xs
xsm
sm
md
lg

กาชาดนำร่องตั้งธนาคารสเต็มเซลล์ เปิดรับ 1 ก.พ.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภากาชาดไทย นำร่องตั้งธนาคารสเต็มเซลล์ เปิดรับสมัครผู้สนใจ 1 ก.พ.นี้ ตั้งเป้า 5 ปี ได้อาสาสมัคร 1 แสนคน เดินหน้างานด้านสเต็มเซลล์อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมให้บริการแก่ผู้ป่วยโรคทางโลหิตอย่างครบวงจร

วันนี้ (28 ม.ค.) พญ.สร้อยสอางค์ พิกุลสด ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยถึงการจัดตั้งธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตแห่งชาติ (Thai national Stem cell Donor Registry) ว่า ตั้งแต่ปี 2545 แพทยสภาได้มอบหมายให้สภากาชาดทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรับลงทะเบียนอาสาสมัครบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือสเต็มเซลล์ จากผู้บริจาคโลหิต และตรวจหาชนิดเนื้อเยื่อ (HLA typing) ของผู้บริจาคและผู้ป่วยโรคทางโลหิตที่รอรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย โรคไขกระดูกฝ่อชนิดรุนแรง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีสถิติผู้ลงทะเบียนขอรับบริจาคกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2545-2550 มีจำนวนถึง 20,000 ราย โดยมีผู้ป่วยที่ขึ้นทะเบียนรอรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์กว่า 1,000 ราย และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่มีผู้บริจาคสเต็มเซลล์ให้ผู้ป่วยน้อยมาก ไม่ถึง 50 ราย

พญ.สร้อยสอางค์ กล่าวต่อว่า โครงการจัดตั้งธนาคารเซลล์ต้นกำเนิด จึงจะเปิดให้ประชาชนที่สนใจลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ นี้ เป็นต้นไป ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถ.อังรีดูนังต์ โดยตั้งเป้าภายใน 5 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2551-2555 ต้องได้อาสาสมัครจำนวน 1 แสนคน ซึ่งโครงการนี้เป็นการเพิ่มโอกาสการรักษาให้แก่ผู้ป่วย และพัฒนาเป็นสู่การเป็นศูนย์ดำเนินงานด้านสเต็มเซลล์อย่างเต็มรูปแบบ ตลอดจนให้บริการแก่ผู้ป่วยโรคทางโลหิตอย่างครบวงจร

ทั้งนี้ อาสาสมัครต้องมีคุณสมบัติทั่วไป คือ มีอายุระหว่าง 18-55 ปี น้ำหนัก 48 กิโลกรัมขึ้นไป มีสุขภาพรางกายสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว หรือโรคติดต่อใดๆ ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง โดยจะมีการเก็บตัวอย่างโลหิตจากอาสาสมัครในปริมาณ 18 มิลลิลิตร (ซีซี) เพื่อนำไปตรวจหาความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อระหว่างผู้บริจาคของผู้ป่วย ซึ่งหากผลวิเคราะห์เนื้อเยื่อเข้ากันได้ ก็จะทำการติดต่อให้อาสาสมัครมาตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง หากผลออกมาเนื้อเยื่อเข้ากันได้ทั้งหมด ก็จะเข้าสู่กระบวนการบริจาคสเต็มเซลล์

พญ.สร้อยสอางค์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการบริจาคสเต็มเซลล์ มี 2 วิธี คือ 1.บริจาคผ่านทางกระแสเลือด เนื่องจากในเลือดมีสเต็มเซลล์อยู่น้อยจึงต้องฉีดยากระตุ้น จำนวน 4 เข็ม เข็มหนึ่งใช้เวลา 3 ชั่วโมง โดยเจาะเลือดต่อสายเข้าเครื่องคัดแยกสเต็มเซลล์เมื่อคัดแยกเสร็จก็นำเลือดกลับเข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากใช้เวลานาน แพทย์จึงให้อาสาสมัครมาฉีดยากระตุ้นที่สภากาชาด วันละ 1 เข็ม เป็นเวลา 3-4 วัน จึงเสร็จกระบวนการ 2.บริจาคไขกระดูก เป็นวิธีที่ใช้เวลาน้อยมาก คือ 2 ชั่วโมงเท่านั้น โดยแพทย์จะวางยาสลบอาสาสมัคร เพื่อเจาะไขกระดูกผ่านทางสะโพกด้านหลัง ซึ่งวิธีนี้อาสาสมัครจะต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 1 คืน ในประเทศไทยมีโรงพยาบาลเพียง 4 แห่ง ที่ให้บริการด้านนี้ คือ โรงพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลศิริราช
กำลังโหลดความคิดเห็น