กนง.ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ย 3.25% โดยเชื่อมั่นว่า แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจปีนี้ ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งการอุปโภค บริโภค และการลงทุน แม้ว่าจะมีความกังวลเงินเฟ้อที่อยู่ในเกณฑ์สูง เผยบอร์ด กนง.ได้นำมาตรการ 30% มาประกอบการพิจารณาด้วย ส่วนปัญหาเงินบาทแข็ง เกิดจากเงินทุนไหลเข้าออกเร็ว ยันไม่มีใบสั่งการเมือง
วันนี้ (26 ก.พ.) นางสาวดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี หลังจากได้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มในระยะต่อไป พบว่า อุปสงค์ในประเทศเร่งตัวขึ้น ทั้งจากการบริโภคและการลงทุน การส่งออกขยายตัวได้ดี ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับและแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนให้การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศมีความต่อเนื่อง ซึ่งในระยะต่อไปจะช่วยชดเชยผลกระทบจากความเสี่ยงที่การส่งออกจะชะลอตัวเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐ เริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย
นางสาวดวงมณี กล่าวว่า การที่ กนง.คงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิม ทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯอยู่ในระดับสูง คงไม่ได้มีผลทำให้เงินไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นมากมายนัก เพราะปัจจุบันการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศมีหลายสาเหตุ แต่ที่สำคัญคือ ไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสูง ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า ประกอบกับ ผู้ส่งออกเทขายดอลลาร์ในระยะนี้ เพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินบาทด้วย
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงระยะ 12 เดือนติดลบ 1% ซึ่งต่ำสุดในภูมิภาค ดังนั้น การที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศและนอกประเทศสูงที่คงไม่ใช่สาเหตุที่เงินไหลเข้ามามาก
นางสาวดวงมณี กล่าวว่า ธปท.ไม่ห่วงการแข็งค่าของเงินบาท ถ้ามีปัจจัยและเหตุผลรองรับ และหากไม่ใช่แข็งค่าการเก็งกำไร ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่าในระยะนี้เป็นผลจากเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดทุน ประกอบกับไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูวง มากกว่าปัจจัยเรื่องเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง
สำหรับแนวทางที่จะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกมาตรการสำรอง 30% นั้น กนง.ได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยพิจารณาความเหมาะสมอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะมีความเกี่ยวข้องกับเงินทุนเคลื่อนย้าย นอกจากนั้น แต่ปัจจัยหลัก คือ ภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจภายนอกประเทศ
ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.ยังกล่าวอีกว่า การตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ เป็นการพิจารณาตามปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจจริงๆ โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่น่าจะอยู่ในสมมติฐาน 86 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลในช่วง 8 ไตรมาสข้างหน้า และยืนยันว่า ฝ่ายการเมืองไม่ได้เข้ามาแทรกแซงการทำงานของ กนง.แม้ว่าก่อนหน้านี้ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง จะเคยออกมาระบุว่าควรมีการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็เป็นเพียงการแสดงความเห็นภายใต้หน้าที่ แต่ไม่ได้มีคำสั่งใดๆ มายังแบงก์ชาติ
อย่างไรก็ดี มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และอาจเร่งตัวต่อไปอีกระยะหนึ่งจากราคาน้ำมัน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น ยังคงเป็นปัจจัยที่ ธปท.ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แม้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จะมีส่วนช่วยบรรเทาแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากราคาสินค้าในตลาดโลกลงได้บ้างก็ตาม แต่ราคาน้ำมันยังคงทรงตัวในระดับสูง ทั้งนี้ ธปท.ยังมั่นใจว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ในเป้าหมาย 8 ไตรมาสข้างหน้า และอัตราเงินเฟ้ออาจลดลงได้ในช่วงต่อไป
น.ส.ดวงมณี กล่าวว่า การที่อัตราดอกเบี้ยไทยสูงกว่าสหรัฐฯ เชื่อว่า ไม่มีผลต่อการไหลเข้าของเงินทุนมากนัก เพราะอัตราดอกเบี้ยไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำสุดในเอเชียอยู่แล้ว และปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงก็ติดลบประมาณร้อยละ 1
“สาเหตุที่เงินทุนไหลเข้าและทำให้เงินบาทแข็งค่า มาจากการที่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ผู้ส่งออกจึงนำดอลลาร์สหรัฐมาขายเป็นเงินบาท ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับอัตราดอกเบี้ย”