xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นไพรเวตฟันด์ ลุยต่างประเทศ-พร้อมเลิกกฎ 30%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไพรเวตฟันด์ รอเวลาอีก 2 เดือน ก่อนโลดแล่นลุยต่างประเทศ ผู้จัดการกองทุนประเมิน ธปท.คลอดเกณฑ์พร้อมยกเลิก 30% ควบคู่ เพื่อจัดการให้เงินไหลเข้าไหลออกอย่างเสรี ชี้ ไม่กระทบค่าบาท-ส่งออก แนะหากเงินไหลเข้ามามาก ใช้ประโยชน์ได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะโครงการเมกกะโปรเจกต์ ส่วนมาตรการทางภาษี อยู่ระหว่างการตีความของสรรพากร ย้ำเป็นการใช้ช่องว่างของกฎหมายอย่างถูกต้อง ไม่ใช่การหลีกเสี่ยงภาษี

นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกลุ่มธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) เปิดเผยว่า หลักเกณฑ์การอนุญาตให้กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) สามารถออกไปลงทุนต่างประเทศได้ จะเห็นความชัดเจนภายใน 2 เดือน หลังจากได้คณะรัฐมนตรีเข้ามาบริหารงานแล้ว ซึ่งประกาศดังกล่าวน่าจะออกมาพร้อมกับการยกเลิกมาตรการกันเงินสำรอง 30% ที่ปิดกั้นการลงทุนจากต่างประเทศอยู่ในปัจจุบัน เพราะเชื่อว่ารัฐบาลใหม่คงต้องการให้เงินไหลเข้าและไหลออกอย่างเสรีมากกว่า

ทั้งนี้ หากกองทุนส่วนบุคคลสามารถออกไปลงทุนต่างประเทศได้แล้ว น่าจะช่วยชดเชยธุรกิจกองทุนรวมได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งกองทุนเอฟไอเอฟที่มีในปัจจุบันอาจจะใช้เวลาค่อนข้างนานในการจัดตั้งกองทุนแต่ละกอง แต่หากออกไปลงทุนในรูปของกองทุนส่วนบุคคลนั้น สามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องขอจัดตั้งกองทุน หรือส่งหนังสือชี้ชวน

“หากมาตรการ 30% ยกเลิก เชื่อว่า จะเกิดกองทุนอื่นๆ ตามมาอีกมาก โดยเฉพาะกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเป็นจำนวนมากต้องการเงินลงทุนใหม่ๆ ด้วยการระดมทุนผ่านกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์” นายธีรพันธุ์ กล่าว

ส่วนความกังกลที่หลายฝ่าย มองว่า หากยกเลิกมาตรการดังกล่าวแล้ว จะทำให้เงินไหลเข้ามาในประเทศจนกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้น ส่วนตัวมองว่าขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของภาครัฐ เพราะเงินที่ไหลเข้ามาดังกล่าวสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อการลงทุนในประเทศได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ของภาครัฐ และส่วนที่เหลือก็หาช่องทางเอากลับไปลงทุนต่างประเทศได้

ในขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับการส่งออก ก็เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหา หรือส่งผลต่อการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะแนวโน้มค่าเงินในภูมิภาคนี้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา จากระดับ 40 บาท มาอยู่ที่ 32 บาทในปัจจุบัน แต่การส่งออกของประเทศก็ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องอยู่

สำหรับความคืบหน้าการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกองทุนส่วนบุคคลที่ออกไปลงทุนต่างประเทศ นายธีรพันธุ์ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เข้าหารือกับกรมสรรพากรเพื่ออธิบายให้ทราบว่าการออกไปลงทุนต่างประเทศของกองทุนส่วนบุคคลนั้น ลูกค้าจะมีช่องทางการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดบ้าง เช่น การลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ การลงทุนในอนุพันธ์ ซึ่งในเบื้องต้นทางกรมสรรพากรเข้าใจในหลักการแล้ว แต่ต้องกลับไปพิจารณาดูก่อนว่าประมวลกฏหมายรัษฎากรที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีวิธีปฏิบัติอย่างไร หรือมีช่องทางที่สามารถทำได้หรือไม่

“นักลงทุนที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ ต้องเสียภาษีซ้อนอยู่แล้ว ทั้งภาษีในประเทศที่ออกไปลงทุน และภาษีขากลับในการเอาเงินเข้ามาในประเทศ ขณะเดียวกัน การลงทุนในแต่ละสินทรัพย์เองก็จ่ายภาษีในอัตราที่แตกต่างกัน ซึ่งตรงนี้กำลังคุยกับสรรพากรว่าจะมีช่องทางใดบ้างที่นักลงทุนจะสามารถจ่ายภาษีคั้รงเดียวได้ หรือหากต้องจ่ายภาษีซ้อน แต่จะสามารถขอคืนภาษีได้หรือไม่” นายธีรพันธุ์ กล่าว

ทั้งนี้ สรรพากรขอกลับไปตีความประมวลกฏหมายอีกครั้งก่อน ว่่า สามารถใช้ช่องทางใดในการยกเว้นภาษีได้บ้างโดยไม่ต้องแก้ไขกฏหมาย เพราะระดับเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจที่จะทำได้ ซึ่งหากตีความออกมาแล้วเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน และจำเป็นต้องแก้ไขกฏหมาย ก็อาจจะต้องเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาเพื่อแก้ไขกฎหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม จากการหารือในเบื้องต้นยังสามารถดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมาย ซึ่งทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้องโดยไม่มีการเลี่ยงกฎหมายแต่อย่างใด

สำหรับการลงทุนต่างประเทศของกองทุนส่วนบุคคลนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดสรรวงเงินให้ในเบื้องต้นรายละ 50 ล้านบาท สำหรับนิติบุคคล และรายละ 5 ล้านบาท สำหรับบุคคลธรรมดา โดยในส่วนของบุคคลธรรมดานั้น ธปท.จะจัดสรรวงเงินให้สามารถออกไปลงทุนได้ครั้งละ 5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากต้องการให้นักลงทุนพิจารณาความเสี่ยงก่อน ซึ่งหากนักลงทุนลงทุนไปแล้วได้ประโยชน์กลับมา ก็ค่อยขอวงเงินเพิ่มอีก

ทั้งนี้ จากการรายงานของสมาคมบริษัทจัดการกองทุน (สมาคม บลจ.) เปิดเผยถึงตัวเลขการลงทุนส่วนบุคคลว่า การลงทุนในกองทุนส่วนบุคคลในปี 2550 ที่ผ่านมา ขยายตัวประมาณ 19.10% โดยมีจำนวนเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 175,480.71 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเงินลงทุนใหม่ที่เพิ่มขึ้นถึง 28,152.93 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2549 ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพียง 147,327.78 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น