xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ป่วยบัตรทองเฮ “โนวาร์ตีส” เสนอให้ยาต้านมะเร็งฟรี แลกไม่ต้องทำ CL

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ป่วยบัตรทองเฮ “โนวาร์ตีส” ยื่น “หมอมงคล” บริจาคยาอิมาทินิบ รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคมะเร็งทางเดินอาหารฟรี โดยกระทรวงสาธารณสุขไม่ต้องทำซีแอล

วันนี้ (31 ม.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลสำเร็จในการเจรจากับบริษัท โนวาร์ตีส โดยบริษัทเสนอที่จะบริจาคยา “อิมาทินิบ” ให้แก่ผู้ป่วยบัตรทองที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคมะเร็งทางเดินอาหารฟรี โดยกระทรวงสาธารณสุขไม่ต้องทำซีแอล

นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้บริหารของบริษัท โนวาร์ตีส ทั้งในประเทศไทยและในระดับภูมิภาค ได้ทำหนังสือมาถึงกระทรวงสาธารณสุขอย่างเป็นทางการว่ายินดีที่จะสนับสนุนยาอิมาทินิบ (Imatinib) ซึ่งเป็นยาที่ได้ผลดีในการต่อต้านโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคมะเร็งทางเดินอาหาร ให้แก่ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) โดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งเป็นการดำเนินการตามโครงการเข้าถึงยา (GLIVEC INTERNATIONAL PATIENT ASSISTANCE PROGRAM-GIPAP) ของบริษัท

ทั้งนี้ โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ป่วยต้องมีรายได้ครัวเรือนไม่เกิน 1.7 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเท่ากับว่าผู้ป่วยบัตรทองทั้งหมดจะได้รับยานี้ฟรี คนที่มีเงินมากกว่านี้เขาก็จ่ายค่ายาปีละกว่า 1.3 ล้านบาทได้

“เมื่อมีข้อเสนอที่ดีเช่นนี้ เราก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องทำซีแอล (CL : Compulsory Licensing) กับยาตัวนี้ ยกเว้นว่าเมื่อเขาเลิกโครงการหรือถ้าการดำเนินการตามโครงการนี้ไม่ได้ผล ก็ค่อยดำเนินการทำซีแอล ผู้บริหารยังบอกด้วยว่า ถ้าทำไปแล้วยังมีคนที่เดือดร้อนไม่ได้ยานี้และจ่ายไม่ไหว บริษัทในเมืองไทยก็ยินดีรับภาระให้ ผมขอขอบคุณและชื่นชมในความใจกว้าง และข้อเสนอที่สร้างสรรค์ของบริษัทโนวาร์ตีส คนไทยทุกคนควรจะร่วมชื่นชมกับข้อเสนอนี้ และขอขอบคุณเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล และคณะ ที่ใช้ความเพียรพยายาม ความอดทนและความสามารถในการเจรจา จนบริษัทเข้าใจในความจำเป็นและตัดสินใจยื่นข้อเสนอดังกล่าว อยากให้บริษัทยาอื่นๆ ทำแบบนี้ด้วยจะได้ไม่ต้องมาลำบากในการทำซีแอล” นพ.มงคลกล่าว

ด้านนพ.วิชัย โชควิวัฒน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี แสดงว่าทางบริษัทยาได้กลับไปสู่หลักการดั้งเดิมของการทำธุรกิจยา ซึ่งเป็นสินค้าคุณธรรม จึงเข้าใจ และเห็นใจคนที่ไม่มีเงินพอจะจ่ายค่ายาที่มีสิทธิบัตร ขณะนี้บริษัทขายยานี้ได้ราวปีละ 150 ล้านบาทในประเทศไทย ก็คือขายให้คนไข้ได้แค่ร้อยกว่าคน ให้ยาฟรีไปก็ส่วนหนึ่ง แต่ยังมีคนที่ไม่ได้ยาฟรีและจ่ายไม่ไหวอีกมาก ทำให้เราต้องเสนอท่านรัฐมนตรีพิจารณาทำซีแอล เพื่อให้ได้ยาทุกคน บริษัทก็คงคิดแล้วว่า ยังไงๆ คนเหล่านี้ก็ไม่สามารถจ่ายค่ายาอยู่แล้ว แทนที่จะรอให้กระทรวงสาธารณสุขตัดสินใจทำซีแอล ซึ่งก็ทำให้ลำบากใจทั้งสองฝ่าย ก็ให้ยาฟรีเสียเลย และก็ยังคงขายยาให้คนมีสตางค์ปีละ 150 ล้านบาทได้เหมือนเดิม แบบนี้เรียกว่าวิน-วิน-วิน (win-win-win) คือคนไทยก็ได้ยาทุกคน บริษัทก็ขายยาได้เท่าเดิมไม่ลดลง และก็ไม่มีใครต้องมาเหนื่อยกับการทำซีแอล

