพื่อให้แต่ละส่วนได้กำไรอย่างพอสมควร ไม่ใช่เกินควร รวมทั้งจะมีการทบทวนสูตรในการคำนวณราคาใหม่ เพราะการใช้ระบบคูณสองบวกสองเห็นว่าไม่เป็นธรรม

รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่กกร.ไม่มีมติใดๆ ออกมาในการแก้ไขปัญหาการลักลอบส่งออกหมูไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเกรงว่าหากมีมาตรการใดๆ ออกมา หรือหนักสุดที่จะห้ามการส่งออก จะไปกระทบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีการส่งออกหมู และถูกกดดันในเรื่องนี้อย่างหนัก ซึ่งแม้แต่ตัวนายมิ่งขวัญเองก็ยังพูดติดตลกถึงการที่เข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องหมูว่า “มีคนบอกผมว่าถ้ามาจับเรื่องนี้ จะอยู่ได้ไม่นาน แต่ผมยืนยันที่จะแก้ปัญหาต่อไป เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับความเป็นธรรม”

ผู้เลี้ยงหมูแปดริ้วสับ"มิ่งขวัญ"แก้ไม่ถูกจุด

นางสมนึก ศรีสาลีกุลรัตน์ เจ้าของฟาร์มเหรียญทองราชสาสน์ ผู้เลี้ยงสุกรในเขตอำเภอราชสาสน์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เผยถึงราคาจำหน่ายเนื้อสุกรหน้าฟาร์มที่อยู่ในระดับ 58-60 บาทต่อกิโลกรัมว่า ยังเป็นราคาที่ไม่สร้างผลกำไรให้แก่ผู้เลี้ยง และคาดว่าในอนาคตราคาขายหน้าฟาร์มจะต้องปรับถึง 70 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ในสถานการณ์ที่ต้องแบกรับต้นทุนวัตถุดิบซึ่งเป็นค่าอาหารสัตว์ และภาระหนี้สินจากการลงทุนที่เกิดจากการขาดทุนในระยะที่ผ่านมา ขณะที่การกำหนดนโยบายควบคุมราคาจำหน่ายเนื้อสุกรของรัฐบาล กลับเป็นนโยบายที่ซ้ำเติมความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ตกต่ำกว่าเดิม

หากรัฐมีมาตรการห้ามส่งออกลูกหมูไปยังต่างประเทศ เพื่อต้องการให้เนื้อสุกรในประเทศเข้าสู่ภาวะล้นตลาด ซึ่งจะทำให้ราคาขายหน้าฟาร์มลดต่ำลงนั้น ซึ่งมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกทาง และคงต้องถามย้อนกลับไปที่รมต.พาณิชย์ว่า กำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อควบคุมราคาหมูในตลาดเป็นการกำหนดนโยบายเพื่อใคร เนื่องจากไม่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์กับฝ่ายใด แต่กับซ้ำเติมให้เกษตรกรต้องแบกรับภาระมากขึ้น

“การส่งออกลูกหมูไปยังต่างประเทศ เป็นนโยบายที่ไม่จำเป็น เพราะที่ผ่านมาปศุสัตว์จังหวัด ก็ควบคุมการผลิตทั้งในส่วนของแม่สุกรและลูกสุกรอยู่แล้ว เนื่องจากไม่ต้องการให้ส่งผลกระทบกับราคาจำหน่ายในท้องตลาด จนปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในจังหวัดฉะเชิงเทราที่ทนแบกรับกับภาระขาดทุนไม่ไหว ต้องหันไปหาอาชีพอื่นแล้วประมาณ 70-80% ขณะที่มาตรการดูแลเกษตรกรของรัฐบาลที่ผ่านๆ มาก็ไม่เคยให้ความสนใจอย่างแท้จริง”

สำหรับการแก้ไขปัญหาราคาเนื้อหมูที่สูงขึ้นว่า รัฐบาลควรจะควบคุมราคาจำหน่ายหน้าเขียงมากกว่าการควบคุมระบบผลิตของเกษตรกร เพราะผู้ค้าหน้าเขียงจะกินกำไรจากการจำหน่ายประมาณ 20-30 บาทต่อกิโลกรัม และไม่เคยปรับลดอัตรากำไรแม้ราคาเนื้อหมูจะปรับขึ้นหรือลดลงอย่างไร ซึ่งหากรัฐบาลควบคุมความเป็นไปในจุดนี้ได้ จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยลง หรือหากประชาชนเห็นว่าราคาเนื้อหมูในช่วงนี้สูงก็ยังสามารถหันไปบริโภคเนื้อสัตว์ชนิดอื่นแทนได้

