xs
xsm
sm
md
lg

"หมอมงคล" ยันไทยทำซีแอลแน่ ตัดสินใจแล้ว ระบุไม่ทำไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"หมอมงคล" ยันไทยทำซีแอลแน่ ตัดสินใจไว้ตั้งแต่ 4 ม.ค.แต่ยังติดเคลียร์ปมบางอย่างไม่เสร็จ ขอทำซีแอลเงียบๆ ระบุไม่ทำไม่ได้ ด้านหมอวิชัยเร่งทำหนังสือสรุปความเห็นกก.เสนอ 25 ม.ค.นี้ เตรียมส่งหนังสือถึงกรมการค้าภายใน บริษทัยา และอภ.ในฐานะที่ต้องรับทราบ

นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้ตัดสินใจลงนามในประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร(ซีแอล)ไปตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.แล้ว เพียงแต่ในระหว่างนี้ ได้ให้เวลาในการสะสางปมอะไรบางอย่าง ซึ่งก็เคลียร์ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ซึ่งต้องมาปรับในส่วนที่ลงนามไป แต่ทุกอย่างได้ตัดสินใจไปตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.แล้ว ซึ่งภายในสัปดาห์หน้าคงมีความชัดเจนมากขึ้น แต่สธ.คงไม่มีการแถลงข่าวแต่อย่างใด เนื่องจากไม่ต้องการให้เป็นข่าวมากมาย เพราะจะเสียหายต่อระบบการทำงาน อย่างประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่ทำซีแอลแต่ก็เงียบไม่มีข่าว ที่ผ่านมาประเทศไทยโปร่งใสเกินไป ให้ข่าวแรงเกินไป จึงกระเทือนกันทั่วโลก

“ถ้าไม่จำเป็นเราก็ไม่ทำ แต่นี่จนสุดท้ายแล้ว ไม่ไหวแล้ว จะยืดเวลาจนไม่มีเวลานั้นก็ไม่สามารถรอได้อีกต่อไป จึงจำเป็นต้องทำซีแอล เราถือว่าทำดีที่สุดแล้ว แต่ส่วนจะทำกับยารักษาโรคมะเร็งกี่รายการ อย่างไรบ้างนั้น สัปดาห์หน้าคงทราบว่าเป็นอย่างไรตามขั้นตอนกระบวนการทำซีแอล”นพ.มงคล กล่าว

นพ.มงคล กล่าวยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการทำซีแอลเพื่อทิ้งทวน ก่อนที่รัฐบาลชุดใหม่จะมาดำเนินการ เพราะเรื่องดังกล่าวได้ดำเนินการมาอย่างยาวนาน ทั้งเจรจา ทั้งต่อรองมานานหลายเดือน เดินทางไปเยี่ยมชมคุณภาพมาตรฐานโรงงานยาสามัญที่ประเทศอินเดียเป็น 10 แห่ง เพื่อให้ยาที่ได้มาทดแทนนั้นเป็นยาที่มีคุณภาพ อีกทั้งการตัดสินใจก็ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.แล้วด้วย ไม่ใช่ในช่วงปลายเดือนเช่นนี้

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และในฐานะประธานคณะกรรมการประธานคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ กล่าวว่า ข้อสรุปของคณะกรรมการจะเร่งทำหนังสือถึงนพ.มงคล และตามขั้นตอนจะส่งให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ องค์การเภสัชกรรม และ บริษัทยาผู้ทรงสิทธิบัตรยาชนิดนั้นทราบภายในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ยารักษาโรคมะเร็งทั้ง 4 รายการมีความแตกต่างกัน ซึ่งคณะกรรมการฯต่างมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดใดๆได้ เนื่องจากต้องเสนอให้นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ตัดสินใจ เพื่อความเป็นอิสระ และไม่เป็นการไปกดดันท่าน เพราหากมติที่ประชุมของคณะกรรมการฯกับการตัดสินใจของนพ.มงคลไม่ตรงกันอาจเกิดข้อสงสัยจากสาธารณชนได้ ซึ่งตนเองจะเร่งทำหนังสือเสนอ คาดว่านพ.มงคลจะตัดสินใจภายในวันที่ 25 ม.ค. และกำลังหารือว่าจะมีการแถลงข่าวหรือไม่

“ช่วงกลางเดือนธ.ค.ได้เสนอให้นพ.มงคลทำซีแอลกับยารักษาโรคมะเร็งทั้ง 4 รายการ แต่หลังจากนั้น บริษัทต่างๆได้ส่งเสนอลดราคาอย่างน่าสนใจมาให้อย่างมาก ซึ่งถือว่าข้อมูลต่างไปจากเดิมเยอะ ราคายาทั้งต้นตำรับและยาสามัญจากประเทศอินเดียก็แข่งขันราคากัน จึงได้เสนอข้อมูลทั้ง 2 ฝ่ายเปรียบเทียบราคาสุทธิให้เห็นพร้อมกับราคาต่างกันเท่าใด มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง ข้อเสนอของคณะกรรมการฯว่าควรทำซีแอลหรือไม่ ซึ่งอยู่ที่การตัดสินใจของนพ.มงคล”นพ.วิชัย กล่าว

