xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ใช่ 30%...ใช่ว่าจะทำแทนไม่ได้?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่านไป 1 ปีกว่าๆ กับมาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาทอย่างมาตรการกันเงินสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใต้การนำของ "ธาริษา วัฒนเกษ" ผู้ว่าการธปท.คนปัจจุบัน...หลายคนคงจำได้ดีว่าเหตุการณ์ในวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้นไทยบ้าง ซึ่งดัชนีตลาดหุ้นที่รูดลงกว่า 100 จุดในวันนั้น ถือเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าของวงการตลาดทุนไทยเลยทีเดียว

...นอกจากสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นแล้ว "กองทุนรวม" ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของตลาดทุนก็ได้รับผลพวงไปเต็มๆ เช่นกัน โดยเฉพาะกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์)...ที่แม้กองเก่าที่เปิดขายไปก่อนหน้านั้นจะไม่มีผลมากนักหากยังไม่มีการเพิ่มทุน แต่สำหรับกองใหม่ที่วางแผนจะระดมทุน ปรากฏว่าหายเข้ากลีบเมฆไปในทันที โดยเฉพาะกองทุนขนาดใหญ่ที่เน้นจับกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเป็นหลัก

มาถึงวันนี้...วันที่ได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศแล้ว ถูกคาดหมายว่ามาตรการดังกล่าวกำลังจะถูกยกเลิกไป เพราะก่อนเข้ามาเป็นรัฐบาล ได้ใช้นโยบายยกเลิก 30% ในการหาเสียงด้วย...แน่นอนว่าหากประชาชนเลือกมาแล้วไม่ทำตามที่พูดไว้ ก็ถือว่าเข้าข่ายหลอกลวงประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ เรื่องของการยกเลิกมาตรการ 30% ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตัดสินใจนัก เพราะหากมองใน 2 มุม มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย...ส่วนที่เห็นด้วย เพราะต้องการเปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนต่อ ก่อนจะหนีหายไปประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ซะหมด ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ก็เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อศักยภาพการส่งออกของประเทศทำให้แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ (ยกเลิกหรือไม่ยกเลิก เพื่อนบ้านก็เกี่ยวทั้งหมด)...งานนี้เลยเกิดคำถามว่า ถึงเวลาหรือยังที่จะยกเลิกมาตรการกันเงินสำรอง 30%?

พิชิต อัตราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด ให้ความเห็นว่า มาตรการ 30% คิดว่าเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งในการลดผลกระทบต่อการแข็งค่าของเงินบาท แต่ไม่ได้หมายความว่า เครื่องมืออื่นจะทำแทนไม่ได้ ซึ่งการที่คนในวงการตลาดทุนไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เพราะต้นทุนของ 30% สูงเกินไปจนกลายเป็นต้นทุนที่ไม่จำเป็น ไม่ใช่ว่าไม่อยากให้ควบคุมการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน แต่มีเครื่องมือในการบริหารจัดการที่สามารถแก้ไขได้

"ในเรื่อง 30% พูดถึงแล้วมีการบังคับใช้โดยมีผู้แบกรับที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะภาคตราสารหนี้ที่ได้รับผลกระทบเยอะมาก ในขณะที่ภาคตลาดทุนอาจจะไม่มีผลกระทบเลย ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์คือ กลุ่มผู้ส่งออก แต่ไม่ใช่ว่าผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่สมควรได้รับประโยชน์ แต่ก็มีวิธีอื่นที่ผู้ส่งออกจะได้ประโยชน์ ไม่ใช่ปล่อยให้คนแบกภาวะอยู่ที่คนที่เกี่ยวข้องกับตราสารหนี้อย่างเดียว"

ส่วนคำถามที่ว่าควรจะยกเลิกมาตรการ 30% โดยเร็วหรือไม่ ตอนนี้คงไม่เร่งด่วนแล้ว เพราะที่ผ่านมาก็รอมานานเป็นปีแล้ว แต่สิ่งที่เราอยากเห็นคือการปรับปรุงมากกว่า การที่เราจำเป็นที่ต้องรักษาเสถียรภาพของค่าเงินถือเป็นเรื่องที่ดี แต่อยากให้ใช้มาตรการที่มีต้นทุนต่ำกว่านี้ และมีความยุติธรรมมากกว่านี้ทั้งในแง่ของผู้ได้ประโยชน์และผู้แบกรับภาระต้นทุน

อย่างไรก็ตาม ในแง่นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่มีเป้าหมายยกเลิกมาตรการ 30% นั้น เชื่อว่าใน**เรื่องนี้คงไม่เป็นการก้าวก่ายหนี้่าที่ระหว่างกัน เพราะด้วยนิสัยของคนไทยแล้วเชื่อว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่คุยกันได้ด้วยเหตุและผลอยู่แล้ว** ซึ่งธปท.เองเขาคงต้องการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีถ้ามีทางเลือกดีกว่า ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของความพยายามในการบริหารจัดการมากกว่า

สำหรับผลกระทบต่อกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ นอกจากมาตรการ 30% แล้ว ยังมี พ.ร.บ.ต่างด้าว และกฏหมายการเป็นเจ้่าของอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่ชัดเจนอยู่ ซึ่งถ้าดูแล้วหากมีการจัดการในโอกาสเดียวพร้อมกันทั้งหมด น่าจะทำให้กองทุนอสังหาฯ เติบโตได้อีกเยอะ และทั้งผู้ประกอบการและผู้ลงทุนเองก็จะได้ประโยชน์ตามไปด้วย

"นักลงทุนต่างชาติที่เขาเข้ามาโดยมีเจตนาสุจริต ได้รับผลกระทบไปค่อนข้างมาก ซึ่งคนที่เข้ามาอย่างสุจริตนี้เองเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการลงทุน ซึ่งสิทธิของคนไทยที่จะได้รับประโยชน์ตรงนี้ต้องคำนึกถึงด้วย เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้น"

สำหรับแผนการระดมทุนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ของบลจ.เอ็มเอฟซีเอง ขณะนี้ยังไม่มีการคุยกับนักลงทุนต่างชาติ เพราะนักลงทุนเหล่านี้เขาจะคุยก็ต่อเมื่อมาตรการ 30% ไดรับการแก้ไข และมีความชัดเจนในเรื่องของกฏเกณฑ์และการบังคับใช้แล้วเท่านั้น แต่ขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นความหวังว่าท้ายที่สุดแล้ว มาตรการ 30% จะถูกยกเลิกโดยเร็ว

พิพัฒน์ พิศณุวงรักษ์ ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด บอกว่า หากมองในแง่ของการลงทุนโดยเฉพาะกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แล้วมาตรการ 30% ต้องยกเลิก เพราะกองทุนใหม่ที่มีขนาดใหญ่และเน้นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเกิดไม่ได้ ขณะเดียวกันกองทุนที่ต้องการเพิ่มทุนก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน ถึงแม้ที่ผ่านมาจะได้รับการผ่อนผันไปบ้างแล้ว แต่ในมุมมองของผู้ลงทุนต่างชาติเอง เห็นว่าไม่ได้มีส่วนช่วยแต่อย่างใด

ส่วนความกังวลว่าหากยกเลิกแล้วจะกระทบต่อการส่งออก มองว่า ยังไงทางการก็ต้องการบริหารจัดการค่าเงินอยู่แล้ว ซึ่งหากยกเลิกมาตรการ 30% แล้วหาทางจัดการด้วยวิธีอื่น เพราะอย่าลืมว่ามาตรการ 30% เป็นการปิดกั้นการเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจากกฏเกณฑ์เหล่านี้ยังมีอยู่ต่อไปอีก อาจจะทำให้ตลาดกองทุนอสังหาริมทรัพย์ถูกนักลงทุนต่างชาติลืมก็ได้ เพราะในปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย รวมถึงเวียดนาม ที่เงินไหลเข้าไปลงทุนค่อนข้างเยอะ

"หาก30% ไม่ยกเลิก กองทุนอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่โตแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมา ยอมรับว่ามีผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์สนใจจัดตั้งเป็นกองทุนเป็นจำนวนมากพอสมควร เพราะว่าเป็นช่องทางที่มีต้นทุนถูกกว่าการกู้ยืม แต่อาจจะมีบ้างที่เป็นกองทุนเล็กๆ ออกมาเพื่อระดมทุนในประเทศเท่านั้น ซึ่งข้อเสียของกองทุนขนาดเล็กคือ หลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดแล้ว ราคาก็จะหยุดอยู่แค่นั้นโดยไม่เปลี่ยนแปลงไปไหนมากนัก"พิพัฒน์กล่าว

สอดคล้องกับคำพูดของ ธีรพันธุ์ จิตตาลาน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ไว้เมื่อเร็วๆนี้ว่า ภายใน 2 เดือนหลังจากได้คณะรัฐมนตรีเข้ามาบริหารงานแล้ว น่าจะประกาศยกเลิกมาตรการกันเงินสำรอง 30% ที่ปิดกั้นการลงทุนจากต่างประเทศอยู่ในปัจจุบันพร้อมกับการออกประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตให้กองทุนส่วนบุคคลออกไปลงทุนต่างประเทศ เพราะเชื่อว่ารัฐบาลใหม่คงต้องการให้เงินไหลเข้าและไหลออกอย่างเสรีมากกว่า

ส่วนความกังกลที่หลายฝ่ายมองว่า หากยกเลิกมาตรการดังกล่าวแล้ว จะทำให้เงินไหลเข้ามาในประเทศจนกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ส่วนตัวมองว่าขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของภาครัฐ เพราะเงินที่ไหลเข้ามาดังกล่าวสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อการลงทุนในประเทศได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ของภาครัฐ และส่วนที่เหลือก็หาช่องทางเอากลับไปลงทุนต่างประเทศได้

ในขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับการส่งออก ก็เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาหรือส่งผลต่อการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะแนวโน้มค่าเงินในภูมิภาคนี้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา จากระดับ 40 บาทมาอยู่ที่ 32 บาทในปัจจุบัน แต่การส่งออกของประเทศก็ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น