ธปท.ยอมรับ ภาวะเงินเฟ้อยังเป็นตัวแปรกดดันที่สำคัญ ในการใช้มาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นศก. ระบุ การชะลอตัวของศก.โลก จะช่วยให้ภาวะเงินเฟ้อลดลงได้ พร้อมส่งสัญญาณปรับลด ดบ.เงินกู้ กระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ชี้ไตรมาส 1 ปี 51 สินเชื่อแบงก์เริ่มฟื้นตัว
นายอัศวิน อาฮูยา เศรษฐกร สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ภายใต้เศรษฐกิจโลกปัจจุบัน โดยยอมรับว่า การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. เป็นไปค่อนข้างยาก เนื่องจากขณะนี้มีปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น โดยจากการสำรวจความเห็นนักธุรกิจพบว่า มีความเป็นห่วงว่าเงินเฟ้อจะสูงถึง 4-6% ขณะเดียวกัน ธปท. ก็จะต้องดูแลอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของภาวะอุปสงค์ ซึ่งมีสัญญาณที่ดีขึ้น
นายอัศวิน กล่าวว่า หากว่าความเชื่อมั่นของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากต้องการทำให้อุปสงค์ฟื้นตัวต่อเนื่อง นโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยก็ต้องสนับสนุนด้วย นอกจากนี้เห็นว่า ความเสี่ยงเสถียรภาพด้านราคาน่าจะเป็นภาวะชั่วคราว หากเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง เศรษฐกิจโลกชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อของไทยและทั้งโลกก็น่าจะลดลงตาม โดยเงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ 2.8-4.0% ตามกรอบที่วางไว้ ดังนั้นนโยบายการเงินน่าจะเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ หากพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง พบว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยต่ำสุดในภูมิภาค แต่ก็ยังมีช่องว่างที่จะลดดอกเบี้ยได้อีก ซึ่งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 2 เดือน ติดลบมานานพอสมควร ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก็ลดลงต่อเนื่อง
ส่วนภาวะเศรษฐกิจจะต้องเน้นการลงทุนในประเทศ ซึ่งสาเหตุที่การลงทุนยังไม่ขยายตัวมากพอ มาจากความไม่ชัดเจนของนโยบายภาครัฐ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องลดความไม่แน่นอนในนโยบายรัฐบาลลง และจะต้องเพิ่มการลงทุนในช่วงเวลาที่เหมาะสม
สำหรับแนวโน้มภาวะสินเชื่อของสถาบันการเงิน ธปท.ได้รายงานว่า ช่วงไตรมาส 1/51 ความต้องการสินเชื่อทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 4/50 ในทุกประเภทสินเชื่อ ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น ภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น
จากการสำรวจภาวะและแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน พบว่า ความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจโดยรวมยังสูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 4/50 เช่นเดียวกับแนวโน้มความต้องการสินเชื่อของภาคครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความต้องการสินเชื่อครัวเรือนอื่นๆ
อย่างไรก็ดี มาตรฐานการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจโดยรวมยังคงมีแนวโน้มจะเข้มงวดขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อระยะยาวและสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ โดยสถาบันการเงินแสดงความกังวลใจเกี่ยวกับแนวโน้มคุณภาพของสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะในบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก และสินเชื่อครัวเรือนประเภทอื่นๆ
ย้อนไปในช่วงไตรมาส 4/50 ความต้องการสินเชื่อโดยรวมปรับตัวดีขึ้น โดยความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยในสินเชื่อทุกประเภท ส่วนภาคครัวเรือนนั้นความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างมาก แม้ว่าจะได้รับปัจจัยลบจากแนวโน้มในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงซบเซา
ขณะที่ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อครัวเรือนอื่นๆ ชะลอลง เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก รวมทั้งความกังวลใจเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองใปนระเทศในช่วงที่ผ่านมา สำหรับเหตุผลในการขอสินเชื่อของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะใช้เพื่อการบริโภคสินค้าทั่วไปและสินค้าคงทน โดยทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายลงมีผลบ้างต่อความต้องการสินเชื่อทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้
อนึ่ง ธปท.ได้เริ่มทำแบบสำรวจภาวะและแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อครั้งแรกในเดือน ม.ค.2551 โดยขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ไทย สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 25 แห่ง ซึ่งครอบคลุมสินเชื่อมากกว่า 90% ของสินเชื่อทั้งระบบ