สหกรณ์อัดซ้ำเติมคนเลี้ยง

นายวันชัย อัศวพันธ์นิมิตร ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรชลบุรี กล่าวว่า ราคาลูกสุกรขยับขึ้นมาถึงระดับ 1,800 บาท ซึ่งราคาดังกล่าวเกษตรกรได้กำไรเพียงเล็กน้อย เนื่องจากต้นทุนราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก และพร้อมหารือกับ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึงการแก้ไขปัญหาสุกรทั้งระบบ

แหล่งข่าวจากผู้เลี้ยงหมู กล่าวว่า การที่นายมิ่งขวัญยอมกลับลำนโยบายการห้ามส่งออกหมู เนื่องจากที่ผ่านมามีกระแสการคัดค้านจากผู้เลี้ยงสุกร เพราะที่ผ่านมาการแก้ปัญหาของกรมการค้าภายในมุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพียงอย่างเดียว และนโยบายดังกล่าวเห็นว่าหากไฟเขียวห้ามส่งออกหมูจะทำให้เกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมา การแก้ปัญหาก็ไม่ประสบความสำเร็จและมีผู้บริโภคจำนวนมากไม่พอใจ ที่ไม่สามารถซื้อหมูในราคาที่กรมการค้าภายในกำหนดได้อย่างทั่วถึง

ปธ.หอค้าศรีสะเกษซัดห้ามส่งออกหมูปิดกั้นค้าเสรี

นายศรีวรรณ เกียรติสุรนนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวถึงการที่กระทรวงพาณิชย์ใช้มาตรการห้ามส่งหมูออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ว่า มาตรการดังกล่าวน่าจะเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากการสั่งห้ามนำหมูไปขายต่างประเทศเป็นการปิดกั้นการค้าเสรีของบรรดาพ่อค้าหมูส่งออก แต่หากเป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อให้หมูมีจำหน่ายเพียงพอกับความต้องการภายในประเทศและทำให้ราคาเนื้อหมูถูกลงได้จริงก็น่าที่จะทำได้ แต่ทั้งนี้จะต้องดูหลักการและเหตุผลในรายละเอียดในการสั่งห้ามส่งออกหมูไปขายต่างประเทศดังกล่าวอีกครั้งว่ามีเหตุผลอย่างไรบ้าง

ผู้ค้าหมูอัดซ้ำกรมการค้าฯแก้ไม่ถูกจุด

นางเสงี่ยม สิงห์นวลคำ แม่ค้าขายเนื้อหมูในตลาดสดต้นมะเกลือ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ตนเป็นแม่ค้าขายหมูมาตั้งแต่อายุ 25 ปี นับว่าปีนี้เป็นปีที่เนื้อหมูราคาแพงมากที่สุด และการที่ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ประกาศให้จำหน่ายเนื้อหมูในราคา กิโลกรัมละ 98 บาท ตนและบรรดาพ่อค้าแม่ค้าขายเนื้อหมูทุกคนไม่มีใครทำได้ เพราะเป็นระดับราคาขาดทุนและเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

ส่วนการที่กรมการค้าภายในห้ามส่งหมูออกไปจำหน่ายต่างประเทศ นั้น หากห้ามส่งหมูไปขายต่างประเทศแล้วจะทำให้ราคาเนื้อหมูภายในประเทศถูกลงเพราะเนื้อหมูในตลาดภายในประเทศมีปริมาณมากขึ้น ก็น่าจะลองทำดู แต่อย่างไรก็ตามตนเห็นว่า รัฐบาลควรจะมุ่งไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุในภาพรวมทั้งระบบจะดีกว่า เช่น หากทำให้ราคาอาหารสัตว์ถูกลงโดยเจรจาบริษัทที่ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ต่างๆ ภายในประเทศที่มีอยู่ไม่กี่ราย ก็จะทำให้ราคาเนื้อหมูภายในประเทศถูกลงได้แล้ว

“ไม่ใช่กรมการค้าภายในจะใช้วิธีมาบีบให้พวกเราพ่อค้าแม่ค้าเขียงหมูรายย่อยปลายทางลดราคาจำหน่ายปลีกลง ทั้งที่ต้นทุนราคาเนื้อหมูยังสูงลิบลิ่วอยู่ ซึ่งวิธีถึงจะอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาได้ เช่นเดียวกับการห้ามส่งออกหมูเป็นไปต่างประเทศ ก็ไม่ทราบจะช่วยอะไรได้กี่มากน้อยและจะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดหรือไม่” นางเสงี่ยม กล่าว

ผู้เลี้ยงหมูจี้รัฐคุมราคาวัตถุดิบ

นายถวัลย์ โขมศิริ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ขณะนี้ ผู้เลี้ยงหมูต่างมีภาวะต้นทุนที่แพงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูง และปัญหาน้ำมันที่ปรับราคาสูงขึ้น ผู้เลี้ยงต้องประสบปัญหาการขาดทุนมานานกว่า 1 ปี ประกอบกับเกิดปัญหาโรคท้องร่วงเฉียบพลันในลูกหมู (PED) ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนลูกหมูสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ราคาขายหมูหน้าฟาร์มมีราคาสูงกว่าปกติ

การที่รองนายกรัฐมนตรี ทั้ง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นายสุวิทย์ คุณกิตติ และนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล มีความเข้าใจเกษตรกร และมีแนวคิดที่ช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการลดหนี้เกษตรกร หรือกรณีสินค้าเกษตรมีราคาแพง ก็มองว่าควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะหากใช้มาตรการคุมราคา จะทำให้กลไกราคาผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง เนื่องจากผู้ผลิตไม่สามารถขึ้นราคาตามต้นทุนที่แท้จริงได้ ซึ่งจะกระทบต่อระบบที่เกี่ยวข้องโดยรวมในระยะยาว ถือเป็นรองนายกฯเข้าใจในระบบเกษตร ซึ่งมาตรการคุมราคาของกระทรวงพาณิชย์ทำให้เกษตรกรเสียโอกาส เนื่องจากราคาพืชเกษตรของตลาดโลกยังสูงขึ้นต่อเนื่อง วัตถุดิบก็สูงด้วย แต่รัฐไม่คุมราคาวัตถุดิบแต่กลับคุมราคาหมู

“หากภาครัฐไม่มีมาตรการช่วยเหลือ เพื่อความยั่งยืนที่แท้จริง ก็มีความเป็นไปได้ว่า ผู้เลี้ยงจะค่อยๆ หายไปจากระบบ เพราะไม่สามารถแบกรับภาระที่ขาดทุนต่อไปได้ “

นายมิ่งขวัญกล่าวเสริมว่า ที่ประชุมยังมีมติให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ค้าปุ๋ยเคมี ต้องแจ้งปริมาณ และสถานที่เก็บต่อกรมการค้าภายใน เพราะปัจจุบัน พบว่า ผู้ค้าปุ๋ยเคมีมีการกักตุนเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาผันผวนมาก และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทบกับเกษตรกร โดยกรมการค้าภายใน จะออกประกาศการแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บในวันที่ 20 มี.ค.นี้ และจะมีผลบังคับใช้ทันที หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะเดียวกัน ยังได้มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการพิจารณาราคาปุ๋ยเคมี คณะอนุกรรมการพิจารณาราคาอาหารสัตว์ และคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาน้ำมันพืชบริโภค โดยมีตัวแทนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตัวแทนผู้ใช้ และตัวแทนผู้ผลิต ซึ่งทั้ง 3 ชุดจะมีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน เพื่อประเมินสถานการณ์การนำเข้า การผลิต และการค้าจนถึงมือผู้ใช้ รวมถึงกำหนดราคาแนะนำขายสินค้าทั้ง 3 รายการเพื่อให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย คาดว่า ภายใน 3 สัปดาห์จะออกราคาแนะนำขายได้
กำลังโหลดความคิดเห็น