xs
xsm
sm
md
lg

บาทแข็งค่าสุดในเอเชีย กนง.ลดดอกเบี้ย 27 ก.พ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขุนคลังเลี้ยบยังไม่ตัดสินใจมาตรการ 30% อ้างกำลังเร่งข้อมูลแบงก์ชาติอีกครั้ง สศค.ลุ้นที่ประชุม กนง. 27 ก.พ.นี้ ลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% ขณะที่เงินบาทล่าสุดแข็งค่าแตะ 32.40 ทำสถิติรอบ 10 ปีและแข็งสุดในเอเชียอีกครั้ง จากแรงขายดอลลาร์ของผู้ส่งออกและการเก็งกำไรเลิกมาตรการ 30% นักวิชาการนิด้าแนะรัฐบาลเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศด่วน

จากกรณีที่เงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนออกมาเรียกร้องขอความชัดเจนจากกระทรวงการคลังเกี่ยวกับนโยบายมาตรการกันสำรอง 30% เนื่องจากการขณะนี้ไม่สามารถวางแผนผลิตและลงทุนได้ โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เรียกร้องให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หาข้อสรุปมาตรการ 30% โดยด่วนก่อนค่าเงินบาทจะถึง 30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกขาดทุนและส่งออกปี 2551 จะขยายตัวติดลบ

วานนี้ (20 ก.พ.) นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เร่งให้ ธปท.ส่งข้อมูลเพื่อตัดสินใจยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% มาให้เร็วขึ้น ซึ่งระยะเวลา 3 เดือนที่เป็นข่าวออกมานั้นถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไปในการตัดสินใจยกเลิกมาตรการนี้ ซึ่ง ธปท.เองก็เฝ้าติดตามสถานการณ์ค่าเงินอย่างใกล้ชิดอยู่แล้วจึงไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด

ส่วนการที่ผู้ส่งออกคัดค้านการยกเลิกมาตรการดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจด้วย การจะตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งออกไปนั้นต้องส่งผลกระทบทั้งทางลบและทางบวกกับบุคคลกลุ่มต่างๆ มากน้อยต่างกันไป แต่การตัดสินใจจะยกเลิกหรือไม่ต้องพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านโดยจะเลือกทางออกที่เกิดประโยชน์กับคนส่วนใหญ่มากที่สุด

รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังกล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 27 ก.พ.ที่จะถึงนี้ กนง.คงจะนำข้อมูลทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้

“ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ประกาศลดดอกเบี้ยไป 2-3 สัปดาห์แล้ว คงไม่จำเป็นที่จะต้องเรียกประชุมวาระพิเศษ ผมเองก็ไม่จำเป็นที่จะต้องส่งสัญญาณให้ กนง.ปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.5% เพราะหลายๆ ฝ่ายได้ส่งสัญญาณไปยัง กนง.ตั้งแต่ตอนที่เฟดประกาศลดดอกเบี้ยแล้ว” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังกล่าว

แหล่งข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. ได้ขอเวลากระทรวงการคลัง 3 เดือนในการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% โดยเชื่อว่า การยกเลิกมาตรการนี้ ต้องเกิดขึ้นแน่นอน โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในวันที่ 27 ก.พ.นี้ ธปท.จะมีการประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างน้อย 0.25% เหลือ 3.0% ก่อนที่จะประกาศยกเลิกมาตรการ 30% ต่อไป" แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ธปท.ให้เหตุผลที่ยังไม่เลิกมาตรการ 30%ในทันทีว่า ยังมีทุนจากต่างประเทศค้างอยู่ในระบบประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หากยกเลิกมาตรการกันสำรองทันที เงินดังกล่าวจะไหลเข้ามาเก็งกำไร ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว และอาจแข็งขึ้นกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์ หรือมากกว่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้แบงก์ชาติต้องขาดทุนจากการเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทมากขึ้น กระทรวงการคลังจึงเห็นว่า ธปท.ต้องหาวิธีในการดำเนินการกับเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน

ที่ผ่านมาพบว่า ธปท.เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทมาโดยตลอด ตั้งแต่ระดับที่ 40 บาทต่อดอลลาร์ 39 บาท จนถึง 31 บาท โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ระดับ 35 บาท ขณะที่เงินบาทในปัจจุบันแข็งค่าอยู่ที่ 32 บาท คาดว่า ธปท.น่าจะมีผลขาดทุนทางบัญชีประมาณ 3 บาทต่อดอลลาร์ โดยตัวเลขประมาณการที่ ธปท.ขาดทุนจากการแทรกแซงค่าเงินในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 3 บาทต่อดอลลาร์ จากเงินทุนสำรองที่เพิ่มขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา 3 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นจำนวนที่ขาดทุนทั้งสิ้น 9 หมื่นล้านบาท

บาททำสถิติแข็งสุดในเอเชีย

ล่าสุดวานนี้ ค่าเงินบาททำสถิติแข็งค่าสูงสุดรอบ 10 ปีอีกครั้ง โดยนับตั้งแต่ต้นปีแข็งค่าไปแล้ว 3.8% ถือเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชียนับตั้งแต่ต้นปี นักบริหารเงินจากธนาคารไทยธนาคาร เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดที่ 32.40-32.43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากช่วงเช้าที่อยู่ที่ระดับ 32.52-32.53 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

"วันนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นตลอดทั้งวัน จนมาปรับตัวทำนิวไฮที่ 32.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น เนื่องจากมีการเทขายดอลลาร์ของผู้ส่งออกอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเป็นการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับภูมิภาคที่ค่าเงินแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการเก็งข่าวการประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ที่รัฐบาลออกมาส่งสัญญาณอย่างชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา"

นักบริหารเงินคาดว่าในวันศุกร์นี้ (22 ก.พ.) มองแนวรับแรกที่ 32.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่หากหลุดจาก 32.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มองแนวรับถัดไปที่ 32.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยคืนวันที่ 20 ก.พ. สหรัฐจะประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) และยอดสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือน ม.ค.

นักค้าเงินธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ค่าเงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 32.40-32.41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นไปตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากราคาน้ำมันดิบเมื่อคืนนี้แตะ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล นักลงทุนจึงขายเงินดอลลาร์ เพื่อไปเก็งกำไรน้ำมัน ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังค่าเงินบาท นอกจากนี้ ความกังวลของผู้ส่งออกเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรการ 30% ทำให้มีแรงขายดอลลาร์ออกมามาก โดยเฉพาะวันนี้ (21 ก.พ.) เป็นวันหยุด แรงเทขายทำกำไร จึงมากกว่าวันปกติอื่นๆ ระหว่างวันค่าเงินบาทแข็งค่าสุดที่ระดับ 32.39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินบาทอ่อนค่าสุดที่ระดับ 32.51 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

"กรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันศุกร์นี้มองว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 32.35-32.45 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ แรงขายดอลลาร์ของผู้ส่งออก"

นักวิชาการนิด้าจี้รัฐฟื้นความเชื่อมั่น

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ (GSPA) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเงินการคลัง กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจว่า รัฐบาลต้องเร่งฟื้นฟูและสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้หายไป จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย ดังนั้น รัฐบาลจะต้องสร้างบรรยากาศของการลงทุนให้เกิดขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ที่จะส่งผลต่อการจ้างงานในประเทศและต่อเนื่องไปถึงการบริโภค

นอกจากนี้ เรื่องของการลงทุนในโครงการใหญ่อย่างเมกะโปรเจกต์ไม่ว่าจะเป็นโครงการ รถไฟฟ้ารางคู่ รถไฟชานเมือง หรือรถไฟฟ้าความเร็วสูง และการพัฒนาสนามบิน ซึ่งจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในระยะยาว

"รัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องลงทุนเอง เพราะจะก่อให้เกิดภาระหนี้สิน แต่อาจใช้วิธีการร่วมทุนกับภาคเอกชนโดยมีกฎหมายรองรับอย่างถูกต้อง โดยจะมีพระราชบัญญัติร่วมทุนที่คาดว่าจะถูกนำเสนอต่อสภาฯ ที่สามารถรองรับตรงนี้ได้" นายมนตรีกล่าวและยังกล่าวถึงปัญหาความยากจนซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานของประเทศด้วยว่า การแก้ปัญหาความยากจนต้องใช้เวลาพอสมควร แต่หากรัฐบาลจัดเป็นนโยบายเร่งด่วนได้ก็นับเป็นเรื่องที่ดี เพราะนับตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา แม้เศรษฐกิจของประเทศไทยจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการกระจายรายได้ที่แย่ลง โดยพื้นที่ที่มีรายได้สูงๆ กระจุกอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ หรือในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐบาลควรเน้นการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายให้ประชาชน โดยเน้นการเพิ่มศักยภาพของการสร้างรายได้ พัฒนาและสร้างโอกาสของการเพิ่มรายได้ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SME) เชื่อมโยงไปถึงการส่งเสริมและการพัฒนา SME ให้มีศักยภาพในทุกๆ ด้าน รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีวินัยทางการเงิน ซึ่งนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความยากจน
กำลังโหลดความคิดเห็น