xs
xsm
sm
md
lg

30% สกัดทุนโลกลดบาทแข็ง ธปท.แจง"เลี๊ยบ"มั่นใจไม่เลิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติพร้อมชี้แจงถึงความจำเป็นในการใช้มาตรการกันสำรองเงินนำเข้า 30% ให้ขุนคลัง "เลี๊ยบ" ในสัปดาห์นี้ ชี้ข้อดีเงินทุนไหลเข้าและออกสมดุลมากขึ้น เงินบาทแข็งค่าลดลงจาก 17% เหลือ 7% ขณะที่เงินทุนต่างชาติไหลเข้าลดลงจาก 1.3 หมื่นล้านเหรียญ ในปี 49 เหลือเพียง 2.7 พันล้านเหรียญ มั่นใจหากกระทรวงการคลังเห็นข้อมูลลับจะไม่ยกเลิกมาตรการฯ

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรอง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการเตรียมพร้อมเข้าชี้แจง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่าสัปดาห์นี้ผู้บริหารแบงก์ชาติจะเข้าไปชี้แจงและหารือกับกระทรวงการคลังถึงความชัดเจนของมาตรการกันสำรอง 30% รวมทั้งบทบาทการทำหน้าที่ของแบงก์ชาติว่าต้องทำอะไรบ้าง โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลตัวเลขที่มีบางส่วนทางคลังยังไม่รู้ เพื่อให้เข้าใจข้อมูลมากขึ้น และถ้าเมื่อใดมีการยกเลิกอาจจะได้รับผลกระทบ ซึ่งเชื่อว่าท้ายที่สุดอาจมีความเป็นไปได้ที่จะตัดสินใจไม่ยกเลิกมาตรการนี้

นางผ่องเพ็ญย้ำว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงการคลังต้องชั่งน้ำหนักดูว่า เมื่อยกเลิกแล้วจะคุ้มหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันตลาดโลกมีความผันผวนมาก แต่หลังจากใช้มาตรการกันสำรอง30% สำหรับเงินทุนนำเข้าระยะสั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสกัดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจนส่งผลให้ค่าเงินมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ ขณะเดียวกันช่วยดูแลให้เงินที่เข้ามาจากการลงทุนจริงๆ ถือเป็นเม็ดเงินที่เข้ามาสร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจไทยต่อไปด้วย ดังนั้น มาตรการกันสำรองนี้ช่วยให้เงินทุนไหลเข้าออกไทยมีความสมดุลมากขึ้น

***บาทแข็งน้อยลงจาก 17% เหลือ 7%
นางสุชาดา กิระกุล
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท.กล่าวว่า หลังจากที่ธปท.ได้ออกมาตรการกันสำรอง 30% ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าน้อยลงเหลือ 7% เทียบกับก่อนมีมาตรการ คือ ทั้งปี 49 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 17% และเป็นการแข็งค่าขึ้นมากว่าทุกสกุลในภูมิภาค นอกจากนี้นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 2% ถือว่าดูแลค่าเงินบาทให้สอดคล้องไปกับค่าเงินในเอเชีย และภาคการผลิต การส่งออกได้มีการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงค่าเงินได้ดีขึ้นทั้งการกระจายตลาด และการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

**ยอดเงินไหลเข้าลดลงชัดเจน
นับตั้งแต่ปี 49 เป็นต้นมาไทยมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าทั้งสิ้น 13,616 ล้านเหรียญ ซึ่งนอกจากจะหาผลประโยชย์จากการลงทุนแล้วยังเข้ามาเก็งกำไรจากค่าเงินบาทด้วย แต่หลังจากออกมาตรการกันสำรองเงินทุนไหลเข้าลดลงเหลือเพียง 2,754 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดในช่วง 11 เดือนของปี 50 ที่ผ่านมา ซึ่งการลงทุนที่ได้รับการยกเว้นการกันสำรองส่วนใหญ่มีเงินทุนไหลเข้ามาตามปกติไม่ได้หวือหวาเหมือนเมื่อก่อน และตรงกันข้ามหากพิจารณาตัวเลขการลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่ง ธปท.ยังคงมาตรการนี้อยู่เหตุจากนักลงทุนต่างชาติพักเงินไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงการจำกัดวงเงินบาทในบัญชี NRBA ทำให้ในปี 49 นักลงทุนต่างชาติแห่กันพักเงินไว้จำนวนมากและถอนเงินทุนกลับไปแค่ 711 ล้านเหรียญ เมื่อเทียบกับ 11 เดือนแรกของปี 50 นักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนลักษณะนี้ถึง 5,611 ล้านเหรียญ ถือว่ามาตรการนี้ใช้ได้ผลลดแรงกดดันเงินบาทแข็งค่าจากเงินตราต่างประเทศที่ไหลทะลักเข้ามามาก.

