เอเอฟพี – จีนส่งกำลังทหารปิดล้อมวัดใหญ่ 3แห่งในกรุงลาซาของทิเบต นักสิทธิมนุษยชนหวั่นใช้กำลังปราบปรามรุนแรง หลังจากพระสงฆ์ชุมนุมประท้วงต่อต้านการปกครองของจีนเมื่อต้นสัปดาห์
กลุ่มสิทธิมนุษยชน ชื่อว่า “การต่อสู้สากลเพื่อทิเบต” (International Campaign for Tibet) เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (14 มี.ค.)ว่า ทางการจีนได้สั่งปิดสถานที่หลายแห่งในลาซา หลังจากเห็นว่ามีพระสงฆ์หลายร้อยรูป เข้าร่วมการชุมนุมประท้วง ที่ดำเนินมาเป็นวันที่ 3
ทางกลุ่มยังระบุด้วยว่า พระที่วัดเซรา กำลังอดอาหารประท้วง ขณะมีรายงานว่า การประท้วงได้ลุกลามไปยังวัดชนบทห่างไกลอีก 2 แห่งในทิเบต
“ตอนนี้บรรยากาศในลาซาเต็มไปด้วยความหวาดกลัว และความตึงเครียดขมึงเกลียวขึ้นทุกที” เค้ต ซอนเดอร์ โฆษกของกลุ่ม แจ้งต่อผู้สื่อข่าวเอเอฟพี หลังจากมีโอกาสพูดคุยกับประชาชนในลาซา
เธอระบุว่า ทางการจีนได้เริ่มสอบสวนพระสงฆ์เป็นรายตัว แต่ปฏิกริยาในเบื้องต้นของทางการจีนดูเงียบเชียบกว่าแต่ก่อน
“การต่อสู้สากลเพื่อทิเบต” ยังระบุในแถลงการณ์ด้วยว่า นักท่องเที่ยวถูกห้ามไม่ให้เข้าไปในวัดหลายแห่ง
ด้าน “วิทยุเอเชียเสรี” (Radio Free Asia) ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ให้เงินทุน รายงานว่า เวลานี้ พระสงฆ์ 2 รูปของวัดเดรปุง อาการอยู่ในขั้นตรีทูต หลังจากเชือดข้อมือตัวเอง อันเป็นการกระทำ ที่เห็นได้ชัดว่า พยายามจะฆ่าตัวตาย
อย่างไรก็ตาม โฆษกของเขตปกครองตนเองแห่งทิเบต ออกมาปฏิเสธพัลวันว่าไม่มีการจับกุม หรือการปิดล้อมวัดใด ๆ ทั้งสิ้น และการประท้วงก็มิได้ลุกลามไปยังเขตชนบท
โฆษก ซึ่งเปิดเผยชื่อตัวเองแต่เพียงว่า “ฟู่” ยังยืนยันด้วยว่า วัดเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมตามปกติ
เมื่อวันพฤหัสฯ (13) ฉิน กัง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ยอมรับว่า มีการชุมนุมประท้วงในกรุงลาซาจริง แต่สถานการณ์ “นิ่ง”แล้ว
บรรดากลุ่มผู้สนับสนุนทิเบต และองค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุในวันเดียวกันว่า มีการใช้แก๊สน้ำตาและไม้พลองไฟฟ้าเข้าสลายผู้ชุมนุม และมีพระถูกจับกุมไปถึง 50 รูป
บรรดากลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า นี่เป็นการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในทิเบต นับตั้งแต่เคยเกิดกระแสการประท้วงเรียกร้องเอกราชในปี 1989 โดยครั้งนั้น จีนได้ประกาศกฎอัยการศึกในกรุงลาซา เพื่อปราบปรามพระสงฆ์
จีนส่งกำลังทหาร เข้าไปเพื่อ “ปลดปล่อย” ทิเบตในปี 1950 จากนั้น ในปีถัดมา ก็ได้เริ่มการปกครองอย่างเป็นทางการ
ในปี 1959 ชาวทิเบตลุกฮือต่อต้าน จึงถูกกองทัพจีนบดขยี้ องค์ทะไล ลามะ ผู้นำแห่งจิตวิญญาณของชาวทิเบต จำต้องเสด็จลี้ภัยในอินเดีย
ล่าสุด ในสัปดาห์นี้ ความพยายามจัดการชุมนุม เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น ประสบความล้มเหลว เพราะถูกขัดขวางทุกรูปแบบ