xs
xsm
sm
md
lg

คิงส์คอลเลจ-นิวคาสเซิลประเดิมใบอนุญาตสร้าง "ไซบริด" ตัวอ่อนผสมคน-สัตว์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยอังกฤษ 2 ทีม ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลและสามารถสร้างตัวอ่อนลูกผสมระหว่างคนกับสัตว์เพื่อศึกษาวิจัยได้แล้วเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2551
เอเยนซี/ไซน์เดลี่ - นักวิจัยอังกฤษเตรียมเดินหน้าสร้างตัวอ่อนลูกผสม "ไซบริด" เป็นฐานการวิจัยสเต็มเซลล์ตัวอ่อน หลังรัฐบาลอังกฤษเปิดไฟเขียวให้ทำได้ 2 สถาบันดัง คิงส์คอลเลจ-นิวคาสเซิล ยื่นอขอนุญาตและได้นำร่องวิจัยก่อนใครเพื่อน

2 ทีมวิจัยจาก 2 สถาบันทั้งคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน (Kings College London) และมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (Newcastle University) ประเทศอังกฤษ ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานการเจริญพันธุ์มนุษย์และตัวอ่อนวิทยา (Human Fertilization and Embryology Authority: HFEA) ให้สามารถทำวิจัยสร้างตัวอ่อนลูกผสม (hybrid embryo) ระหว่างคนและสัตว์ได้เพื่องานวิจัยด้านเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนเมื่อวันที่ 17 ม.ค.51 โดยเบื้องต้นให้เวลาทำวิจัย 1 ปี

สืบเนื่องจากที่รัฐบาลอังกฤษประกาศอนุญาตให้นักวิจัยดำเนินการสร้างตัวอ่อนลูกผสมระหว่างคนหรือสัตว์เพื่องานวิจัยได้เมื่อเดือน ก.ย.50 โดยอยู่ภายใต้กฏระเบียบของสำนักงานการเจริญพันธุ์ฯ ซึ่งนักวิจัยที่ประสงค์จะดำเนินการดังกล่าวจะต้องขออนุญาตทำวิจัย และรัฐบาลจะพิจารณาอนุมัติให้เป็นกรณีไปนั้น ล่าสุดก็ได้ให้ใบอนุญาตกับ 2 ทีม ประเดิมงานวิจัยไปแล้ว

รายแรกคือทีมของ ดร.ไลเล อาร์มสตรอง (Dr Lyle Armstrong) จากสถาบันเซลล์ต้นกำเนิดเนสไซ (NESCI : North East England Stem Cell Institute) มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล และทีมวิจัยของห้องปฏิบัติการชีววิทยาเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell Biology Laboratory, Wolfson Center for Age-Related Diseases) คิงส์ คอลเลจ ลอนดอน

"การได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานการเจริญพันธุ์ฯ ถือเป็นข่าวดียิ่ง พวกเราจะเริ่มดำเนินการทันทีที่สามารถทำได้ และจะวิจัยสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนลูกผสมคนกับสัตว์โดยใช้ไข่ของวัว ขณะเดียวกันก็จะศึกษาการเปลี่ยนเซลล์ผิวหนังให้เป็นสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนไปพร้อมกันด้วย เพื่อหาวิธีที่ดีกว่าในการสร้างสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนของมนุษย์" ดร.อาร์มสตรองเปิดเผย

เหตุที่เขาเลือกใช้เซลล์ไข่ของวัวในการวิจัย เนื่องจากเซลล์ไข่ของวัวมีศักยภาพใกล้เคียงกับเซลล์ไข่ของมนุษย์และหาได้ง่ายกว่า โดยก่อนหน้านี้ทีมของ ดร.อาร์มสตรองได้ทดลองสร้างตัวอ่อนลูกผสมระหว่างสัตว์กับสัตว์มาบ้างแล้วโดยใช้เซลล์ไข่ของวัว

อย่างไรก็ดี เขายังบอกอีกว่าจะใช้เซลล์ไข่ของวัวก็ต่อเมื่อเป็นงานวิจัยเท่านั้น จะไม่ใช้หากเป็นกรณีที่ต้องรักษาผู้ป่วยอย่างแน่นอน และการรักษาที่ผ่านมานั้นก็ใช้เซลล์ไข่ของมนุษย์เสมอมา แต่ที่ต้องใช้ในงานวิจัยก็เพื่อศึกษากระบวนการต่างๆ เท่านั้น ซึ่งมีข้อจำกัดน้อยกว่าการใช้เซลล์ไข่ของมนุษย์

ทั้งนี้ ทีมวิจัยที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานการเจริญพันธุ์ฯ จะมีระยะเวลา 1 ปี ในการทำวิจัยและสร้างตัวอ่อนลูกผสม ซึ่งจะทำโดยการฉีดนิวเคลียสที่ได้จากเซลล์ร่างกายของคนเข้าไปในเซลล์ไข่ของสัตว์ที่ถูกนำนิวเคลียสออกไปแล้ว และเลี้ยงให้เจริญเป็นตัวอ่อน ซึ่งตัวอ่อนที่ได้จะมีพันธุกรรมของมนุษย์อยู่ 99.9% อีก 0.1% เป็นสารพันธุกรรมที่ได้จากเซลล์ไข่ เรียกตัวอ่อนที่เกิดจากวิธีการนี้ว่า "ไซบริด" (cybrid)

นักวิจัยจะสกัดเอาเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนที่มีอายุได้ 6 วัน ซึ่งอยู่ในระยะบลาสโตซิส ไปศึกษาศักยภาพต่างๆ ของเสต็มเซลล์ และต้องทำลายตัวอ่อนทิ้งทันทีเมื่อมีอายุครบ 14 วัน ซึ่งการดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับตัวอ่อนลูกผสมนี้จะต้องเป็นไปภายใต้กฏระเบียบที่เคร่งครัดของสำนักงานการเจริญพันธุ์ฯ ตลอดทุกขั้นตอนการวิจัย.
สเต็มเซลล์จากตัวอ่อนมีศักยภาพสูงในการพัฒนาไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ แต่การสร้างตัวอ่อนโดยใช้เซลล์ไข่ของมนุษย์มีข้อจำกัดและถูกต่อต้านอย่างมาก นักวิจัยจึงหันไปพึ่งพาเซลล์ไข่ของสัตว์แทน
การสร้างตัวอ่อนลูกผสมระหว่างคนและสัตว์ทำได้โดยนำนิวเคลียสจากเซลล์ร่างกายของคนฉีดเข้าไปแทนที่นิวเคลียสในเซลล์ไข่ของสัตว์
กำลังโหลดความคิดเห็น