***แฉผ่อนปรนจนมาตรการเหลือแต่ชื่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้จะมีมาตรการนี้ยังอยู่ แต่จากการที่ ธปท.ผ่อนปรนมาเป็นระยะๆ ทำให้ผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวเหลือน้อย เริ่มจากการผ่อนคลาย การสกัดเงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในลักษณะเข้ามาเก็งกำไรจากค่าเงินมากกว่าที่จะเข้ามาลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนแบบทั่วไป ควบคู่กับผ่อนคลายให้นักลงทุนไทยหันไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ถือเป็นการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของไทยด้วย

โดยตั้งแต่วันแรกที่มาตรการนี้มีผลบังคับใช้ ธปท.ได้ยกเลิกมาตรการนี้กับการลงทุนในหลายประเภท โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้น แต่ก็ต้องผูกผ้าแดงด้วยการนำเงินลงทุนนี้เข้าบัญชีพิเศษที่เรียกว่า “บัญชี SNS” ด้วย ถือเป็นการจับตาการลงทุนในหุ้นไปด้วย นอกจากนี้ยังยกเว้นให้กับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การรับซื้อเงินตราต่างประเทศที่มีจำนวนต่ำกว่า 2 หมื่นเหรียญ รวมทั้งขยายยอดคงค้างในบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นฐานอยู่นอกประเทศ (บัญชี NRBA)ไม่เกิน 300 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับเงินบาทในบัญชี SNS อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังคงมาตรการนี้กับการลงทุนตราสารหนี้และหน่วยลงทุนของกองทุนรวม รวมทั้งธุรกรรมที่ไม่มีการค้า การลงทุนในไทยรองรับต่อไป

ต่อมา ธปท.ได้เพิ่มทางเลือกใช้วิธีป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนกับสถาบันการเงินในไทยเท่ากับจำนวนเงินและระยะเวลาการลงทุน (Fully Hedge) แทนการกันสำรองได้ และยังยกเลิกการกันสำรองในส่วนของการชำระหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ตามภาระค้ำประกันให้บุคคลในไทยด้วย และขยายเวลาต้องส่งเงินออกภายใน 3 วัน สำหรับบัญชี NRBA และเงินบาทเข้าบัญชี มูลค่าต่ำกว่า 1 ล้านบาท ไม่ต้องส่งออกภายใน 3 วันทำการ เช่นเดียวกับบัญชี SNT สำหรับชำระเงินบาทค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ ซึ่งมียอดคงค้างในบัญชี ณ สิ้นวันไม่เกิน 100 ล้านบาท

ยังมีการคลายกฎให้นักลงทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้และหน่วยลงทุนของกองทุนรวมทุกประเภท ยกเว้นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ใช้วิธี Fully Hedge แทนการกันสำรอง โดยผู้ที่นำเงินเข้ามาจะต้องป้องกันความเสี่ยงผ่านการทำสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (FX Swap) หรือการซื้อขายข้ามสกุลเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Cross Currency Swap) ที่มีอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปกับธนาคารที่เป็นคัสโตเดียนหรือผู้รับฝากตราสารและให้ต่ออายุสัญญาของธุรกรรมสวอปให้มีอายุสอดคล้องกับระยะเวลาที่ถือเงินลงทุน
ทั้งนี้หากสวอปครบกำหนดจะต้องนำเงินบาทมาชำระในวันครบสัญญาห้ามใช้วิธีหักล้างผ่านตราสารอื่น (Unwind Swap) รวมทั้งต้องแยกเงินลงทุนในตราสารหนี้และหน่วยลงทุนเข้าบัญชี SND โดยมียอดคงค้าง ณ สิ้นวันไม่เกิน 300 ล้านบาท และให้ผู้ถือครองตราสารหนี้สามารถเปลี่ยนเป็นประเภทอื่นได้ แต่ต้องนำเงินลงทุนอยู่ในประเทศไม่น้อยกว่า 3 เดือน

