ดูเผินๆ หน้าปกของ The Uninvited นวนิยายเล่มนี้ คล้ายกับงานศิลปะของเด็กมัธยมที่ใช้ปากกาลูกลื่นเขียนเล่น วาดเล่นไปเรื่อยเปื่อยบนสมุดโน้ตระหว่างชั่วโมงเรียนอันน่าเบื่อหน่าย ทว่า เมื่อเปิดไปสัมผัสหน้าแรกของนวนิยายเรื่อง “The Uninvited นักข่าวผู้ไม่ได้รับเชิญในปักกิ่งยุคเงินคือพระเจ้า (不速之客亲亲)” แล้ว ผู้อ่านก็จะสัมผัสได้ถึงเนื้อหาอันหนักอึ้งที่ เหยียน เกอหลิง พยายามถ่ายทอดออกมา
เมื่อพลิกไปดูประวัติของผู้เขียน เหยียน เกอหลิง (Yan Geling) สาวจีนผู้มีภูมิหลังจากมหานครเซี่ยงไฮ้ ผ่านชีวิตของการเป็นนักหนังสือพิมพ์และผ่านประสบการณ์อันปวดร้าวของเหตุการณ์ความรุนแรงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี พ.ศ.2532 (ค.ศ.1989) จนทำให้เธอต้องย้ายสำมะโนครัวไปอยู่สหรัฐอเมริกาแล้วก็จะไม่รู้สึกแปลกใจเลยว่า เหยียน เขียนนิยายเล่มนี้ด้วยความรู้สึกเช่นไร
The Uninvited เป็นเรื่องราวของ “ต่ง ตัน” แรงงานหนุ่มชาวมณฑลกานซู่ที่พาเสี่ยวเหมยคู่รักของเขาอพยพมาแสวงโชคในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ด้วยโชคชะตาและความบังเอิญทำให้แรงงานหนุ่มที่ด้อยการศึกษาผู้นี้ค้นพบลู่ทางของการเข้าไปเป็น “กาฝากงานเลี้ยง” ตามงานเลี้ยงต่างๆ
“กาฝากงานเลี้ยง” เป็นชื่อเฉพาะที่เอาไว้เรียกนักข่าวที่ปลอมตัวเข้ามากินฟรีตามงานเลี้ยง หรือ งานแถลงข่าว ทั้งนี้ด้วยความบังเอิญ “ต่ง” ยังพบว่า ระหว่างภารกิจ ผู้ที่ประกอบอาชีพนักข่าวนอกจากจะมีโอกาสการได้กินอาหารชั้นเลิศแบบฟรีๆแล้ว ยังมีสิทธิ์ได้รับ ค่าธรรมเนียม-ค่าน้ำร้อนน้ำชาจากเจ้าภาพอีกด้วย และด้วยเหตุผลสองประการนี้เองที่จูงใจให้เขาเปลี่ยนอาชีพจากคนงานในโรงงานผุๆ มาเป็น “นักข่าวอิสระ” ได้อย่างง่ายดาย แม้ว่าเขาจะไม่ได้จบมหาวิทยาลัยและแทบจะเขียนหนังสือไม่เป็นเลยก็ตาม
“เจ้าภาพก็จะจ่ายเงินสองร้อยหยวนเป็นค่าบทความที่จะเขียนเกี่ยวกับงานนี้ ตันสูดปากเบาๆ ตั้งสองร้อยเชียว! มากกว่าเงินเดือนคนงานสำรองของเขาตั้งหลายเท่า แถมอาหารระดับฮ่องเต้ด้วย ทั้งหมดนี่อาศัยแค่นามบัตรใบเดียวเท่านั้นเอง!”
นอกจากจะบรรยายถึงความเน่าเฟะของอาชีพนักข่าวจีนแผ่นดินใหญ่ ใน “ยุคทุนนิยมครองเมือง” หรือที่เหยียนเรียกว่า “ยุคเงินคือพระเจ้า” แล้ว เธอยังพยายามถ่ายทอดให้ผู้อ่านเห็นภาพถึงความเละเทะ เน่าเฟะของสังคมจีนในยุคสมัยเดียวกันนี้ ไม่ว่าจะเรื่องการควบคุมสื่อสารมวลชนทุกแขนงโดยภาครัฐ การคดโกงแรงงานของนายทุน การกดขี่ชาวนาจากเจ้าหน้าที่รัฐ การเอาเปรียบผู้บริโภคทุกวิถีทางของเจ้าของธุรกิจ ความน่าไหว้หลังหลอกของงานการกุศลต่างๆ ธุรกิจค้ามนุษย์ที่แอบแฝงอยู่ทุกหนแห่ง ฯลฯ
... และก็เป็นความจริงเหล่านี้ที่ทำให้ทัศนะของ ต่ง ตัน ต่ออาชีพผู้สื่อข่าวและสังคมที่เขาอาศัยอยู่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
ต้องยอมรับว่าผู้เขียนคือ เหยียน เกอหลิงสามารถบรรยาย ความรู้สึกของตัวละครต่างๆ ในเรื่องผ่านสายตาของ ต่ง ตัน ตัวเอก ออกมาได้อย่างถึงพริกถึงขิงและแก่นจริงๆ ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องยอมรับว่าการแปลของคุณนาลันทา คุปต์ มีความสำคัญอยู่ไม่น้อย
ในความรู้สึกของผู้วิจารณ์หนังสือ ประสบการณ์เกี่ยวกับปักกิ่งในยุคเงินคือพระเจ้าของ The Uninvited และ เหยียน เกอหลิง บางเรื่องออกจะดูสุดโต่งและเกินจริงไปบ้าง แต่หลายเรื่องก็เป็นปัญหาและเป็นความจริงที่ชาวจีนในยุคเงินคือพระเจ้ากำลังเผชิญหน้าอยู่ ไม่ว่าผู้ปกครองประเทศจะบอกว่าตอบรับหรือปฏิเสธความมีอยู่ของมันหรือไม่ก็ตาม
รายละเอียดหนังสือ
ชื่อหนังสือ The Uninvited : นักข่าวผู้ไม่ได้รับเชิญในปักกิ่งยุคเงินคือพระเจ้า
สำนักพิมพ์ แสงแดด
ผู้เขียน เหยียน เกอหลิง
ผู้แปล นาลันทา คุปต์
ISBN 978-974-328-253-9
พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2551
ราคา 185 บาท
หมายเหตุ : หน่วยงาน/บุคคลใดที่ต้องการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับจีนในรูปแบบหนังสือ สามารถส่งหนังสือมาได้ที่ “โต๊ะจีน หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 102/1 ถ.พระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200” กรุณาวงเล็บด้วยว่า “(คอลัมน์หิ้งหนังสือ)”