นพ.วิชัย กล่าวว่า ในส่วนของยารักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว อิมมาทินิบ หนึ่งในยารักษาโรคมะเร็งที่ดำเนินการสรุปแนวทางไปนั้น ทางบริษัท โนวาตีส จำกัดเจ้าของยาต้นตำรับ ได้เสนอเงื่อนไขมาใหม่เมื่อวันที่ 18 ม.ค. โดยเป็นข้อเสนอที่ดีกว่าเดิม โดยปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของผู้ป่วยที่จะสามารถเข้าร่วมโครงการความช่วยเหลือให้ยาอิมมาทินิบฟรี หรือ จีแพ็ป คือ จากเดิมที่ผู้มีรายได้มากกว่า 3 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เป็นรายได้ต่ำกว่านั้นเยอะ เท่ากับว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยให้ครอบคลุมมากขึ้น

“ในส่วนของยารักษาโรคมะเร็งเต้านมและปอด โดซีแท็กเซล จำรายละเอียดไม่ได้ว่าลดราคาลงมา 85% จากราคายาในท้องตลาดหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือบริษัทเสนอลดราคายาลงมาอีก ซึ่งทางบริษัทยาสามัญจากประเทศอินเดียก็ลดราคาแข่งขันกันเช่นกัน ซึ่งเป็นผลดีอย่างมาก”นพ.วิชัย กล่าว

นพ.วิชัย กล่าวว่า จากการที่บริษัท ซาโนฟี่ อเวนติส จำกัด ผู้ถือสิทธิบัตรยาสลายลิ่มเลือดหัวใจและสมองโคลพิโดเกรลได้ส่งจดหมายข่มขู่ถึงบริษัท คาดิลา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตยาสามัญของประเทศอินเดีย ที่ไทยกำลังสั่งซื้อยาดังกล่าวภายหลังจากทำซีแอลว่า ไทยดำเนินการซีแอลไม่สมบูรณ์ หากบริษัทคาดิลาขายยาให้ไทยจะมีปัญหาทางกฎหมาย ซึ่งมติคณะกรรมการบริหารขององค์การเภสัชกรรมได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายแจ้งไปยังบริษัทซาโนฟี่ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำขัดขวางต่อการดำเนินงานของรัฐ ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายขณะเดียวกันก็ได้ชี้แจงกับบริษัทยาอินเดียว่าไทยทำถูกต้องแล้ว

“อภ.ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายทำหนังสือถึงบริษัทว่า ให้ทำอะไรดีๆหน่อย เพราะมิฉะนั้นจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะลักษณะนี้เป็นการข่มขู่กัน และขัดขวางการดำเนินงานของรัฐ อยากให้มีอะไรก็คุยกัน เหมือนกับที่สธ.มีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันกับสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์(พรีม่า) ซี่งประเด็นนี้สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ถามจุดยืนของสธ. ซึ่งสธ.ได้ชี้แจงกลับไปว่า มีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันในการทำงานแก้ไขปัญหาการเข้าถึงยา โดยมีการประชุมร่วมกันครั้งหนึ่งแล้ว และจะประชุมอีกครั้งในวันที่ 4 ก.พ.นี้”นพ.วิชัย กล่าว
เมื่อถามถึงว่าหลังจากมีรัฐบาลชุดใหม่มาดำเนินการจะมองเรื่องซีแอลอย่างไรต่อไป นพ.วิชัย กล่าวว่า ไม่มอง ถ้าเป็นหน้าที่ก็ทำ แต่ถ้าหมดหน้าที่ก็เป็นเรื่องของคนอื่นรับช่วงต่อไป

ด้านนพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเจรจาต่อรองราคายา กล่าวว่า ล่าสุดบริษัทยาสามัญรักษาโรคมะเร็งจากอินเดียได้ยอมลดราคาลงมาแข่งกับบริษัทยาต้นตำรับ เพราะก่อนหน้านี้บริษัทสามัญรักษาโรคมะเร็งจากอินเดียมีราคาใกล้เคียงกับยาต้นตำรับ จึงยากต่อการตัดสินใจ ส่งผลให้ยาสามัญมีราคาถูกกว่ายาต้นตำรับอย่างน้อย 50%

“สมมติ ยารักษาโรคมะเร็งปอดและเต้านมโดซีแท็กเซลของต้นตำรับ ลดราคาแล้วเหลือ 4,000 บาท ยาสามัญชนิดเดียวกันเมื่อลดราคาแล้วจะอยู่ที่ 2,000 บาท เป็นต้น ส่วนยาอีก 2 รายการ คือ เออร์โลทินิบ และเล็ทโทรโซล ของประเทศอินเดียมาราคาถูกกว่ายาต้นตำรับมากกว่า 50% โดยเฉพาะยาโดซีแท็กเซล หากมีการประกาศซีแอล ก็สามารถทำหารสั่งยาได้ทันที เพราะยาชนิดนี้มีการขึ้นทะเบียนยาที่อย. และเคยจำหน่ายในไทยแล้ว ไม่ต้องรอให้มีการตรวจคุณภาพและชีวะสมมูลที่ใช้เวลานานอีก” นพ.ศิริวัฒน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น