นอกจากนี้ ธปท.ได้ยกเลิกกันสำรองและการทำ Fully Hedge ในส่วนของหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศของภาคธุรกิจ โดยนิติบุคคลไทยนำเงินกู้ยืมในรูปเงินตราต่างประเทศมาขายรับบาทในจำนวนตามสัญญาเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านเหรียญ ซึ่งกำหนดอายุการกู้ตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป และเงินกู้สกุลเงินตราต่างประเทศที่เกิดจากการค้า บริการจากต่างประเทศในอนาคต เพื่อนำมาชำระคืนเงินกู้ดังกล่าวได้เต็มจำนวน (Natural Hedge) ให้ยื่นขออนุญาตธปท.รายกรณีพร้อมเอกสารหลักฐานตามที่กำหนด รวมทั้งยังยกเลิก30%และการทำ Fully Hedge แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนอสังหาริมทรัพย์กองเดิมนำเงินตราต่างประเทศมาขายรับบาท เพื่อชำระค่าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กองเดิมที่ออกขายเพิ่มเติม ซึ่งผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าว ณ วันปิดสมุดทะเบียนก่อนการขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติม

บุคคลในประเทศฝากเงินตราต่างประเทศกับสถาบันการเงินในประเทศได้ในวงเงินที่เพิ่มขึ้น โดยผู้มีแหล่งเงินได้จากต่างประเทศฝากได้ไม่จำกัดจำนวนและไม่ต้องแสดงภาระผูกพัน ส่วนแหล่งเงินจากในประเทศไม่ว่าจะเป็นการนำเงินบาทมาซื้อ แลกเปลี่ยน หรือกู้ยืมกับสถาบันการเงินในประเทศเป็นรูปเงินตราต่างประเทศ ในกรณีไม่มีภาระผูกพันฝากได้ไม่เกิน 1 แสนเหรียญ สำหรับบุคคลธรรมดา และ 3 แสนเหรียญ สำหรับนิติบุคคล กรณีลูกค้ามีภาระผูกพันไม่ต้องกำหนดเวลาให้ฝากได้ไม่เกิน 1 ล้านเหรียญ สำหรับบุคคลธรรมดา และ100 ล้านเหรียญ สำหรับนิติบุคคล ทั้งนี้ หากบุคคลในประเทศต้องการฝากเงินตราต่างประเทศเกินกว่าวงเงินที่กำหนดดังกล่าว จะฝากได้อีกไม่เกินยอดรวมของภาระผูกพันภายใน 12 เดือน

ขณะเดียวกันบุคคลในประเทศลงทุนโดยตรงหรือให้กู้ยืมแก่กิจการในต่างประเทศได้มากขึ้น โดยบริษัทแม่หรือลูกในไทยสามารถลงทุนหรือให้กู้แก่บริษัทในเครือในต่างประเทศได้รวมกันไม่เกิน 100 ล้านเหรียญต่อปี ส่วนบริษัทจดทะเบียนในไทยเช่นกันให้กู้แก่บริษัทในเครือต่างประเทศไม่เกินกรณีละ 100 ล้านเหรียญต่อปี และหากลงทุนโดยตรงหรือให้กู้ยืมแก่กิจการในต่างประเทศได้ไม่จำกัดจำนวน พร้อมทั้งยังเพิ่มวงเงินซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศไม่เกิน 5 ล้านเหรียญต่อปี จากเดิมไม่เกิน 1 ล้านเหรียญ และล่าสุดธปท.ปรับกฎให้บุคคลในประเทศที่มีรายรับเงินตราต่างประเทศต้องนำเงินเข้าประเทศภายใน 360 วัน จากเดิม 120 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น