ค่าเงินบาทวันนี้ แตะระดับ 32.52 บาท/ดอลลาร์ ทำสถิติแข็งค่าสูงสุดรอบ 10 ปี คาดส่งออกเทขาย ลดความเสี่ยงวันหยุดพรุ่งนี้ รวมถึงการเก็งกำไรยกเลิกกันสำรอง 30% นักค้าเงินยอมรับ ค่าเงินบาทขณะนี้แข็งที่สุดในเอเชีย โดยนับตั้งแต่ต้นปีแข็งค่าไปแล้ว 3.8%
วันนี้(20 ก.พ.) นักบริหารเงินจากธนาคาร ไทยธนาคาร กล่าวถึงค่าเงินบาทวันนี้ ปิดตลาดที่ 32.40-32.43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากช่วงเช้าที่อยู่ที่ระดับ 32.52-32.53 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยวันนี้เงินบาทแข็งค่าสุดที่ระดับ 32.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่าสุดที่ 32.52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี
"วันนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นตลอดทั้งวัน จนมาปรับตัวทำนิวไฮ ที่ 32.40-32.43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ"
ส่วนสาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น เนื่องจากมีการเทขายดอลลาร์ของผู้ส่งออกอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเป็นการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับภูมิภาคที่ค่าเงินแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการเก็งข่าวการประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ที่รัฐบาลออกมาส่งสัญญาณอย่างชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา
นักค้าเงิน ระบุอีกว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าไปแล้วกว่า 3.8% นับตั้งแต่ต้นปี และถือเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชียในปีนี้
นักบริหารเงิน คาดว่าในวันศุกร์นี้(22 ก.พ.) มองแนวรับแรกที่ 32.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่หากหลุดจาก 32.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มองแนวรับถัดไปที่ 32.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยคืนนี้สหรัฐจะประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) และยอดสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนม.ค.
นักค้าเงินธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า ค่าเงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 32.40-32.41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากที่เปิดตลาดในช่วงเช้า เป็นไปตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากราคาน้ำมันดิบเมื่อคืนนี้แตะ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล นักลงทุนจึงขายเงินดอลลาร์ เพื่อไปเก็งกำไรน้ำมัน ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังค่าเงินบาท
นอกจากนี้ ความกังวลของผู้ส่งออกเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรการ 30% ทำให้มีแรงขายดอลลาร์ออกมามาก โดยเฉพาะพรุ่งนี้ เป็นวันหยุด แรงเทขายทำกำไร จึงมากกว่าวันปกติอื่นๆ ระหว่างวันค่าเงินบาทแข็งค่าสุดที่ระดับ 32.39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินบาทอ่อนค่าสุดที่ระดับ 32.51 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันศุกร์นี้มองว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 32.35-32.45 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ แรงขายดอลลาร์ของผู้ส่งออก