ผู้ว่าการ ธปท.ยอมรับ วิกฤตการณ์เศรษฐกิจทั่วโลก ในปีนี้ เป็นสิ่งที่ท้าทาย ทั้งผลกระทบน้ำมันแพง การไหลเข้าออกเร็วของเงินทุน และเสถียรภาพของสถาบันการเงิน ชี้ผลกระทบเงินเฟ้อจากต้นทุนสูง ธปท.จะไม่ใช้ยาแรงสกัด เพราะอาจกระทบการขยายตัวของจีดีพี พร้อมเปิดช่องการลงทุนในต่างประเทศ ลดปัญหาการขาดทุนส่วนต่างราคาในตลาดหุ้น ส่วนมาตรการ 30% ยังคงไว้ รอพิสูจน์กึ๋น รมว.คลังใหม่
วันนี้ (28 ม.ค.) นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการแถลงข่าวมุมมองเศรษฐกิจไทยปี 2551 โดยระบุถึงความท้าทายของระบบเศรษฐกิจในปี 2551 นั้น ธปท.จะต้องดูแลใน 3 เรื่อง ได้แก่ ประการที่ 1 การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้ภาวะราคาน้ำมันแพง และปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง, ประการที่ 2 การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนภายใต้กระแสเงินทุนไหลเข้าออกอย่างรวดเร็ว และมีความผันผวน และประการที่ 3 การดูแลความมั่นคงของสถาบันการเงินภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
นางธาริษา กล่าวว่า ธปท.จะยังคงยึดแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ตราบที่ยังไม่เกิดแรงกดดันด้านราคาจนเงินเฟ้อ อาจจะสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดในภาวะที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว
ทั้งนี้ ธปท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม และยืดหยุ่นอย่างพอเพียง ในการรับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ
สำหรับในส่วนของการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน นางธาริษา กล่าวว่า จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯมีปัญหา อาจทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามาในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น และสร้างความผันผวนให้ค่าเงินในภูมิภาคมากขึ้น หลังจากที่ ธปท.ได้มีการผ่อนคลายนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนมาระยะหนึ่งแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เพื่อให้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งขั้นตอนต่างๆ ในเสร็จสิ้นไป รอเพียงการประกาศใช้อย่างเป็นทางการเท่านั้น
นอกจากนี้ ในส่วนของการดูแลความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน จากเดิมที่มีการใช้นโยบายกำกับการเงินในการดูแลสถาบันการเงิน แต่ต่อไปจะเน้นเรื่องความเสี่ยงมากขึ้น
ส่วนที่ถามกันมามาก คือ การยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ของเงินทุนนำเข้าระยะสั้น หากมีมาตรการอื่นรองรับ ซึ่งต้องรอหารือกับรัฐบาลใหม่ก่อน ขณะที่จะเข้าดูแลค่าเงินบาท เพื่อลดความผันผวน และให้เงินบาทอยู่ในระดับที่แข่งขันได้
"มาตรการ 30% เป็นเพียงมาตรการเดียว คงต้องมาดูพร้อมกัน ถ้ามีมาตรการอื่นที่สามารถดูแลเศรษฐกิจและค่าเงินได้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมี URR(สำรอง 30%) ก็ได้ แต่ถ้ายังไม่มีอะไรที่จะมาแทน ก็อาจจะต้องคงอยู่ต่อ"
ทั้งนี้ ธปท.ยืนยันว่า พร้อมเข้าดูแลค่าเงินบาท เพื่อลดความผันผวน และให้อยู่ในระดับที่แข่งขันกับประเทศอื่นได้