ปธ.เอ็กซิมแบงก์ ประเมินตัวเลขความเสียหายจากวิกฤตซับไพรม์ สูงถึง 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นักเศรษฐศาสตร์ คาด จีดีพีสหรัฐฯปีนี้ โตได้แค่ 1% ด้านนักวิเคราะห์ คาดเม็ดเงินร้อนทะลักเข้าตลาดเกิดใหม่ พร้อมระบุ การไหลเข้าออกเร็ว จะทำให้ตลาดหุ้นย่ายเอเชีย มีแนวโน้มผันผวนแรง หากพรุ่งนี้ เฟดหั่น ดบ.0.5% แนะแบงก์ชาติคุมบาทแข็ง ไม่ควรเกิน 7% แนะทีม ศก.ควรใช้ตัวจริงเป็น รมต.ว่าการ
วันนี้ (29 ม.ค.) นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวถึงภาวะความผันผวนเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ ต่างได้รับผลกระทบจากสหรัฐฯ ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวในเชิงรุก รวมทั้งทำประกันความเสี่ยง ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายจากปัญหาหนี้เสียจากตลาดสินเชื่อด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ในสหรัฐฯ เป็นวงเงินประมาณ 200,000-400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 4.8 ขณะที่ธนาคารโลก คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 3.3 ส่วนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ คาดว่า จะขยายตัวเพียง 1.9% รวมทั้งการค้าและการเงินโลก จะเปลี่ยนแปลงจากขั้วเศรษฐกิจโลก จี 3 คือ สหรัฐฯ ยุโรป และ ญี่ปุ่น มาเป็นประเทศเกิดใหม่ในจีน อินเดีย และอาเซียน
ส่วนกรณีที่มีการคาดกันว่า การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันพรุ่งนี้ (30 ม.ค.) อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงอีก 0.5% นั้น มองว่า หากปรับลดลงจริง อาจทำให้มีเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องให้ความระมัดระวังในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น โดยเฉพาะการควบคุมไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่า 5-7% หรือมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน จากทุนสำรองที่มีอยู่กว่า 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในส่วนเงินทุนสำรองที่ ธปท.บริหารประมาณ 50,000-70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยน อีกส่วนประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใช้สำหรับหนุนการพิมพ์ธนบัตร ดังนั้น ในส่วนที่ดูแลค่าเงินบาท ต้องดูว่า ธปท.กล้าที่จะรับความเสี่ยงในการแทรกแซงเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเพิ่มขึ้นหรือไม่
นายณรงค์ชัย กล่าวว่า สำหรับการเข้ามาบริหารงานของรัฐบาลชุดใหม่ แม้นายกรัฐมนตรีจะไม่ค่อยพูดถึงเศรษฐกิจเท่าใดนัก เพราะห่วงดูแลตลาดสินค้านั้น ก็จำเป็นต้องมีทีมเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อรื้อฟื้นความเชื่อมั่นจากประชาชนและนักลงทุน เพราะผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ และผู้ประกอบการในประเทศให้กล้าตัดสินใจลงทุน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ต้องดูแลราคาสินค้า เพื่อให้ประชาชนมั่นใจต่อค่าครองชีพที่ไม่สูงเกินไป
“ด้านปัญหาอัตราเงินเฟ้อ แม้ ธปท.อาจต้องเข้าไปดูแลเศรษฐกิจภาพรวมด้วยอัตราดอกเบี้ย แต่มองว่าอัตราเงินเฟ้อมีความสำคัญต้องดูแลด้วย เพราะมีส่วนต่อการใช้จ่าย”
สำหรับผลดำเนินงานของเอ็กซิมแบงก์ ในปีที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิ 505 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ มียอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล ร้อยละ 5.5 หรือประมาณ 2,900 ล้านบาท ลดลงจาก 7,925 ล้านบาท จากปีก่อนหน้า ขณะที่ในปี 2551 ได้ตั้งเป้าดำเนินงานในเชิงรุก โดยเตรียมอนุมัติสินเชื่อใหม่ ประมาณ 29,000 ล้านบาท และพร้อมขยายบริการในต่างประเทศ ด้วยการตั้งสาขาเป็นไทยเอ็กซิม อินเตอร์เนชั่นแนล เพราะเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ
นางลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซท พลัส กล่าวถึงผลกระทบซับไพรม์ต่อความผันผวนในตลาดทุน โดยระบุว่า ตลอดเดือน ม.ค.ปีนี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างมาก หลังการประกาศตัวเลขขาดทุนของซิตี กรุ๊ป และคาดว่า จะมีสถาบันการเงินอีกหลายแห่งจะประกาศตัวเลขการขาดทุนออกมาอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกอีกครั้ง
ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของโลกหลายคน ได้ปรับลดตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ในปี 2551 ลงจากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 1 ขณะที่มุมมองของแอสเซท พลัส คาดว่า ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐจะเป็นเพียงการชะลอตัวลงของภาวะเศรษฐกิจ ยังไม่ใช่การเกิดภาวะถดถอย
สำหรับแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกในระยะสั้น 1-3 เดือน จะยังคงผันผวนโดยถูกกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และความกังวลต่อปัญหาซับไพรม์ ที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องตั้งสำรองหนี้เสียในจำนวนที่สูงขึ้น ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายทำกำไรในตลาดที่ยังคงมีกำไร และมีสภาพคล่องอยู่ เพื่อถือเงินสดไว้เป็นสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว หากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
ขณะที่นักวิเคราะห์ยังให้ความสนใจลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และประเทศแถบเอเชีย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศบริค (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน) ที่มีการเติบโตของกำไรต่อหุ้นค่อนข้างสูง การประเมินมูลค่าหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน