xs
xsm
sm
md
lg

ดอกเบี้ยอาร์/พีรอบนี้ยังนิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลับมาให้ได้ลุ้นอีกครั้งสำหรับการพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้...หลายคนจับตามองการพิจารณาครั้งนี้เป็นพิเศษ เพราะก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ถึง 1.25% จากการพิจารณาถึง 2 ครั้งในช่วงเวลาแค่สัปดาห์เดียว

อย่างที่ทราบกันเป็นอย่างดีว่า...การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เหตุผลหลักมาจากการลดผลกระทบจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้วยคุณภาพ (ซับไพรม์) ที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนทั่วโลก...และจากการปรับลดของเฟดในครั้งนี้ ส่งผลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและของเฟดมีส่วนต่างกันอยู่ประมาณ 0.25% ทำให้มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ยังมีรูมให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก 0.25%

...แต่จากตัวเลขเงินเฟ้อและตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาล่าสุด...บ่งชี้ว่าความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้อาจจะไม่มี "มุมมองผู้จัดการกองทุน" วันนี้ ก็เลยนำเสนอมุมมองจากผู้จัดการกองทุน ว่ามีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

วสุ สุทธิพงษ์ชัย ผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซท พลัส จำกัด ให้ความเห็นว่า ถ้าดูตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในตอนนี้แล้ว อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะสั้น 1 วัน (อาร์/พี) ยังไม่มีจะมีการปรับลดลงอีกจากการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้

โดยตัวเลขสำคัญที่มองว่าดอกเบี้ยอาร์/พี ไม่น่าจะขยับขึ้นในรอบนี้ คือ อัตราเงินเฟ้อในระดับ 4.7% ที่ประกาศออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ ประกอบกับตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไตรมาส 4 ของปี 2550 ที่ผ่านมา ที่ออกมาสูงถึง 5.7% ซึ่งถือว่าสูงเกินคาด ขณะที่ทั้งปีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 4.8% ก็เป็นตัวเลขที่สูงเกินคาดเช่นกัน...ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจเหล่านี้ ยังเป็นปัจจัยที่ไม่น่าจะทำให้เงินเฟ้อขยับลงได้ ส่วนราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะบ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะลดลง

อย่างไรก็ตาม ภาพจากภาคการเมืองที่มีเป้าหมายชัดเจนว่าให้ลด...มองว่าอาจจะยังไม่ใช่จังหวะเวลาที่เหมาะสม เพราะหากลดดอกเบี้ย พร้อมทั้งยกเลิกมาตรการกันเงินสำรอง 30% โดยไม่มีมาตรการใดๆ ออกมารองรับ อาจจะส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงระดับ 30 บาทได้

"ตั้งแต่มีการประกาศใช้มาตรการ 30% ก็ไม่ได้หมายความว่ามาตรการนี้เป็นมาตรการที่ดีที่สุด ซึ่งช่วงเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา การจะยกเลิกเลยที่เดียวคงเป็นปัญหาแน่นอน"

สำหรับส่วนของของอัตราดอกเบี้ยไทยที่ยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อยู่ในตอนนี้ ส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะมีผลต่อเงินไหลเข้ามากนัก เนื่องจากปัจจุบันยังมีมาตรการกันเงินสำรอง 30% เป็นตัวสะกัดกั้นอยู่

อย่างไรก็ตาม มองว่าการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยของเฟดรอบต่อไปในวันที่ 18 มีนาคมนี้ จะมีการปรับลดอีกครั้งในอัตรา 0.50% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐยังมีแนวโน้มอ่อนตัวอยู่ ในขณะที่ปัญหาซับไพรม์เองก็ยังมีออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากกลุ่มที่เป็นบริษัทค้ำประกับพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งหากบริษัทเหล่านี้เสียหายไปด้วย แน่นอนว่าจะยังมีผลกระทบออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะเป็นผลกระทบที่ก้อนไม่ใหญ่มากนักแล้วก็ตาม ซึ่งปัญหาซับไพรม์นี้ ส่วนตัวเชื่อว่าจะทยอยหมดในช่วงกลางปีนี้

ทั้งนี้ มองว่าจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดลงไปอยู่ที่ระดับ 2% หรือขยับลงไปอีก 1% หลังจากนี้ ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยหรืออาร์/พี มองว่าจะขยับลงได้อีก 0.25-0.5% ไปอยู่ที่ระดับ 3-2.75% ในช่วงสิ้นปี


นที ดำรงค์กิจการ ผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)นครหลวงไทย จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มอัตราตราดอกเบี้ยภายในประเทศว่า ในการประชุมของคณะกรรมการกนง. ในครั้งนี้ คาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับเดิมอยู่ เนื่องจากจะคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งหากการตัดสินใจเป็นแบบนี้แล้วเชื่อว่าจะส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเพิ่มมากขึ้น โดยกองทุนรวมที่ออกไปลงทุนต่างประเทศคงจะได้รับผลกระทบหากเปิดช่องความเสี่ยงนี้เอาไว้ แต่ถ้าเป็นกองทุนที่ไปลงทุนต่างประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเป็นกองทุนหุ้น คงจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากการปรับตัวของตลาดหุ้นจะทำให้กำไรที่ได้กลบความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินได้

อย่างไรก็ตาม หากการตัดสินใจของกนง.ไม่เป็นไปตามคาดการณ์คือ มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง คงถือเป็นเรื่องดี เนื่องจากจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น โดยเชื่อว่าภายในปีนี้คงจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้อีก เนื่องจากประเทศไทยยังมีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยกับสหรัฐอเมริกาอยู่พอสมควร แต่จะไม่ปรับลดในครั้งเดียว 0.5% คงจะเป็นการทยอยปรับลดมากกว่า

"ดอกเบี้ยของประเทศไทยหากผูกกับสหรัฐอเมริกาแล้วคงจะต้องปรับลง หลังจากที่มีช่องว่างเหลืออยู่ และไม่ได้ปรับมา 2 ครั้งแล้ว โดยเชื่อว่าภายในปีนี้คงจะมีการปรับลดลงประมาณ 0.5% แต่คงจะไม่ใช่การปรับลดลงทีเดียว เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของเราไม่รุนแรง เหมือนในสหรัฐอเมริกา" นทีกล่าว

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หาก กนง. มีความเห็นว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยที่แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐยังไม่ส่งผลกระทบที่ชัดเจนนักต่อภาคการส่งออกของไทย ประกอบกับแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 27 ก.พ. อาจจะไม่ใช่จังหวะของการดำเนินนโยบายที่เอื้อ หรือมีความเหมาะสม กนง.ก็อาจจะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ไว้ที่ 3.25% ตามเดิม และรอพิจารณาการปรับตัวของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งการเลือกแนวทางนี้ นอกจากจะทำให้ กนง. มีความยืดหยุ่นที่จะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายในโอกาสข้างหน้าแล้ว การตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ยังช่วยให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่ปรับตัวลงไปติดลบมากขึ้นอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น