xs
xsm
sm
md
lg

มุมมอง นักบริหารหนี้:เศรษฐกิจโต 6 %: ระวังจะเป็นการส่งสัญญาณลวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประกาศใช้มาตรการทางเศรษฐกิจโดยการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในขณะที่วงจรหรือวัฏจักร ทางเศรษฐกิจของโลกอยู่ในช่วงขาลงนั้น จะมีพลังเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจเงยหัวขึ้นจนถึง 6% หรือไม่ ยังเป็นที่สงสัย เพราะการส่งออกที่เคยเป็นปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอาจจะพึ่งได้ไม่มากนัก ในขณะเดียวกันภาวะเงินเฟ้อเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ และเห็นได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่เศรษฐกิจชะงักงันได้ หากมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วเกินไป

ราคาน้ำมันโลกที่พุ่งกระฉูดมากกว่า 106 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อบาเรลล์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ในขณะที่ปัญหาซับไพรม์ที่กระจายไปประเทศอื่น และค่าเงินดอลลาร์ สรอ.ที่ยังโน้มอ่อนค่าลง พร้อมกับอัตราการว่างงานของสหรัฐฯเองที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอยยาวนานจนทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่ยังพึ่งพิงรายได้จากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาซึมยาวไปอีกได้

ดังนั้น จึงมีการคาดกันว่าเศรษฐกิจหลายประเทศในปี 2551 นี้จะยังคงขยายตัวต่ำต่อเนื่องจากปีก่อนโดยหวังว่าอาจฟื้นตัวให้เห็นบ้างช่วงปลายปีหากมาตรการการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆของโลก โดยเฉพาะของสหรัฐอเมริกาที่อาจมีการลดดอกเบี้ยลงอย่างมากอีกครั้งหนึ่งเพื่อเสริมมาตรการด้านการคลังที่ได้ประกาศใช้ไปเมื่อเร็วๆนี้ได้ผล แต่ก็อาจหวังได้ไม่มากนักเพราะปัญหาพื้นฐานจากการขาดดุลทั้งการคลัง และดุลบัญชีเดินสะพัดที่เรื้อรังมานานของสหรัฐฯเอง ยังไม่ได้รับการแก้ไข และหลายคนเชื่อว่าขณะนี้เศรษฐกิจของสหรัฐฯเริ่มข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว

จากการคาดหมายล่าสุด EIU คาดกันว่า เศรษฐกิจฃองสหรัฐฯ ปี 2551 นี้จะขยายตัวเพียง 1.6 % จากที่ได้ขยายตัวถึง 2.5% เมื่อสิ้นไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้ว ญี่ปุ่นเองก็จะขยายตัวลดลงจาก 2.0% เหลือเพียง 1.3% ประเทศในกลุ่มยุโรป จะขยายตัวลดลงจาก 2.3% เหลือเพียง 1.8% และจีนจะขยายตัวลดลงจาก 11.2% เหลือเพียง 9.9% เท่านั้น

สำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านเรานั้นคาดว่าในปี 2551 นี้ จะลดลงถ้วนหน้าเช่นเดียวกัน โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะลดลงจากไตรมาสที่สี่ปีที่แล้ว 6.3% เหลือเพียง 6.1% มาเลเซียลดลงจาก 7.3% เป็น 5.5% สิงคโปร์ ลดจาก 5.4% เหลือเพียง 4.9% เกาหลี จาก 5.5% เป็น 4.6% และไ ต้หวัน ลดจาก 6.4% เหลือเพียง 4.5%

อาจมีประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้น ที่ประกาศตัวเลขขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 6.0% จากที่ขยายตัวประมาณ 5.7% ของไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้ว โดยหวังผลจาก โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ การลดภาษี 19 มาตรการ ซึ่งจะต้องใช้เวลาที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจ และการฉีดเงินที่อาศัยเงินสู่เศรษฐกิจฐานรากจากธนาคารของรัฐตามเดิม ที่สงสัยกันว่าเป็นการสร้างรายได้หรือให้คนจนจมปลักในวังวนของการเป็นหนี้โดยไม่รู้จักจบสิ้นอีก และจะสร้างภาระงบประมาณของประเทศในภายภาคหน้ามากน้อยแค่ไหน โดยมิได้เน้นให้เห็นชัดว่าจะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่อย่างไร

อนึ่ง ขณะนี้ได้มีสัญญาณแล้วว่าไทยอาจเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้นทั้งจากปัจจัยราคาน้ำมัน ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อจากต้นทุนเมื่อผสมโรงกับการสร้างอุปสงค์รวมจากการใช้จ่ายทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐ จะส่งผลให้การใช้นโยบายการเงินด้วยการลดดอกเบี้ยที่กระตุ้นการลงทุนมีข้อจำกัดมากขึ้น เมื่อรวมกับการตรึงราคสินค้าเป็นระยะเวลานาน การกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะลากยาวออกไป

ดังนั้น เป้าหมายทางเศรษฐกิจ 6% อาจเป็นเพียงเป้าหมายเศรษฐกิจการเมืองมากกว่า ที่จะเป็นความยั่งยืนทางเศรษฐกิจในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น