xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ยันมาตรการ 30% มีความจำเป็น ชี้เงินลงทุนต่างชาติยังปรกติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท.พร้อมชี้แจงขุนคลังเลี๊ยบ ยันมาตรการ 30% ยังมีความจำเป็น และไม่มีเหตุผลที่จะยกเลิก หากทราบข้อมูลเชิงลึก พร้อมชี้เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศยังไหลเข้าปกติ ย้ำค่าเงินบาทแข็งเกาะกลุ่มในภูมิภาค ขณะที่ "กุนซือ รมว.คลัง" ชี้แบงก์ชาติ บิดเบือนกลไกตลาดทำประเทศเสียหายกว่า 2 แสนล้าน พร้อมดึง 4 หน่วยงาน ตั้งวอรูมเศรษฐกิจ 12 ก.พ.นี้

วันนี้(8 ก.พ.) นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรอง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ ธปท.จะเข้าไปชี้แจงและหารือกับกระทรวงการคลังเกี่ยวกับความชัดเจนของมาตรการกันสำรอง 30% ในสัปดาห์หน้า โดยระบุว่า ขณะนี้ผู้บริหารของ ธปท.อยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลต่างๆ โดยเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องอธิบายให้กระทรวงการคลังเข้าใจว่า ธปท.ต้องทำอะไรบ้าง

นอกจากนี้ ธปท.จะชี้แจงในหลายประเด็นที่คาดว่า ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน โดยเฉพาะตัวเลขต่างๆ ที่กระทรวงการคลังยังไม่รู้ ซึ่งหากรู้ข้อมูลมากขึ้นอาจมีความเป็นไปได้ที่จะไม่ยกเลิก เพราะถ้ายกเลิกอาจจะได้รับมีผลกระทบ จึงจำเป็นที่กระทรวงการคลังต้องชั่งน้ำหนักดูว่าเมื่อยกเลิกแล้ว จะคุ้มหรือเหมาะสมหรือไม่

สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่านักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในลักษณะเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ) เริ่มลดลงจากการขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาลชุดปัจจุบันและจากมาตรการ 30% นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า เท่าที่ ธปท.ตรวจสอบเงินลงทุนเอฟดีไอยังไหลเข้ามาตามปกติ ซึ่ง ธปท.ก็ไม่ได้ใช้มาตรการกันสำรอง 30% สำหรับการลงทุนในลักษณะนี้

กรณีดังกล่าว ธปท.จึงเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติคงไม่ใช้เหตุผลนี้ เพื่อลดความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนในไทย รวมทั้งในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ก็ผ่อนคลายมาตรการนี้อยู่เสมอ จึงเชื่อว่าเงินทุนที่ไหลเข้ามาส่วนหนึ่งก็เข้ามาลงทุนที่แท้จริงสร้างประโยชน์ให้แก่เศรษฐกิจไทย

นางผ่องเพ็ญ ระบุว่า ขณะนี้เงินทุนไหลเข้าออกเริ่มมีความสมดุลมากขึ้น เงินไหลที่เข้ามาเก็งกำไรก็โดนกันสำรอง 30% ไว้หมด จึงไม่ค่อยจะเข้ามาแล้ว ส่วนกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ(เอฟไอเอฟ) ส่วนใหญ่มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีอยู่แล้ว

ด้านผู้ส่งออก ก็มีการขยายตลาดอื่นมากขึ้น และมีการค้าขายกับต่างประเทศในหลากหลายสกุลมากขึ้น ซึ่งมีการดูแลตัวเองที่ดีขึ้นกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ถือว่ามีการป้องกันความเสี่ยงที่ดีขึ้น

นางผ่องเพ็ญ กล่าวอีกว่า สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมายังสอดคล้องกับค่าเงินสกุลในภูมิภาค แม้บางช่วงค่าเงินบาทไทยเทียบกับบางสกุลอาจแข็งกว่าหรือแข็งน้อยกว่าบ้างก็ตาม แต่ค่าเงินบาทไทยอยู่ในระดับกลางๆ โดยนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 2% ซึ่งมีเพียง 2-3 ประเทศที่การเคลื่อนไหวค่าเงินใกล้เคียงกับของไทย เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ แต่เงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่ากว่าไทย

