บลจ.แอสเซท พลัส หนุนให้ยกเลิกยาแรง 30% แนะแบงก์ชาติ ควรมองหามาตรการอื่นๆ เพื่อรองรับการดูแลค่าเงินบาท พร้อมหนุนให้เร่งการลงทุนเมกะโปรเจกต์ และระมัดระวังการใช้เงินในโครงการประชานิยม
วันนี้ (13 ก.พ.) นางลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.แอสแซท พลัส กล่าวถึงผลการหารือระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยยังให้มีการใช้มาตรการกันสำรอง 30% ต่อไปอีก ตรงนี้ถือว่าไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ประเทศไทย แม้ปัจจุบันจะมีการผ่อนคลายเกือบหมดแล้ว แต่สายตาของนักลงทุนต่างชาติยังมองว่าการที่ไทยมีมาตรการควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุน แสดงว่าไทยยังมีความผิดปกติ
นางลดาวรรณ กล่าวว่า เท่าที่พูดคุยกับผู้จัดการกองทุนต่างประเทศ เห็นว่าควรจะมีการยกเลิกมาตรการดังกล่าว แม้ที่ผ่านมามาตรการนี้จะสามารถดูแลการแข็งค่าของเงินบาทได้ระดับหนึ่ง เพราะค่าเงินบาทก็ยังแข็งค่าขึ้น โดยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับภูมิภาค จึงไม่แน่ใจว่ามาตรการนี้ได้ผลเต็มที่ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการพูดถึงความเสี่ยงความเสียหาย และการเข้าแทรกแซงของแบงก์ชาติ
อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยที่จะมีมาตรการรองรับความผันผวนของค่าเงินบาท หากมีการยกเลิกมาตรการสำรอง 30% แต่จะต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังและรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ส่วนผลกระทบต่อตลาดทุนคงไม่มาก เพราะมาตรการนี้ ไม่ได้ควบคุมเงินลงทุนในตลาดหุ้น และที่ผ่านมานักลงทุนมีการรับรู้ข้อมูลระดับหนึ่งแล้วว่าจะมีการประกาศยกเลิก
ส่วนตลาดหุ้นไทยหลังมีรัฐบาลใหม่น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามารถกระตุ้นความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติได้ และรัฐบาลมีการใช้เงินงบประมาณเพื่อกระตุ้นการลงทุนผ่านโครงการเมกะโปรเจกต์ ซึ่งคงจะทำให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนตามมาในอนาคต แต่อยากให้รัฐบาลระมัดระวังการใช้เงินด้านประชานิยมด้วย
นางลดาวรรณ ยังกล่าวถึงผลกระทบซับไพรม์ต่อความผันผวนในตลาดทุน โดยระบุว่า ตลอดเดือน ม.ค.ปีนี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างมาก หลังการประกาศตัวเลขขาดทุนของซิตี้ กรุ๊ป และคาดว่าจะมีสถาบันการเงินอีกหลายแห่งจะประกาศตัวเลขการขาดทุนออกมาอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกอีกครั้ง
ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของโลกหลายคนได้ปรับลดตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 2551 ลงจากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 1 ขณะที่มุมมองของแอสเซท พลัส คาดว่า ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเป็นเพียงการชะลอตัวลงของภาวะเศรษฐกิจ ยังไม่ใช่การเกิดภาวะถดถอย ส่วนแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกในระยะสั้น 1-3 เดือน จะยังคงผันผวนโดยถูกกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และความกังวลต่อปัญหาซับไพร์ม ที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องตั้งสำรองหนี้เสียในจำนวนที่สูงขึ้น ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายทำกำไรในตลาดที่ยังคงมีกำไร และมีสภาพคล่องอยู่ เพื่อถือเงินสดไว้เป็นสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว หากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ยังให้ความสนใจลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และประเทศแถบเอเชีย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศบริค (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน) ที่มีการเติบโตของกำไรต่อหุ้นค่อนข้างสูง การประเมินมูลค่าหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน