xs
xsm
sm
md
lg

ค้านรัฐเร่งยกเลิกมาตรการ30%บลจ.ย้ำกองอสังหาฯไม่ใช่แหล่งเก็งกำไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการกองทุน และ เอกชน ค้านไม่เห็นด้วยหากภาครัฐยกเลิกมาตราการกันสำรอง30% ในช่วงนี้ แนะนำทยอยผ่อนผันมาตราการ หรือออกมาตราการใหม่มาทดแทนดีกว่า ชี้เพื่อป้องกันเงินบาทแข็งค่า และเงินต่างประเทศที่ไหลเข้ามาเก็งกำไร ขณะเดียวกันไม่เห็นด้วยหากโบรกเกอร์แนะนำนักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์แค่เก็งกำไร เหตุเหมาะกับการลงทุนระยะยาวเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่มั่นคงมากกว่า

นายวีรพันธ์ พลูเกษ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON เปิดเผยว่า การที่ภาครัฐบาลมีแนวโน้มว่าจะยกเลิกมาตราการกันสำรอง 30% นั้น โดยส่วนตัวมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรใช้วิธีทยอยผ่อนผันการบังคับใช้มาตราการดังกล่าวมากกว่าการประกาศยกเลิกภายในครั้งเดียว เนื่องมาจากการยกเลิกทั้งหมดในครั้งเดียวอาจส่งผลทำให้ค่าเงินบาทเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตามสำหรับการลงทุนผ่านกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ภาครัฐสมควรยกเลิกการบังคับใช้มาตราการดังกล่าวได้แล้ว เนื่องมาจากที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างประเทศรายหลายที่อยากจะเข้ามาลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย แต่เนื่องมาจากติดปัญหาเกี่ยวกับมาตราการดังกล่าว ทำให้ชะลอการลงทุนออกไปก่อน เนื่องมาจากมาตรการนี้ ได้บังคับให้นักลงทุนต่างชาติ ต้องมีการซื้อสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (สัญญาฟอร์เวริด์) ทำให้ผลตอบแทนที่ควรจะได้รับต้องมีการนำไปหักกับค่าใช้จ่ายในการทำการประกันความเสี่ยง (เฮดจ์จิ้ง) โดยจะทำให้ผลตอบแทนลดลง

วอนยกเลิกข้อจำกัดกองอสังหาฯ

"ทีผ่านมาแม้ภาครัฐจะยอมผ่อนผันให้มีการเพิ่มทุนของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ในส่วนที่เป็นผู้ถือหน่วยเดิม แต่จริงๆแล้วควรจะยกเลิกการบังคับใช้ไปเลยมากกว่า เนื่องมาจากการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาตินั้น มันเป็นการลงทุนระยะยาวอยู่แล้ว ซึ่งถ้ายกเลิกได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มทุนของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต" นายวีรพันธ์ กล่าว

นายวีรพันธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (TFUND) นั้นปกติจะทำการเพิ่มทุนปีละครั้ง โดยเมื่อปี 2550 กองทุนได้ทำการเพิ่มทุนไปแล้วประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่ากองทุนอาจจะทำการเพิ่มทุนอีกครั้งในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้

จี้รัฐไม่ใช่เรื่องแรกที่ต้องเร่งดำเนินการ

แหล่งข่าวผู้จัดการกองทุนรายหนึ่ง กล่าวว่า การยกเลิกมาตราการกันสำรอง30%นั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ หรือเรื่องที่ภาครัฐไม่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ เพราะหากยกเลิกเรื่องดัวกล่าวในช่วงนี้ ตลาดหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์แน่ แต่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าเพิ่มขึ้น อีกทั้งที่ผ่านมาหลังจากประกาศใช้มาตรการนี้มาร่วม 1 ปีกว่า ภาวะการขึ้นลงของดัชนีตลาดหุ้นไทย ณ ขณะนี้ ล้วนเป็นการปรับตัวไปตามตลาดในภูมิภาคทั้งสิ้น ซึ่งทำให้ช่วงนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบดำเนินการ แต่เรื่องราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ ที่ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น น่าจะเป็นสิ่งที่รัฐควรให้ความสำคัญเป็นเรื่องแรกมากกว่า

เตือนหุ้นกองอสังหาฯไม่เหมาะเก็งกำไร

ขณะเดียวกัน กรณีที่มีบริษัทหลักทรัพย์หลายบริษัทออกบทวิเคราะห์นำแนะให้นักลงทุนเข้าเก็งกำไรในหุ้นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทัพย์นั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องยากที่ผู้ถือหน่วยลงทุนอยู่ก่อนแล้วจะทำการขายกำไรออกมา อีกทั้งหุ้นกลุ่มนี้มีสภาพคล่องต่ำ แต่ให้ผลตอบแทนที่มั่นคง ดังนั้นจึงมองว่าการเข้าลงทุนในหุ้นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ควรเป็นการลงทุนแบบระยะยาว มากกว่าการเข้าเก็งกำไรจากข่าวยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30%เพียงแค่เรื่องเดียว

"สิ่งที่เราต้องคำนึงต่อไปหลังจากมาตรการกันสำรอง 30%ถูกยกเลิก นั่นคือกาารแข็งค่าของค่าเงินบาท เพราะต่อจากนี้ดัชนีและราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นรับข่าวดีในเรื่องนี้ และอัตราดอกเบี้ยของไทยจะมีการปรับตัวลดลง และในต่างประเทศหลายคนคาดการณ์ว่าสหรัฐอเมริกาจะปรับอัตราดอกเบี้ยลงอีกในปีนี้ประมาณ 1% ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะหมายถึงยังมีเงินทุนที่ไหลเข้าเก็งกำไรในประเทศไทยอยู่เช่นเดิม"

หากยกเลิกผู้ส่งออกโวยแน่

แหล่งข่าวจากตลาดทุนรายหนึ่งกล่าวว่า เรื่องการยกเลิกมมาตรการกันสำรอง 30% นั้นต้องมองใน 2 ด้านคือในเรื่องที่ดี ยังมีนักลงททุนต่างชาตหลายรายที่สนใจเข้ามาลงทุนประเทศไทยแบบระยะยาว ซึ่งการยกเลิกมาตราการดังกล่าวจะส่งผลดีและช่วยเชิญให้นักลงทุนเหล่านี้กลับเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกันหากยกเลิกมาตรการนี้ จะมีพวกนักลงทุนที่ลงทุนแบบเก็งกำไรเข้ามาลงทุนในเมื่องไทยเพิ่มเช่น และวัตถุประสงค์ในการตั้งมาตรการกันสำรอง30% ในครั้งแรกมีไว้เพื่อป้องกันกลุ่มบุคคลดังกล่าว ดังนั้นหากยกเลิกไปโดยทันทีจะส่งผลกระทบไม่ดีที่หลายๆฝ่ายคาดการณ์กันไว้ออกมาแน่

"มาตรการ30%ที่แบงก์ชาติตั้งขึ้นในช่วงแรกเพื่อบล็อกพวกเฮดฟันด์ ไม่ให้เข้ามาเก็งกำไรในบ้านเรา ขณะเดียวกันถ้ายกเลิกมาตรการนี้อาจจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจนถึงระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ผู้ประกอบธุรกิจส่งออกสินค้าไปต่างประเทศจะออกเรียกร้องให้รัฐบาลหาทางช่วยเหลือ แต่ผู้นำเข้าสินค้าจะชื่นชอบมากกว่า นอกจากนี้กองทุนในต่างประเทศก็จะเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น"แหล่งข่าว กล่าว

คาดมีมาตรการใหม่ทดแทน

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวเชื่อว่า ภาครัฐจะทำการยกเลิกมาตราการกันสำรอง30% แต่จะมีมมาตราการอื่นออกมารองรับ หรือป้องกันการเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะเข้ามาทำทดแทนมาตราการกันสำรอง30% ที่จะถูกยกเลิกไป และจะไม่มีผลต่อภาพรวมการลงทุนระหว่างประเทศโดยรวม

ก่อนหน้านี้ นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ถ้าหลังจากการยกเลิกมาตรการ 30% แล้ว ภาครัฐไม่มีมาตรการอื่นที่จะออกมารองรับแทน จะทำให้ค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วได้ในทันที และส่งผลทำให้เหลือตลาดอัตราแลกเปลี่ยนแค่ตลาดเดียว จากปัจจุบันที่มีตลาดอัตราแลกเปลี่ยน 2 ตลาด ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าปีนี้ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับใด เนื่องมาจากคงต้องขึ้นอยู่กับกระแสเงินที่ไหลเข้าและออกในประเทศไทย

สำหรับมาตราการที่จะออกมารองรับหลังจากยกเลิกมาตราการ 30% นั้น สามารถทำได้หลายมาตราการ ซึ่งมาตรการเก็บภาษีขาออกที่เคยมีการเสนอก่อนหน้านี้ ก็ถือว่าเป็นมาตราการที่เหมาะสมที่จะออกมารองรับหลังยกเลิกมาตราการ 30%

"ตัวเองเชื่อว่ารัฐบาลก็คงจะมีมาตรการรองรับอยู่ในใจอยู่แล้ว แต่ก็มีทางเลือกเยอะซึ่งควรจะใช้ทางใดต้องขึ้นอยู่กับการเก็งกำไรค่าเงินที่เกิดขึ้น แต่คนที่รู้ดีที่สุดก็คือแบงก์ชาติ" นายพิชิต กล่าว

นายพิชิตกล่าวต่อว่า ในส่วนของบลจ.ในปีที่แล้วมีแผนระดมทุนผ่านกองทุนไพรเวสท์เอคควิตี้และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 15,000 ล้านบาท ซึ่งหลังจากที่ภาครัฐยกเลิกมาตราการ 30% แล้ว บริษัทก็จะสามารถระดมทุนตามแผนดังกล่าวต่อไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น