xs
xsm
sm
md
lg

"ไชยา" ยอมแพ้ชง "มิ่ง" ตัดสิน CL"3 ขรก.ซี 10" ไล่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ไชยา” ยอมแพ้ ประกาศเดินหน้าซีแอลยามะเร็ง 4 รายการ ลดกระแสต่อต้านถอดถอนรายชื่อ พร้อมเผยชงข้อมูล “มิ่งขวัญ” ตัดสินใจวันนี้ อภ.เตรียมจัดซื้อยามะเร็งปอดจากอินเดียล็อตแรกสำหรับผู้ป่วย 1,00 รายงบ 15 ล้าน ด้าน “หมอไพจิตร์” แทงกั๊กเปิดทางให้บริษัทยาต้นแบบเข้าร่วมแข่งขันหากยอมหั่นราคาให้ถูก ด้าน เครือข่ายฯ –แพทย์ชนบทไม่สนเดินหน้าถอดถอนต่อ เหตุขาดธรรมาภิบาล เผยมีขรก.ซี 10 ร่วมลงชื่ออีก 3 คน

นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สธ. เปิดเผยถึงกับความคืบหน้าการทำซีแอลยารักษาโรคมะเร็ง 4 ตัวว่า ได้รับข้อมูลเรื่องการรักษาผู้ป่วยมะเร็งและจำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่จำเป็นต้องใช้ยา จากนพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดสธ. ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นมิสเตอร์ซีแอล ได้รวบรวมรายละเอียดทั้งหมดว่า สามารถประหยัดงบประมาณได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท จึงจะเดินหน้าทำซีแอลยารักษาโรคมะเร็งทั้ง 4 ตัวต่อไป

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้นพ.ไพจิตร์นำข้อมูลเสนอนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจในวันนี้ (11 มี.ค.) และพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับการเจรจาต่อรองราคากับบริษัทยา ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์
 
ด้าน นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปคือ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในฐานะกรรมการจัดหายาที่ประกาศซีแอล ต้องดำเนินการจัดหายา ซึ่งอาจเป็นยาต้นแบบหรือยาสามัญก็ได้ ขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการชุดนี้ เนื่องจากการทำซีแอลยังเปิดโอกาสให้บริษัทยาต้นแบบเข้ามาแข่งขันด้วย โดยหากยาต้นแบบลดราคาถูกลงมากก็เป็นสิทธิของคณะกรรมการที่จะตัดสินใจ

ส่วนยาสามัญต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การทดสอบประสิทธิภาพสามัญเทียบกับยาต้นแบบ หรือทดสอบชีวสมมูล คาดว่าในอีก 3 เดือนจะนำเข้ายาซีแอลมะเร็งได้ และการเดินหน้าทำซีแอลครั้งนี้ เป็นการสานต่องานจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งวันนี้ ตนจะทำหนังสือส่งถึง อภ. ให้เดินหน้าซีแอลยามะเร็งต่อไป ดังนั้น วันนี้ ถือว่าซีแอลได้ข้อสรุปแล้วคือ สธ. เดินหน้า แต่กระทรวงพาณิชย์จะทักท้วงอย่างไร เป็นอำนาจของเขาที่จะดำเนินการ

"หมอวิชัย" เผยเป็นข่าวดี

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) อภ. ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ (ซีแอล) กล่าวว่า การประกาศเดินหน้าซีแอลยารักษาโรคมะเร็งต่อถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นสัญญาณที่ดี โดยหลังจากได้รับหนังสือจากนพ.ไพจิตร์อย่างเป็นทางการ ตนจะเร่งรัดให้อภ. ดำเนินการจัดหายารักษาโรคมะเร็งทั้ง 4 รายการทันที

ทั้งนี้ คาดว่าอภ.จะสามารถจัดซื้อยาได้เป็นรายการแรกคือ ยารักษาโรคมะเร็งปอดและเต้านมโดซีแท็กเซลของบริษัท ซาโนฟี อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด เพราะ อภ. ประกาศประกวดราคาและได้บริษัทผู้ผลิตยาแล้วคือ บริษัท ดาเบอร์ จำกัด ประเทศอินเดีย ได้ทะเบียนตำรับยาจากอย. เรียบร้อยแล้ว โดยจะซื้อได้ในราคา 1,245 บาท ต่อขวด และ ขณะที่ยาสิทธิบัตรมีราคา 25,000 บาท โดยหลังจากเซ็นสัญญาจัดซื้อแล้ว 1 เดือนจะได้รับยา

ส่วนอีก 3 รายการคือยารักษาโรคมะเร็งปอดชื่อ เออร์โลทินิบ ของบริษัท โรช (ประเทศไทย) จำกัด และยารักษามะเร็งเต้านม เล็ทโทรโซล ของบริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด จะเร่งรัดให้มีการประกาศประกวดราคาทันที ขณะที่ยารักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งทางเดินอาหารชื่ออิมาทินิบของบริษัท โนวาร์ตีสฯ ไม่ต้องประกวดราคาเพราะเจ้าของสิทธิบัตร ยินดีให้ยาฟรีกับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพทุกคน

ด้าน ภก.วันชัย ศุภจตุรัส รองผู้อำนวยการอภ. กล่าวว่า ขณะนี้อภ.อยู่ระหว่างการร่างสัญญาลงนามจัดซื้อยารักษาโรคมะเร็งปอดและเต้านม โดยจะจัดซื้อล็อตแรก สำหรับผู้ป่วย 1,000 ราย เป็นยาขนาด 80 มิลลิกรัม 6,000 ขวด และขนาด 20 มิลลิกรัมอีก 12,000 ขวด งบประมาณ 15-16 ล้านบาท

แพทย์ชนบทไม่สนไล่ต่อ

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า แม้จะประกาศเดินหน้าทำซีแอลต่อ แต่คงจะไม่มีผลอะไรกับการล่ารายชื่อถอดถอนนายไชยาออกจากตำแหน่ง เพราะปัญหาในการบริหารงาน สธ. ไม่ได้อยู่ที่เรื่องซีแอลเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัญหาเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมอีก ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ตามมาตรา266 และ268 ที่รัฐมนตรีไม่มีสิทธิ์ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับ 9 ลงมา

ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้นายไชยาเร่งดำเนินการเพื่อเป็นการกู้สถานการณ์คือ 1.ออกคำสั่งแต่งตั้งให้นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล กลับมาเป็นเลขาฯ อย.ตามเดิม เพื่อเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า สธ. ตั้งใจจำทำเรื่องซีแอลอย่างจริงจัง 2.ประกาศซีแอลในยารายการอื่น โดยเฉพาะยาจิตเวช ซึ่งมีปัญหาราคาแพงเช่นเดียวกับยามะเร็ง

โต๊ะล่ารายชื่อจุฬาฯ คึกคัก

วันเดียวกัน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัย และสถาบันต่างๆ 12 คน อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.มหิดล ม.ศรีนครินทรวิโรฒ เสวนาในประเด็น “ชีวิต เงินตรา ธรรมาภิบาล” เกี่ยวกับท่าทีของรัฐต่อการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) รวมทั้งมีการตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อถอดถอนรมว.สธ. ที่บริเวณอาคารคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีนักศึกษาสนใจเข้ามาสอบถามรายละเอียดและรวมลงรายชื่อด้วย

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า แม้นายไชยามีคำสั่งให้เดินหน้าทำซีแอลต่อจริง ทางเครือข่ายฯ ก็ยังไม่มั่นใจ เนื่องจากรัฐมนตรี ปลัดสธ.และนพ.ไพจิตร์เพิ่งให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมาว่าจะเพิ่มเพดานการต่อรองราคายาจากเกณฑ์เดิมคือ ราคายาต้นแบบไม่สูงเกิน 5% ของราคายาสามัญ แต่กลับมาให้ข่าวใหม่ว่าจะเดินหน้าซีแอลต่อไป ดังนั้น หากเครือข่ายไม่ได้เห็นหนังสือคำสั่งเป็นทางการไปยัง อภ.ในการจัดให้มีการประมูลแข่งขันยามะเร็ง 3 รายการ พร้อมดำเนินการนำเข้ายาสามัญจากอินเดียก็จะยังไม่เชื่อ

ส่วนเรื่องการถอดถอนคงเดินหน้าต่อไป โดยขณะนี้ได้มีการรวบรวมรายชื่อได้ กว่า 3,000 รายชื่อแล้ว ซึ่งคาดว่าจะครบ 20,000 คนอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ให้การสนับสนุนโดยการนำเอกสารการถอดถอนเพิ่มอีก 10,000 ชุด นักศึกษาแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดีก็อาสาที่จะรวบรวมรายชื่อถอดถอนรัฐมนตรีด้วย รวมทั้งมีข้าราชการระดับซี 10 รวมลงชื่ออีก 3 คน

ด้าน นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องการลงชื่อถอดถอน รมว.สธ.ไม่ใช่เรื่องของแพทย์ชนบทหรือเครือข่ายผู้ป่วยฯ เท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน ไม่ใช่เรื่องของการไม่ชอบหน้า แล้วมาไล่กันแต่เนื่องมาจากการบริหารที่ผิดหลักธรรมาภิบาล โดยเฉพาะกรณีการโยกย้าย นพ.ศิริวัฒน์
กำลังโหลดความคิดเห็น