เอเอฟพี/รอยเตอร์ - เกิดเหตุรุนแรงปะทุขึ้นในเมืองลาซา นครหลวงของทิเบตเมื่อวานนี้(14) โดยที่กองกำลังรักษาความสงบของทางการจีนได้ยิงปืนเข้าใส่กลุ่มผู้ประท้วงที่นำโดยพระลามะ ขณะที่ฝ่ายประท้วงจุดไฟเผาร้านค้า ยานพาหนะ และตะโกนเรียกร้องเอกราช ทั้งนี้ตามรายงานของผู้เห็นเหตุการณ์และกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ
เหตุรุนแรงซึ่งทำให้มีผู้คนต้องเข้ารักษาอาการบาดเจ็บอย่างน้อยที่สุดสิบกว่าคนคราวนี้ บังเกิดขึ้นในขณะที่ชาวทิเบตหลายกลุ่มกำลังเปิดการรณรงค์ซึ่งดูจะใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ เพื่อท้าทายการปกครองของจีน ณ จังหวะเวลาที่เหลืออีกเพียง 5 เดือนก็จะมีการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงปักกิ่ง
พวกนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวทิเบตท้องถิ่นรายงานว่า ได้ยินเสียงยิงปืนกันสนั่นในเมืองลาซา ขณะที่ตำรวจปราบจลาจลและทหารถูกส่งไปปราบปรามการลุกฮือ
"เวลานี้ที่ข้างนอกกำลังปั่นป่วนวุ่นวายกันมากเลย" ชาวทิเบตคนหนึ่งซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในลาซาบอกกับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ "ผู้คนกำลังเผารถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และรถโดยสาร มีควันไฟโขมงอยู่ทุกหนแห่ง และพวกเขากำลังขว้างก้อนหินและพังหน้าต่าง พวกเรากลัวกันมาก"
เอเอฟพีอ้างผู้เห็นเหตุการณ์และกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ บอกว่า มีรถยนต์ตำรวจคันหนึ่งถูกจุดไฟเผา และตลาดใหญ่ที่สุดแห่งในลาซาก็เกิดเพลิงไหม้
ขณะที่ศูนย์กลางชาวทิเบตเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ซึ่งบริหารโดยชาวทิเบตที่ลี้ภัยอยู่ในอินเดียกล่าวว่า แหล่งข่าวหลายรายยืนยันว่ากำลังมีการยิงปืนกันเพื่อขับไล่ฝูงชนที่ออกมาประท้วง
ทางด้านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำจีนก็แถลงว่า ได้รับรายงานหลายชิ้นว่าเกิดการยิงปืนในเมืองลาซา และแนะนำชาวอเมริกันให้อยู่แต่ภายในอาคาร
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า ร้านค้าหลายแห่งถูกจุดไฟเผาในระหว่างเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในย่านใจกลางเมืองลาซา ในช่วงบ่ายวานนี้
ซินหัวยังรายงานเพียงว่า ประชาชนบางคนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยมีอาการบาดเจ็บ แต่ไม่ได้ระบุว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ทั้งนี้ พยาบาลจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ประชาชนหลายคนที่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลนั้น มีทั้งรอยถลอกและมีบาดแผล
เจ้าหน้าที่ดับเพลิงท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวกล่าวว่า เกิดเพลิงไหม้ในตลาดและถนนใกล้ๆกับวัดโจข่าง ในย่านเก่าแก่ของลาซา วัดโจข่างถือเป็นสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับชาวพุทธในทิเบต
นอกจากที่ลาซาแล้ว ความไม่สงบยังแผ่ไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของจีนนอกทิเบตอีกด้วย โดยที่พระลามะเป็นผู้นำการชุมนุมของผู้คนราว 200-300 คนที่เมืองเซี่ยเหอ มณฑลกานซู่ อันเป็นสถานที่ตั้งวัดสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของพุทธศาสนาฝ่ายนิกายทิเบต ทั้งนี้ตามปากคำของผู้สื่อข่าวเอเอฟพีคนหนึ่งซึ่งเห็นเหตุการณ์
เหตุไม่สงบครั้งนี้บังเกิดขึ้น 3 วันหลังจากที่ลามะและชาวทิเบตตลอดจนผู้สนับสนุน ทั้งในลาซา อินเดีย และพื้นที่อื่นๆทั่วโลก จัดการชุมนุมประท้วงเนื่องในวาระครบรอบ 49 ปีของเหตุการณ์ที่ชาวทิเบตลุกฮือขึ้นก่อจลาจลต่อต้านการปกครองของจีนในปี1959 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่งผลให้ทะไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต ต้องลี้ภัยออกมาอยู่ที่อินเดียในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ จีนเข้าปกครองทิเบตตั้งแต่ปี1951 โดย 1ปี ก่อนหน้านั้น จีนได้ส่งทหารไป "ปลดปล่อย"ทิเบตจากระบอบการปกครองที่ทางการคอมมิวนิสต์แดนมังกรเรียกว่า "ระบอบศักดินา"
กลุ่มสิทธิมนุษยชนทิเบตประกาศก่อนหน้านี้ว่า จะเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลจีนที่ปกครองทิเบตอย่างกดขี่ข่มเหง ในช่วงก่อนหน้าที่จีนจะเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกเดือนสิงหาคมนี้ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนทั่วโลกจะจับตามองจีนมากเป็นพิเศษ
ทะไลลามะก็ได้ออกมาพูดเมื่อวันจันทร์(10) ถึงสิ่งที่เขาใช้คำว่า "การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและอย่างไม่อาจคิดจินตนาการกันได้"ในทิเบต โดยทางการผู้รับผิดชอบของจีน
การประท้วงคราวนี้ถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดนับแต่ปี 1989 เมื่อตอนที่ หูจิ่นเทา ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของจีน ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาทิเบต
เหตุรุนแรงซึ่งทำให้มีผู้คนต้องเข้ารักษาอาการบาดเจ็บอย่างน้อยที่สุดสิบกว่าคนคราวนี้ บังเกิดขึ้นในขณะที่ชาวทิเบตหลายกลุ่มกำลังเปิดการรณรงค์ซึ่งดูจะใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ เพื่อท้าทายการปกครองของจีน ณ จังหวะเวลาที่เหลืออีกเพียง 5 เดือนก็จะมีการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงปักกิ่ง
พวกนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวทิเบตท้องถิ่นรายงานว่า ได้ยินเสียงยิงปืนกันสนั่นในเมืองลาซา ขณะที่ตำรวจปราบจลาจลและทหารถูกส่งไปปราบปรามการลุกฮือ
"เวลานี้ที่ข้างนอกกำลังปั่นป่วนวุ่นวายกันมากเลย" ชาวทิเบตคนหนึ่งซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในลาซาบอกกับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ "ผู้คนกำลังเผารถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และรถโดยสาร มีควันไฟโขมงอยู่ทุกหนแห่ง และพวกเขากำลังขว้างก้อนหินและพังหน้าต่าง พวกเรากลัวกันมาก"
เอเอฟพีอ้างผู้เห็นเหตุการณ์และกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ บอกว่า มีรถยนต์ตำรวจคันหนึ่งถูกจุดไฟเผา และตลาดใหญ่ที่สุดแห่งในลาซาก็เกิดเพลิงไหม้
ขณะที่ศูนย์กลางชาวทิเบตเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ซึ่งบริหารโดยชาวทิเบตที่ลี้ภัยอยู่ในอินเดียกล่าวว่า แหล่งข่าวหลายรายยืนยันว่ากำลังมีการยิงปืนกันเพื่อขับไล่ฝูงชนที่ออกมาประท้วง
ทางด้านสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำจีนก็แถลงว่า ได้รับรายงานหลายชิ้นว่าเกิดการยิงปืนในเมืองลาซา และแนะนำชาวอเมริกันให้อยู่แต่ภายในอาคาร
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า ร้านค้าหลายแห่งถูกจุดไฟเผาในระหว่างเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในย่านใจกลางเมืองลาซา ในช่วงบ่ายวานนี้
ซินหัวยังรายงานเพียงว่า ประชาชนบางคนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยมีอาการบาดเจ็บ แต่ไม่ได้ระบุว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ทั้งนี้ พยาบาลจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ประชาชนหลายคนที่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลนั้น มีทั้งรอยถลอกและมีบาดแผล
เจ้าหน้าที่ดับเพลิงท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวกล่าวว่า เกิดเพลิงไหม้ในตลาดและถนนใกล้ๆกับวัดโจข่าง ในย่านเก่าแก่ของลาซา วัดโจข่างถือเป็นสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับชาวพุทธในทิเบต
นอกจากที่ลาซาแล้ว ความไม่สงบยังแผ่ไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของจีนนอกทิเบตอีกด้วย โดยที่พระลามะเป็นผู้นำการชุมนุมของผู้คนราว 200-300 คนที่เมืองเซี่ยเหอ มณฑลกานซู่ อันเป็นสถานที่ตั้งวัดสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของพุทธศาสนาฝ่ายนิกายทิเบต ทั้งนี้ตามปากคำของผู้สื่อข่าวเอเอฟพีคนหนึ่งซึ่งเห็นเหตุการณ์
เหตุไม่สงบครั้งนี้บังเกิดขึ้น 3 วันหลังจากที่ลามะและชาวทิเบตตลอดจนผู้สนับสนุน ทั้งในลาซา อินเดีย และพื้นที่อื่นๆทั่วโลก จัดการชุมนุมประท้วงเนื่องในวาระครบรอบ 49 ปีของเหตุการณ์ที่ชาวทิเบตลุกฮือขึ้นก่อจลาจลต่อต้านการปกครองของจีนในปี1959 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่งผลให้ทะไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต ต้องลี้ภัยออกมาอยู่ที่อินเดียในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ จีนเข้าปกครองทิเบตตั้งแต่ปี1951 โดย 1ปี ก่อนหน้านั้น จีนได้ส่งทหารไป "ปลดปล่อย"ทิเบตจากระบอบการปกครองที่ทางการคอมมิวนิสต์แดนมังกรเรียกว่า "ระบอบศักดินา"
กลุ่มสิทธิมนุษยชนทิเบตประกาศก่อนหน้านี้ว่า จะเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลจีนที่ปกครองทิเบตอย่างกดขี่ข่มเหง ในช่วงก่อนหน้าที่จีนจะเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกเดือนสิงหาคมนี้ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนทั่วโลกจะจับตามองจีนมากเป็นพิเศษ
ทะไลลามะก็ได้ออกมาพูดเมื่อวันจันทร์(10) ถึงสิ่งที่เขาใช้คำว่า "การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและอย่างไม่อาจคิดจินตนาการกันได้"ในทิเบต โดยทางการผู้รับผิดชอบของจีน
การประท้วงคราวนี้ถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดนับแต่ปี 1989 เมื่อตอนที่ หูจิ่นเทา ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของจีน ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาทิเบต