ขุนคลัง แนะแบงก์ชาติ สามารถประชุม กนง.วางกรอบใช้มาตรการฉุกเฉินได้ เพื่อรับมือความผันผวนได้ทันสถานการณ์ พร้อมฝากงาน รมว.คลังใหม่ ดูแลค่าเงินบาทให้ดี หลังประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ขณะที่ ผู้อำนวยการ สศค.ยอมรับ ต่างชาติลังเลการลงทุน รอฟังนโยบาย ศก.จากรัฐบาลใหม่ ก่อนตัดสินใจกลับมาอีกครั้ง
วันนี้ (1 ก.พ.) นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดจากปัญหาซับไพรม์ โดยรัฐบาลสหรัฐฯปรับลดดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและค่อนข้างมาก เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ควรจะมีการดำเนินนโยบายการเงินอย่างยืดหยุ่น
ทั้งนี้ หากว่า ธปท.พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องรีบวางกรอบนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็สามารถประชุมได้ โดยไม่ต้องรอให้ถึงกำหนดเวลานัดประชุม
“สำหรับค่าเงินบาท ตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้แข็งค่าขึ้นประมาณ 2% ซึ่งก็ไม่ได้แข็งไปกว่าประเทศอื่นมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม ครม.กับแบงก์ชาติ ก็จะต้องมีการตกลงถึงกรอบการทำงานและบริหารค่าเงินของ กนง.อย่างชัดเจนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งรัฐบาลก็ต้องให้อิสระในการบริหารค่าเงินกับแบงก์ชาติด้วย”
สำหรับการอำลาตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง ในวันนี้ ตนเองอยากฝากงานให้ รมว.คลังคนใหม่ เข้ามาดูแลเรื่องปัญหาค่าเงินบาท ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งช่วยลดความขัดแย้งในการทำงานเกี่ยวกับนโยบายการเงินระหว่างกระทรวงการคลังและ ธปท.
สศค.กังวลต่างชาติไปไม่กลับ
นายโชติชัย สุวรรณภรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มกลยุทธ์และพัฒนาระบบการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ตอนนี้ นักลงทุนต่างชาติมีความวิตกกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจของไทย จึงลังเลไม่กล้าที่จะเข้ามาลงทุน และมีโอกาสน้อยที่จะกลับเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ขณะที่บางส่วน ต้องการรอฟังนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่จะออกมา มีความเหมาะสมแค่ไหน โดยนักลงทุนต่างประเทศส่วนใหญ่หวังว่า รัฐบาลใหม่จะมีนโยบายยกเลิกมาตรการกันสำรองการลงทุน 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ทั้งนี้ จากการได้หารือกับผู้จัดการกองทุนต่างประเทศทั้งยุโรปและเอเชีย ส่วนใหญ่นักลงทุนยังมีคำถามคาใจอยู่มาก เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 จะเป็นเท่าไร เพราะเห็นว่าการประมาณการของหน่วยงานรัฐมีความแตกต่างกันอยู่มาก คือ คลังประมาณการเศรษฐกิจขยายตัว 4.5-5.5% สำนักงานคณะคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) อยู่ที่ระดับ 5% และธปท.อยู่ที่ 4-6%
นอกจากนี้ นักลงทุนต้องการรู้ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะสูงขึ้นไปเท่าไร และทางการมีนโยบายแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร รวมถึงรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง จะทำงบประมาณขาดดุลมากขึ้น หรือจะมีมาตรการลดภาษี เพิ่มเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้บริโภคเหมือนกับมาตรการในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือมา
นายโชติชัย กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ได้ชี้แจงให้นักลงทุนทราบไปบ้างแล้ว สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ด้านการเมืองก็มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งต้องตั้งใจดำเนินการนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม และเกิดผลดีกับเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่ารัฐบาลใหม่มีแผนที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการตั้งงบประมาณขาดดุล และลดภาษี เพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้บริโภค เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจ และเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างประเทศ