xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.ชี้มะเร็ง! โรคค่าใช้จ่ายสูง เหตุคร่าชีวิตคนไทยอันดับ 1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งอันดับหนึ่ง สปสช.ระบุจัดเป็นโรคค่าใช้จ่ายสูง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ครอบครัว เพิ่มรายจ่ายด้านสุขภาพ แจงสิทธิ์บัตรทองครอบคลุมสิทธิประโยชน์รักษาโรคมะเร็ง เฉพาะปีที่ผ่านมาได้จ่ายชดเชยให้รพ.ที่รักษาผู้ป่วยมะเร็งไปแล้วกว่า 1.4 พันล้านบาท จากผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับบริการ 2.5 แสนครั้ง เผยจัดโปรแกรมพิเศษสำหรับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแยกต่างหาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงมาก

นายแพทย์วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า คนไทยมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเป็นอันดับหนึ่ง และมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากข้อมูลล่าสุดในปี 2549 ประเทศไทยทุกสิทธิ มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 66,000 ราย โดยในผู้ชายพบมะเร็งปอดมากที่สุด 5,535 ราย รองลงมา คือ โรคมะเร็งตับ ส่วนผู้หญิงพบมะเร็งปากมดลูกมากที่สุด 1,484 ราย รองลงมาคือ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม โรคมะเร็งจัดเป็นโรคค่าใช้จ่ายสูงและโรคเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยในปัจจุบัน ซึ่งก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิต เกิดความพิการจากการเจ็บป่วย ส่งผลไปถึงเพิ่มรายจ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือน สังคม ตลอดจนเป็นภาระค่าใช้จ่ายโดยรวมของประเทศ

รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวต่อว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองครอบคลุมสิทธิประโยชน์ถึงการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิดด้วย โดยแยกงบประมาณจากงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่ง สปสช.ได้จ่ายชดเชยกรณีผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดเป็นกรณีค่าใช้จ่ายสูง มาตั้งแต่เริมดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยผู้ป่วยมะเร็งที่รับบริการแบบผู้ป่วยนอก จะได้รับการชดเชยค่ายาเคมีบำบัดไม่เกิน 4,000 บาท/ครั้ง และผู้ป่วยมะเร็งที่รับการรักษาแบบผู้ป่วยในจะได้รับการจ่ายชดเชยทั้งค่ายาเคมีบำบัดและค่าใช้จ่ายอื่นทั้งหมดในการรักษาครั้งนั้น ตามระบบการจัดการกลุ่มวินิจโรคร่วม (DRG) เฉลี่ยประมาณ 16,200 บาท/ราย โดยในปีงบประมาณ 2550 มีผู้ป่วยมะเร็งเข้ารับบริการ 2.5 แสนครั้ง แบ่งเป็นผู้ป่วยนอก 1.8 แสนครั้ง และผู้ป่วยใน 7 หมื่นครั้ง ซึ่ง สปสช.จ่ายชดเชยกรณีผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกชนิดที่ได้รับยาเคมีบำบัดกว่า 1.4 พันล้านบาท

นายแพทย์วีระวัฒน์ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ในส่วนของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก และกระบวนการรักษาก็ซับซ้อน สปสช.ได้จัดโปรแกรมพิเศษในการดูแลเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงและได้รับบริการที่มีคุณภาพ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2549 เป็นต้นมา โดยต้องเป็นผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง และเป็นผู้ป่วยรายใหม่ สามารถลงทะเบียนเข้าโครงการได้ที่หน่วยบริการในโครงการ 33 แห่ง แห่งใดก็ได้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้ป่วย และจะต้องรับการรักษาตามแผนกับหน่วยบริการที่ลงทะเบียนไว้ ที่ผ่านมาในปี 2550 มีผู้ป่วยเข้าโครงการ 1,831 ราย และในปี 2551 ตั้งเป้าผู้ป่วยเข้าโครงการ 1,305 ราย โดยในปี 2550 ได้จ่ายชดเชยให้หน่วยบริการเฉพาะโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองไปแล้ว 263 ล้านบาท และในปี 2551 ตั้งงบประมาณดำเนินการจำนวน 317ล้านบาท

ทั้งนี้ รพ.ที่เข้าร่วมโครงการ 33 แห่ง มีดังนี้ 1.รพ.เลิดสิน 2.รพ.จุฬาลงกรณ์ 3.รพ.นพรัตน์ราชธานี 4.รพ.พระมงกุฎเกล้า 5.รพ.ภูมิพลอดุลยเดช 6.รพ.ราชวิถี 7.รพ.รามาธิบดี 8.รพ.วชิระ 9.รพ.ศิริราช 10.รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า 11.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี 12.รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี 13.รพ.ขอนแก่น 14.รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น 15.รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี

16.รพ.มหาราชนครราชสีมา 17.รพ.สุรินทร์ 18.รพ.อุดรธานี 19.รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ 20.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ 21.รพ.ลำปาง 22 รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก 23.รพ.มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก 24.รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ 25.ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ จ.นครนายก 26.รพ.สระบุรี 27.รพ.ราชบุรี 28.รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี 29.รพ.ชลบุรี 30.รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จ.ชลบุรี 31.รพ.ระยอง 32.รพ.สุราษฎร์ธานี 33.รพ.สงขลานครินทร์ จ.สงขลา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 ได้ตลอดเวลา

กำลังโหลดความคิดเห็น