xs
xsm
sm
md
lg

รามาฯ เตรียมตั้ง “ธนาคารสายสะดือ” ของรัฐแห่งแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รามาฯ เตรียมตั้ง “ธนาคารสายสะดือ” ของรัฐแห่งแรก ใช้สเต็มเซลล์จากรกรักษาเท่าเทียม ทั้งคนรวย คนจน พร้อมเตรียมเปิดบรรยายคามสำเร็จการใช้สเต็มเซลล์รักษามะเร็งเต้านม ในงานประชุมวิชาการทางการแพทย์เฉลิมพระเกียรติ ปลายเดือนม.ค.นี้ กระตุ้นคนไทยบริจาคไขกระดูก ระบุไม่น่ากลัวอย่างที่คิด


นพ.ธัช อธิวิทวัส แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัจจุบันมีการเก็บรกของเด็กที่เกิดใหม่ไว้ในธนาคารสายสะดือซึ่งส่วนใหญ่เป็นของเอกชน เพื่อใช้เลือดสายสะดือ หรือ สเต็มเซลล์จากรกในการรักษา อย่างไรก็ตามการจัดเก็บยังมีค่าใช้จ่ายสูง เป็นค่าธรรมเนียมในการเก็บแบบรายปี แต่การนำมาใช้จริงๆ มีไม่ถึง 1 % ซึ่ง รพ.รามาธิบดี กำลังเตรียมการที่จะจัดตั้งธนาคารสายสะดือที่เป็นของรัฐ ที่คนรวย คนจนมีสิทธิใช้ได้เท่ากัน ไม่ใช่เฉพาะคนรวยเท่านั้นที่จะมีสิทธิเก็บสายสะดือ

“ปกติรพ.รัฐ ทำคลอดวันหนึ่งๆ นับร้อยรายส่วนใหญ่ไม่ได้มีการเก็บรก เพราะไม่มีที่เก็บ แต่ถ้ามีธนาคารในการจัดเก็บที่เป็นระบบโอกาสของการรักษาโรคต่างๆ ที่สามารถใช้เลือดจากสายสะดือ หรือสเต็มเซลล์ในการรักษาได้ก็จะดีขึ้น ซึ่งความรู้ทั้งหมดนี้ จะมีการนำเสนอในการประชุมวิชาการทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระหว่างวันที่ 30 ม.ค.-1 ก.พ. 2551 ที่ ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซนเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์”

นพ.ธัช กล่าวอีกว่า สำหรับการประชุมวิชาการทางการแพทย์เฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งนี้ จะมีการบรรยายถึงความสำเร็จของการรักษามะเร็งแนวใหม่ด้วยยารักษามะเร็งขั้นสูงร่วมกับการใช้สเต็มเซลล์ รวมถึงความก้าวหน้าในการปลูกถ่ายไขกระดูกให้กับผู้ป่วยโรคเลือด หรือมะเร็งในเม็ดเลือด โดยศ.นพ.วรวิทย์ รัตนธราธร หัวหน้าหน่วยปลูกถ่ายไขกระดูก ของมหาวิทยาลัยเวย์น สเตท รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา จะเดินทางมาบรรยายความก้าวหน้านี้ให้กับแพทย์ด้านมะเร็งวิทยาของไทยฟัง

“วิธีการรักษาโดยหลักการ คือ จะมีการใช้ยาร่วมกับการใช้สเต็มเซลล์ ที่ส่วนใหญ่มักจะใช้กับโรคเฉพาะทางโลหิตวิทยา และมะเร็งทางโลหิตวิทยา รวมถึงมะเร็งชนิดอื่นๆ ด้วย โดยใช้กระบวนการดังกล่าว เข้าไปทำลายเซลล์มะเร็ง ที่ไม่มีผลต่อเซลล์ปกติของร่างกาย ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของการรักษามะเร็งอีกขึ้นหนึ่ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม ผลการวิจัยครั้งนี้ ถือว่าได้ผลดีมาก” นพ.ธัช กล่าว

นพ.ธัช กล่าวถึงการบริจาคไขกระดูกด้วยว่า คนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจว่า หากจะบริจาคไขกระดูกจะต้องเจาะไขสันหลังเพื่อนำไขกระดูกออกมา ทำให้ผู้บริจาคเองได้รับความเจ็บปวดนั้น จริงๆ แล้วการบริจาคไขกระดูก ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ผู้บริจาคเพียงแค่ไปเจาะเลือดเพื่อดู HLA แล้วขึ้นทะเบียนไว้ หากมีผู้ป่วยที่ HLA ตรงกัน ทางสภากาชาดก็จะติดต่อไปยังผู้บริจาค เพื่อขอให้มาเจาะเลือด เพื่อแยกเอาไขกระดูก และเสต็มเซลล์ออกมา ไม่จำเป็นต้องเจาะไขสันหลัง ซึ่งถ้าคนมีความรู้มากขึ้น การยื่นความจำนงเพื่อบริจาคไขกระดูกอาจจะมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีผู้ที่ขึ้นทะเบียนไว้เพียงแค่ 40,000 กว่าราย เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น