**กุนซือเลี๊ยบ ชี้แบงก์ชาติ บิดเบือนกลไกตลาด

นายกิตติ ลิ่มสกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในว่าที่ทีมที่ปรึกษานายแพทย์(น.พ.) สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความเห็นกรณีดังกล่าวว่า ธปท.ควรปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเป็นไปตามกลไกตลาด เพราะการแทรกแซงค่าเงินบาทช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความเสียหายกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ผิดพลาด

**ดึง 4 หน่วยงาน ตั้งวอรูม 12 ก.พ.นี้

นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ธปท. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) และสำนักงบประมาณ จะหารือกันในวันที่ 12 ก.พ.นี้ ภายใต้แนวคิดของรัฐบาล เพื่อตั้งวอร์รูมเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงการคลัง ก็จะมีการประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในวันที่ 11 ก.พ.เพื่อหารือร่วมกันเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจและแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนที่จะเข้าร่วมประชุมกับทั้ง 3 หน่วยงาน

นายสมชัย กล่าวว่า แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นไปได้มีหลายแนวทาง เช่น การเพิ่มงบประมาณกลางปี ซึ่งคงต้องใช้เงินกู้ภายในประเทศเป็นหลัก เพราะรายได้ประจำปีงบประมาณ 2551 คงจะไม่สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 1.495 ล้านล้านบาท เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ ประกอบกับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในปัจจุบันอยู่ที่ 37-38% จากกรอบ 50% ต่อจีดีพี ทำให้รัฐยังมีช่องเพียงพอที่จะก่อหนี้เพิ่มได้

"ส่วนที่จะทำงบประมาณเพิ่มเติม คงต้องกู้ในประเทศเพิ่ม เพราะการขาดดุลที่ใช้เงินในประเทศ ก็ควรกู้ในประเทศ และการจัดเก็บรายได้ปีนี้คงไม่เกินจากเป้าที่ตั้งไว้เท่าไหร่"

สำหรับการนำมาตรการภาษีมาใช้นั้น นายสมชัย กล่าวว่า ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีออกมาหรือไม่ เนื่องจากต้องพิจารณาก่อนว่าจะกระทบต่อฐานะการคลังมากน้อยอย่างไร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีมาตรการภาษีบางอย่างที่กรมสรรพากรเตรียมการศึกษาไว้ เช่น การเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก 60,000 บาท เป็น 100,000 บาทต่อคนต่อปี

ส่วนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ที่จะครบกำหนดผ่อนผันให้ลดมาเหลือ 7% จาก 10% สิ้นสุด ก.ย.51 นี้นั้น คาดว่าจะมีการหยิบยกมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะจัดเก็บในระดับเดิมที่ 10% หรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและฐานะการคลัง ณ เวลานั้น โดยขณะนี้ยังมีเวลากว่าจะถึงเดือน ก.ย.

"เรื่อง VAT เราคงไม่แตะจนถึงเดือนกันยายน แล้วจึงค่อยมาพิจารณากันอีกทีว่าภาวะเศรษฐกิจและฐานะการคลังในขณะนั้นเป็นอย่างไร...ไม่เป็นไร เราคงไม่เพิ่ม VAT เพื่อมาทำงบกลางปี เพราะเราทำงบขาดดุล ก็แปลว่ากู้ได้ แต่ยืนยันว่าฐานะการคลังไม่น่ามีปัญหาอย่างแน่นอน" นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยถึงการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่สำหรับนโยบายประชานิยมต่างๆ ที่เห็นว่ามีความเหมาะสมก็จะเดินหน้าต่อ เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งก็จะนำมาต่อยอดเป็นธนาคารหมู่บ้าน แต่ก็จะทำในลักษณะปรับโครงสร้างการผลิตด้วย เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จะออกมาได้พร้อมกับการแถลงนโยบายรัฐบาลในช่วงเดือน ก.พ.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น