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะประธานคณะกรรมการเจรจาราคายาจำเป็นที่มีสิทธิบัตร กล่าวว่า ต้องใช้เวลาและความพยายามในการทำความเข้าใจกับทางบริษัทพอสมควร ทีแรกเราได้ข้อมูลว่าเขาจะให้ยาฟรี เฉพาะกับผู้ป่วยบัตรทอง ที่มีรายได้ครัวเรือนไม่เกินสามเท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวประชากรไทย ซึ่งตัวเลขอยู่ที่รายได้ครัวเรือนไม่เกินปีละประมาณสามแสนบาทเศษ เราก็ให้ทีมงานวิจัยของนายแพทย์วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร คำนวณดู พบว่ามีคนไทยราวสิบล้านคนที่จะไม่มีสิทธิได้รับยานี้ และส่วนใหญ่ไม่สามารถจ่ายเงินได้ ดังเช่นกรณีหนุ่มวิศวกรที่เป็นข่าวไปแล้ว ท่านรัฐมนตรีไม่สามารถรับข้อเสนอนี้ได้ และกำลังพิจารณาจะทำซีแอล เราก็ขอโอกาสสุดท้ายอีกครั้งในการเจรจา และพยายามพูดคุยกับทางผู้บริหารของบริษัท จนสามารถโน้มน้าวให้เขาเข้าใจและให้ข้อเสนอใหม่นี้ ข้อเสนอเขาไม่มีการจำกัดเวลาด้วย ซึ่งเป็นที่น่าพอใจมาก ต่อไป อย.ก็จะทำงานร่วมกับ สปสช.เพื่อจัดระบบให้คนไข้บัตรทองที่จำเป็นต้องกินยานี้ได้รับยาฟรีทุกคน

“อิมาทินิบ” หรือชื่อการค้าว่า กลีเวค เป็นยาที่มีบริษัท โนวาร์ตีส เป็นเจ้าของสิทธิบัตร และมีราคาขนาด 400 มก. เม็ดละ 3,600 บาท ต้องกินวันละเม็ดทุกวัน บางรายอาจต้องกินถึง 600-800 มก. คิดเป็นค่ายาอย่างน้อยปีละ 1.3 ล้านบาท ในขณะที่ยาชื่อสามัญที่ผลิตจากประเทศอินเดีย เช่น บริษัท ดาเบอร์ มีราคาเพียงเม็ดละ 15 บาท หรือปีละประมาณ 5 หมื่นบาทเศษ ต่างกันถึงกว่า 20 เท่า จึงเป็นเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขที่จะพิจารณาทำซีแอล ตามข้อเสนอจาก นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเพิ่งจะล่วงลับไป ยานี้ใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังที่เรียกว่า โครนิค มายอิลอยด์ ลิวคีเมีย (Chronic Myeloid Leukemia) และโรคมะเร็งทางเดินอาหารที่เรียกว่า แกสโตร อินเทสทินอล สโตรมัล ทูเมอร์ (Gastro-Intestinal Stromal Tumor) หรือ โรคจีไอเอสที (GIST) บริษัท โนวาร์ตีส ได้จัดยานี้บริจาคให้แก่ผู้ป่วยที่มีรายได้ไม่มากพอที่จะจ่ายค่ายาได้ ภายใต้โครงการเข้าถึงยาอิมาทินิบที่เรียกย่อว่าโครงการ จีแพป (GIPAP) ซึ่งบริหารโดยมูลนิธิแมกซ์ (Max Foundation)

ก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เคยทำซีแอลกับยาต้านไวรัสเอดส์ 2 ตัว คือ ยาเอฟาวิเรนซ์ และ ยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ และยาละลายลิ่มเลือด 1 ตัว คือ ยาโคลพิโดเกรล ซึ่งมีผลทำให้ผู้ป่วยเอดส์ได้รับยาเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว และสามารถประหยัดงบประมาณ จนนำไปใช้ในการเริ่มโครงการบริการทดแทนไตให้แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และโครงการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงสูงได้ในปีนี้

การตัดสินใจของ บริษัท โนวาร์ตีส ครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทยาอื่นๆ ในการพิจารณาปรับนโยบายการตลาดของยาที่มีสิทธิบัตร โดยมุ่งจำหน่ายในราคาสูงแก่คนที่มีเงินหรือมีระบบประกันสุขภาพที่จ่ายเงินให้ได้ เช่น ระบบสวัสดิการข้าราชการ และให้ฟรีหรือจำหน่ายในราคาต่ำใกล้เคียงกับยาชื่อสามัญ ให้แก่ผู้ที่มีรายได้ต่ำหรือปานกลาง ถ้ามีการดำเนินการเช่นนี้ในวงกว้างก็ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่สำคัญมากในระดับโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น