นักวิชาการ-ภาคเอกชน เตือนสติรัฐบาล “หมัก 1” ชี้ระบบเศรษฐกิจแบบประชานิยม ควรต้องมีขอบเขตจำกัด เพื่อรักษาวินัยด้านการเงิน-การคลัง ชี้ การหว่านเงินลงรากหญ้าแบบในอดีต เป็นแค่การกระตุ้นกำลังซื้อในระยะสั้น อาจทำให้เกิดการเสพติด และการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย โดยไม่ก่อให้เกิดการผลิตที่แท้จริง ส่วนการยกเลิกกันสำรอง 30% มีความเห็นในหลายแนวทาง
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงแนวโนบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยระบุว่า สิ่งที่เห็นเป็นลำดับแรก คือ รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงการคลัง ควรจะต้องมีความระมัดระวังมากขึ้นในการพูดถึงนโยบายด้านการเงิน หรือนโยบายอัตราดอกเบี้ย เห็นได้จากในต่างประเทศเองที่ รมว.คลัง จะไม่ให้ความเห็นในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยเลย เพราะเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอีกสิ่งหนึ่งที่ รมว.คลัง ท่านนี้ไม่พูดถึงเลย คือ อัตราเงินเฟ้อ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีหลายคนที่เห็นว่าเงินเฟ้อไม่น่าห่วงแล้ว แต่นั่นก็เป็นเพียงการคาดการณ์
ขณะเดียวกับบางนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลนี้ น่าจะมองถูกทางแล้ว ก็คือ ถ้าตั้งโจทย์ว่าจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ต้องมีการนำเงินไปลงเพื่อให้เกิดการบริโภค เนื่องจากการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์นั้น อาจจะไม่เห็นเม็ดเงินทันภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรใช้งบประมาณด้านประชานิยมแบบมีขอบเขต เพื่อรักษาวินัยด้านการเงินการคลัง พร้อมไปกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มวิจัยเศรษฐกิจ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะการกระตุ้นการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ เป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนได้ นอกจากนี้หากทางการเร่งดำเนินนโยบายดังกล่าว (โครงการเมกะโปรเจกต์) ก็จะสามารถช่วยชะลอการแข็งค่าของค่าเงินบาทได้ จากการดำเนินนโยบายเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าห่วง คือ ภาระของรัฐบาลในอนาคตหากจะมุ่งเน้นนโยบายด้านประชานิยม โดยเฉพาะการกระตุ้นอัดฉีดเงินสู่รากหญ้าหากเป็นเช่นในอดีตคงไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าในระยะยาวได้ และยิ่งเป็นการสร้างภาระในระยะยาวอาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการคลังของประเทศได้
ส่วนการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% นั้น ดร.เศรษฐพุฒิ เห็นว่า รัฐบาลควรจะทยอยปลดล็อกจนกระทั่งส่วนต่างระหว่างค่าเงินบาทในตลาดเงินในประเทศ (ออนชอร์) และตลาดเงินต่างประเทศ (ออฟชอร์) ไม่มีความต่าง น่าจะเป็นช่วงที่เหมาะสมสำหรับการประกาศยกเลิกมาตรการดังกล่าว
นายตรรก บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการแถลงนโยบายของ รมว.คลัง 20 ก.พ.นี้ เพื่อจะเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศกลับมานั้น ถือว่าเป็นจุดสำคัญ แต่ในสิ่งที่ตลาดเงินมองในขณะนี้คือ นโยบายที่ออกมายังเป็นภาพใหญ่ หากจะมีความชัดเจนอาจต้องรอดูช่วงเวลาและกรอบการทำงานในแต่ละเรื่อง ซึ่งต้องดูว่ารมว.คลัง จะดำเนินการตามกรอบที่วางไว้ช้าเร็วเพียงไหน ขณะเดียวกันก็คงดูสถานการณ์ในต่างประเทศควบคู่ เช่น เศรษฐกิจสหรัฐฯ
แต่ทั้งนี้ จากสัญญาณของภาครัฐที่ออกมา ก็น่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนดีขึ้นกว่าเดิม เห็นได้จากการประกาศจะทำสิ่งที่ค้างคา เช่น โครงการเมกะโปรเจกต์ มาตรการการยกเลินกันสำรอง 30% โดยในส่วนของนโยบายที่เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนนั้น หากทำได้เศรษฐกิจประเทศและความเชื่อมั่นของประเทศก็จะกลับมา ในทางหนึ่งก็อาจส่งผลให้ค่าบาทมีแนวโน้มแข็งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการลงทุนในเมกะโปรเจกต์ ที่จำเป็นต้องใช้เงินเพื่อซื้อสินค้าทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก จะทำให้ทิศทางค่าบาทที่แข็งค่าเข้าสู่ภาวะสมดุลขึ้น
ดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังสี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ .ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยังไม่มั่นในนโยบายเศรษฐกิจของรมว.คลัง เพราะรายละเอียดไม่ชัดเจนและลงลึกในหลายเรื่องซึ่งต้องรอดู และส่วนใหญ่เป็นนโยบายในภาพกว้างๆ มากกว่า เช่น แนวทางการยกเลิก 30% ก็ยังไม่ระบุว่าจะมีมาตรการอะไรออกมารองรับ โดยเฉพาะในภาวะที่สถานการณ์เศรษฐกิจ 3-4 เดือนข้างหน้า ที่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ ที่รัฐจะทำอะไรได้ ยิ่งเป็นรัฐบาลที่คนตั้งคาใจในคุณสมบัติประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจ ยิ่งต้องทำงานให้หนักกว่าปกติหลายเท่า
“สถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ผิดปกติมาก แต่ยังไม่เห็นนโยบายของรัฐบาลที่จะมารับมือ ก็ยังรอดูอยู่ว่าจะมีอะไรที่ต้องออกมาเพิ่มเติมอีก แต่ถ้าดูจากภาพรวมของนโยบายที่ประกาศไปแล้ว ยังไม่มั่นใจ”
สอดคล้องกับนักบริหารเงินของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง กล่าวว่า ตนยังไม่เชื่อมั่นนักกับนโยบายการดูแลเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ เพราะเป็นภาพกว้างมากๆ เช่น จะยกเลิก 30% ก็ไม่แจงถึงมาตรการรองรับอื่นๆ หรือแนวทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็ยังไม่มีรายละเอียดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้เหมาะสมหรือยัง
นอกจากนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยก็เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) การที่คลังเป็นฝ่ายออกมาพูดว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลาดก็อาจมองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ และโดยหลักการก็ควรจะมีรายละเอียดมากกว่านี้ นอกจากนี้ หากจีดีพียังไม่หลุดจากอัตราการเติบโต 4.5-5% การใช้นโยบายลดอัตราดอกเบี้ยก็อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็น
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศ กล่าวว่า เอกชนในภาคการส่งออกไม่ขัดข้องหากรัฐบาลจะยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% แล้วไม่ทำให้เกิดความเสียหาย แต่ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องให้ความมั่นใจว่าจะมีมาตรการออกมารองรับเพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทมีความผันในระดับที่แข็งค่ามากกว่าคู่แข่งขัน
สำหรับมาตรการที่จะออกมารองรับเพื่อลดความผันผวนนั้นภาคเอกชนนั้นทางกระทรวงการคลัง และธปท.ทราบดีอยู่แล้วว่าควรใช้มาตรการใด ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกหรือไม่ถือเป็นเรื่องละเอียด ธปท.คงไม่ปรับลดด้วยเหตุผลป้องกันเงินบาทแข็งค่าจากการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว เนื่องจากยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอีกมาก แต่โดยหลักการแล้วไทยอาจต้องปรับลดดอกเบี้ยลงบ้างตามสหรัฐฯเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายสุชาติ จันทรานาคราช ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ผู้ส่งออกในภาพรวมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% เพราะถ้าหากยกเลิกจะทำให้มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นจำนวนมาก และจะทำให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้นกระทบต่อภาคการส่งออก ดังนั้น รัฐบาลควรคงมาตรการไว้เพื่อเอาไว้ปราบและปรามนักเก็งกำไรระยะสั้น ส่วนการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เห็นด้วยที่จะมีการลด แต่จะต้องลดทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝาก เพราะหากไม่ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบงก์ก็ยังเป็นเสือนอนกิน การลดดอกเบี้ยเงินกู้จะทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการลดลง ภาคธุรกิจ และประชาชนก็จะนำมาลงทุนและจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด ให้ความเห็นต่อนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ว่า โดยรวมแล้วระยะสั้นนโยบายของกระทรวงการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นถือว่าเป็นนโยบายที่ถูกทาง ทั้งโครงการลงทุนในโครงสร้างเมกะโปรเจ็กต์ แนวทางการลดอัตราดอกเบี้ย นโยบายยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30 % และการใช้นโยบายประชานิยม ซึ่งถือว่าสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติได้ในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ยังต้องรอดูผลจากการลงมือปฏิบัติจริงว่าจะทำได้หรือไม่ด้วย โดยเฉพาะการใช้นโยบายประชิยมที่จะต้องสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าได้ในระยะยาว
นายอาจดนัย สุจริตกุล ประธานกรรมการ บล.เจ.พี.มอร์แกน กล่าวเช่นเดียวกันว่า นักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นนโยบายของรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% เห็นได้จากวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังรัฐบาลใหม่ประกาศนโยบาย นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย และดัชนีก็ปรับขึ้นไปกว่า 10 จุด ถึงแม้ว่าเป็นช่วงหยุดเทศกาลตรุษจีนก็ตาม อย่างไรก็ตามจะต้องรอดูว่านโยบายที่รัฐบาลชุดใหม่ประกาศไว้จะทำได้จริงมากน้อยแค่ไหนก็คงจะต้องรอดูต่อไป